ยกร่างพรบ.ปฐมวัยแห่งชาติ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ยกร่างพรบ.ปฐมวัยแห่งชาติ"หมอจรัส" ชี้ทำหน้าที่กลไกกลาง วางทิศทางติดตามคุณภาพเด็กคาดเสร็จพ.ค.61
คกก.อิสระฯ ตั้งต้นยกร่าง พ.ร.บ.ปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ...."หมอจรัส" ชี้ต้องมี คกก.ปฐมวัยแห่งชาติเป็นหน่วยงานกลาง ทำหน้าที่ประสาน วางทิศทางและติดตามผลงาน รวมถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ที่เด็กได้รับ วางเป้าเสร็จภายใน พ.ค.61
นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ได้มีการพิจารณาเรื่องการตั้งต้นยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ....เพราะที่ประชุมเห็นว่าเรื่องนี้มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยหลักการคือ จะต้องให้มีสำนักงานและคณะกรรมการการปฐมวัยแห่งชาติ กำหนดไว้เป็นตัวหลักของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากเรื่องปฐมวัยมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นต้น ส่งผลให้ต้องมีกลไกกลางทำหน้าที่ประสาน รวมถึงวางทิศทางและติดตามผลงาน ซึ่งยังไม่ได้ระบุว่าจะอยู่ภายใต้สังกัดใด แต่คาดว่าการดำเนินการต่างๆ จะคล้ายกับซูเปอร์บอร์ดด้านการศึกษา หรือคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะหมดวาระลงเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล ทั้งนี้ ตนได้วางเป้าหมายไว้ว่าจะยกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2561
นพ.จรัสกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ยังต้องมีการกำหนดรายละเอียดต่างๆ ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กปฐมวัยมีคุณภาพ และที่สำคัญคือ เรื่องสิทธิประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น สำหรับเด็กและการดูแลให้เด็กปฐมวัยมีคุณภาพ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้กำหนดไว้ว่า เด็กทุกคนจะต้องได้รับการดูแล ทั้งในกลุ่มเด็กเล็ก และเด็กก่อนวัยเรียน โดยจะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ทำให้ช่วยลดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ปัญหาด้านสุขภาพและการบริโภคอาหารต่างๆ ปัญหาเรื่องการไม่มีการดูแลเด็กปฐมวัยให้มีการเจริญเติบโตทั้งด้านสมองและด้านร่างกาย และยังจะต้องใส่องค์ความรู้ในการดูแลเด็กด้วย เช่น การกำหนดมาตรฐานของผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ดูแลเด็กปฐมวัย เป็นต้น ส่วนในกรณีเด็กต่างชาติ หรือเด็กไร้สัญชาติ คงจะต้องมีการศึกษาในรายละเอียดว่าจะมีการช่วยเหลืออย่างไร โดยเราคงจะมีการให้สิทธิตามมาตรฐานสากล
“นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้นำผลการรับฟังความคิดเห็นนำมาปรับไปสู่การวางแผนเรื่องการรับฟังความคิดเห็น ส่วนหนึ่งก็เป็นการรับฟังความคิดเห็นในภาพกว้างเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา อีกส่วนหนึ่งจะรับฟังความเห็นจากกลุ่มเฉพาะ อย่างกลุ่มนักเรียน นักศึกษา กลุ่มผู้ปกครอง กลุ่มประกอบการที่ใช้ผลผลิตทางการศึกษา และกลุ่มอื่นๆ ซึ่งจะมีการดำเนินการในการรับฟังความคิดเห็นครั้งต่อไป” ประธานคณะกรรมการอิสระฯ กล่าว.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 27 ธันวาคม 2560