อัพเดทคณะไม่ควรเรียนป.ตรี เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว!
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
อัพเดทคณะไม่ควรเรียนป.ตรี เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว!สัปดาห์นี้พาไปอัพเดทคณะหรือ “สาขายอดแย่” ที่ไม่ควรเรียนในระดับปริญญาตรี มีอะไรบ้างและเพราะสาเหตุใดไปติดตามกัน
ปัจจุบันด้วยสังคมที่แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้คนในทุกวันนี้ให้ความสำคัญกับ “การศึกษา” อย่างมาก โดยเฉพาะชาวจีนที่ให้ความสำคัญกับการเรียนมาแต่โบราณ การเรียนสามารถที่จะเปลี่ยนชีวิตและสังคมของคนได้ จากต่างจังหวัดมาสู่สังคมเมือง จากครอบครัวเกษตรกรมาเป็นข้าราชการ ครูอาจารย์ นักธุรกิจ ฉะนั้นสังคมจีนจึงเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก
แต่เนื่องจากความสนใจและความนิยมในการเรียนเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่เดิมคนอาจจะอยากเป็น “ครูอาจารย์” เพราะเป็นอาชีพที่ทรงเกียรติและต้องเป็นคนที่เก่งมาก จึงจะสามารถทำอาชีพนี้ได้ แต่ปัจจุบันอาชีพของเด็กยุคใหม่อาจจะไม่เหมือนเดิม
จากรายงานด้านอาชีพของมหาวิทยาลัยจีนในช่วง 6 ปีมานี้ พบว่าตั้งแต่ปี 2010 คณะที่คนจีนเห็นว่าเป็นคณะหรือสาขาที่ไร้ประโยชน์สุด คือคณะที่เกี่ยวกับ แอนนิเมชั่น นิติศาสตร์ ไบโอเทคโนโลยี ชีววิทยา คณะศาสตร์และคณิตศาสตร์ประยุกต์ พลศึกษา ไบโอเอ็นจิเนียร์ คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี ภาษาอังกฤษ เศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ
จนในปี 2011 คณะที่คนจีนเห็นว่า... “ไร้ประโยชน์ไม่ควรเรียน” ก็ยังคงเหมือนเช่นปีก่อนหน้า แต่มาในปี 2012 รายชื่อคณะที่ไม่ควรเรียนก็ยังคงเหมือนเดิม เพียงแต่คณะที่หายไปจากลิสต์คือ “คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี” ซึ่งน่าจะเป็นเพราะการพัฒนาอย่างรวดเร็วของการนำคอมพิวเตอร์มาใช้อย่างมาก ประกอบกับเศรษฐกิจการค้าในจีนพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ในปี 2013 นั้นคนจีนยังเห็นว่าคณะที่เรียนแล้วคงหางานยาก หรือ “ตกงาน” ทำให้ไม่เป็นที่สนใจ คือ แอนนิเมชั่น นิติศาสตร์ ไบโอเทคโนโลยี ชีววิทยา คณะคณิตศาสตร์และคณิตศาสตร์ประยุกต์ ครุศาสตร์การกีฬา ไบโอเอ็นจิเนียร์ ภาษาอังกฤษ ศิลปกรรม
ในปี 2014 นั้น “สาขาที่ไร้ความนิยม” คือ ไบโอเอ็นจิเนียร์ ศิลปกรรม ชีววิทยา จิตวิทยาประยุกต์ นิติศาสตร์ ดนตรีและการแสดง ส่วนในปี 2015 นั้นสาขาที่นักศึกษาจีนไม่สนใจจะเรียนเลย คือ ไบโอเอ็นจิเนียร์ ศิลปกรรม ชีวะวิทยา ฟิสิกส์ประยุกต์ จิตวิทยาประยุกต์ นิติศาสตร์ ดนตรีและการแสดง
