พ่อแม่ยุค4.0 เลี้ยงลูกด้วยมือถือแท็บเล็ตสูงถึง50%
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
พ่อแม่ยุค4.0 เลี้ยงลูกด้วยมือถือแท็บเล็ตสูงถึง50%0 ม.ค.61 สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวหัวข้อ"ของขวัญเด็กไทย สิ่งเล็กๆที่สร้างลูก "เครื่องมือดูแลลูกยุคใหม่ โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า จากข้อมูลผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2558-2559 โดยองค์การยูนิเซฟประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า ผู้ใหญ่ในครัวเรือน อย่างปู่ย่า ตายาย มีบทบาทสูงต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กในช่วงอายุ 3-5 ปีถึง 92.7% ขณะที่บทบาทของแม่ในการส่งเสริมการเรียนรู้อยู่ที่ 62.8% ตามด้วยบทบาทของพ่อ 34% ที่น่าสนใจคือ พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต เครื่องเล่นเกม สูงถึง 50% และเกือบ 7 ใน 10 ของเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเฉพาะเด็กในกทม. และภาคใต้ ซึ่งการเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่อายุยังน้อยอาจส่งผลให้เกิดภาวะสมาธิสั้นได้
นอกจากนี้ยังพบช่องว่างของพัฒนาเด็กเล็กตามระดับการศึกษาของแม่และฐานะทางเศรษฐกิจ โดยพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีหนังสือสำหรับเด็กอย่างน้อย 3 เล่ม มีเพียง 41.2% เท่ากับว่าอีก 59% มีหนังสือเด็กในบ้านไม่ถึง 3 เล่ม โดยเด็กที่ร่ำรวยมีหนังสือสำหรับเด็กในสัดส่วนที่มากกว่ากลุ่มที่ยากจนถึง 3 เท่า ดังนั้นการเลี้ยงดูในบ้านเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับพัฒนาการของเด็กในวัยนี้ ซึ่งทุกครอบครัวมีต้นทุนไม่แพ้กันคือความรักความเอาใจใส่ เครื่องมือสิ่งเล็กๆที่สร้างลูก จึงถูกออกแบบจากสิ่งใกล้ตัว ง่ายๆ ช่วยส่งเสริมพัฒนาการลูกได้ ด้วยอุปกรณ์ราคาศูนย์บาท
"พ่อแม่สมัยนี้ ใช้มือถือเลี้ยงลูก เพราะด้วยหน้าที่การงาน และเรื่องของเวลา และขาดการเรียนรู้ที่จะเลี้ยงลูกให้มีการพัฒนาการแต่ละช่วงวัย จริงๆไม่ต้องซื้ออุปกรณ์ที่แพง พวกมือถือ แท็บเล็ต กระตุ้นความสนใจของเด็กได้ดี เพราะในนั้นมีพวกภาพตัดเร็ว มีวิดีโอ ภาพเคลื่อนไหว เสียง น่าตื่นเต้น แต่จะทำให้เด็กมีความสุขรวดเร็ว มีสมาธิสั้น จึงควรหาวิธีการเล่นรูปแบบอื่น ที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก" ดร.สุปรีดากล่าว
ด้าน พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า 10 ที่ผ่านมาพบว่า พัฒนาการของเด็กไทยมีความล้าช้ากว่าเกณฑ์สูงถึง 30 %โดย1 ใน 3 คนของเด็กในวัย 0-10 ปี ซึ่งอาจจะเกิดจากการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ หรือคนในครอบครัว โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้พ่อแม่ขาดความเข้าใจในการเลี้ยงดู ก็คือการทำงาน ทั้งที่ สายสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ แต่พ่อแม่ยุคปัจจุบันยังขาดความพร้อมทั้งในเรื่องของเวลา และปัจจัยอื่นๆ ทางภาควิชากุมารเวชศาสตร์ จึงได้คิดค้นเครื่องมือที่ไม่ต้องลงทุนสูง ที่จะทำให้พ่อแม่ใกล้ชิดเล่นกับลูกได้ เช่น การเล่นจ๊ะเอ๋กับลูก ซึ่งจะช่วยกระตุ้นสมองและพัฒนาการของเด็กในหลายด้าน เกิดการสื่อสารระหว่างกันเป็นการฝึกการจดจำข้อมูลจากการโผล่ใบหน้าของพ่อแม่ นอกจากนี้ ยังมีการเล่นกับลูกรูปแบบอื่้นและอ่านหนังสือกับลูก
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการสสส. กล่าวว่า เครื่องมือที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้พ่อ แม่และผู้ปกครอง เห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้กับเด็กจากเรื่องใกล้ตัว โดยแบ่งเป็น 5 เครื่องมือ ได้แก่ 1 คู่มือสิ่งเล็กๆที่สร้างลูก คู่มือพัฒนาลูกจากสิ่งใกล้ตัว 2 นิทานจ๊ะเอ๋ 3 คู่มือและโปสเตอร์เฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย รวมถึงแอปพลิเคชัน คุณลูก 4 ห้องเรียนพ่อแม่ กิจกรรมที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงกับผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กอย่างใกล้ชิด ซึ่ง SOOK by สสส. จะจัดสัญจรไปทั้ง 4 ภาค พร้อมกับทำงานร่วมกับเครือข่ายศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใน30 จังหวัด 2,000 แห่ง เครือข่ายผู้ปกครอง และเครือข่ายโรงพยาบาลเพื่อต่อยอดในพื้นที่ และ 5) สื่อรณรงค์ อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดข้อมูลได้ที่ Facebook: สิ่งเล็กๆ ที่สร้างลูกหรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน คุณลูกได้ที่ https://www.khunlook.com.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2561 เวลา 20:50 น.