ฉะนั้นจากสถิติที่ผ่านมาทำให้สามารถสรุปได้ว่าในรอบหลายปีนี้ “สาขาวิชายอดแย่” ที่นักศึกษาลงความเห็นว่าไม่ควรเรียน หรือไม่เป็นที่สนใจเรียนของคนยุคนี้มีรายชื่อเรียงลำดับจากความไม่นิยมโดยมีคะแนนถึง 100 เปอร์เซ็นต์ คือ นิติศาสตร์ ไบโอเอ็นจิเนียร์ ชีววิทยา ส่วนอันดับ 2 ที่ได้คะแนนไม่นิยมร้อยละ 83 คือ ไบโอเทคโนโลยี แอนนิเมชั่น ครุศาสตร์การกีฬา อันดับ 3 ที่ได้คะแนนไม่นิยมร้อยละ 67 คือ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์และคณิตศาสตร์ประยุกต์ ส่วนอับดับที่ 4 ได้คะแนนไม่นิยมที่ร้อยละ 50 คือ ศิลปกรรม และสาขาเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ
แล้วคณะที่เด็กที่เรียนเก่งสนใจเรียนกันมีอะไรบ้าง? จากข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2017 พบว่าคณะที่ได้รับการเลือกตามคะแนนและความนิยมเรียงตามลำดับดังนี้...บริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ คอมพิวเตอร์และข้อมูล วิศวกรรม นิติศาสตร์ คณิตศาสตร์ ชีววิทยา คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี ภาษาและวรรณคดีจีน ฟิสิกส์ การแพทย์ วิศวเครื่องกล เคมี วิศวกรโยธา ภาษาต่างประเทศ วารสารศาสตร์ ฯลฯ
จากข้อมูลข้างต้นจะพบว่า ในสาขาที่จากสถิติพบว่า “เรียนแล้วไม่มีประโยชน์ แต่กลับเป็นคณะที่เด็กที่สอบเข้าไปด้วยคะแนนที่ค่อนข้างสูง จนกลายเป็นคณะที่ดูเหมือนว่านักศึกษาจีนให้ความสนใจ แต่ขณะเดียวกันก็เห็นว่าเมื่อเรียนจบแล้วอาจจะหางานได้ยาก”
ส่วนข้อมูลที่พบว่าในรอบ 10 ปีนี้ เด็กที่เรียนเก่งกลับสนใจที่จะเรียนต่อในด้านเศรษฐศาสตร์การเงิน วิศวกรรม คอมพิวเตอร์ ซึ่งก็เป็นการตอบสนองต่อการหางานและรายได้ในอนาคต ในขณะที่ในต่างประเทศ เด็กที่เรียนเก่งจะสนใจเรียนทางการแพทย์มากกว่า
ในขณะที่จีนในช่วง 2-3 ปีนี้ เด็กที่เรียนเก่งกลับไม่มีความสนใจอยากเรียนแพทย์มากนัก ทำให้คะแนนสอบเข้าเรียนต่อด้านการแพทย์ตกลงไปต่ำกว่าสาขาอื่นเกือบ 10 คะแนน อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยที่ยังคงเป็นมหาวิทยาลัยในดวงใจของชาวจีนยังคงเป็น “มหาวิทยาลัยปักกิ่งและมหาวิทยาลัยชิงฮว๋า” เช่นเดิม
แล้วประเทศไทยล่ะ?? ปีนี้เป็นปีที่มีการเปลี่ยนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบใหม่ ไม่ทราบได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ความชอบในสาขาที่เรียนและมหาวิทยาลัยในดวงใจเปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร ขอเป็นกำลังใจให้กับน้องๆ และผู้ปกครองที่ต้องเข้าสอบด้วยวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบใหม่ของไทยด้วยค่ะ.
….........................................................
คอลัมน์ : ฝ่ากำแพงเมืองจีน
โดย “อ.ดร.ศิริเพ็ชร ทฤษณาวดี”
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขอบคุณข้อมูลและเนื้อหาข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม 2561 เวลา 10.00 น.