วาง 12 แนวทางยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
วาง 12 แนวทางยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติคณะกรรมการอิสระเพื่อปฎิรูปการศึกษา วาง 12 ประเด็นหลักยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติ พ.ศ.. พร้อมเปิดให้ทุกคนร่วมแสดงความคิดเห็นก่อน พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเสร็จสมบูรณ์
.
วันนี้ (19 ธ.ค.) นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการจัดทำกรอบแนวคิดการปฎิรูปการศึกษาของคณะกรรมการอิสระฯ ซึ่งเตรียมที่จะนำไปเสนอรวมอยู่ในแผนบูรณาการของคณะกรรมการปฎิรูปประเทศ 12 คณะ เพื่อจัดทำเป็นแผนปฎิรูประดับชาติของรัฐบาล โดยรูปแบบของการปฎิรูปการศึกษานั้นจะมุ่งเน้นใน 4 ด้าน คือ การยกระดับผู้เรียน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การสร้างความเป็นเลิศให้แก่ผู้เรียน และการสร้างธรรมาภิบาล ซึ่งประเด็นหลักเหล่านี้จะครอบคลุมทุกด้านสำหรับการจัดทำแผนปฎิรูประดับชาติ ซึ่งนอกจากแผนปฎิรูปการศึกษาแล้วคณะกรรมการอิสระฯจะเสนอการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินการด้วย ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..ที่มีสาระสำคัญในการจัดทำระบบการศึกษาของประเทศให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตของประเทศ โดยการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีกรอบแนวคิดที่สำคัญ 12 ข้อ ได้แก่
1.จัดระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2560
2.มุ่งเน้นการศึกษาและการเรียนรู้ที่ครอบคลุมทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบทางเลือกการศึกษาและเรียนรู้เพื่อการดำรงชีวิต
3.ให้การจัดการศึกษาและการเรียนรู้ มีผู้เรียน ผู้ปกครอง และสถานศึกษาเป็นศูนย์กลาง
4.แยกกลไกด้านนโยบาย งบประมาณ ด้านการปฏิบัติงานเพื่อจัดการศึกษา ด้านกำกับควบคุมและด้านการสนับสนุนการจัดการศึกษาออกจากกันให้มีความชัดเจน
5.ให้การจัดการศึกษามุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนตามความถนัด มีคุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนคุณลักษณะที่พึงประสงค์อื่นๆ
ส่วนข้อ 6.ให้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษา เป็นไปเพื่อสนับสนุน การจัดการศึกษาให้บรรลุผลลัพธ์ของการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนในแต่ละวัยและแต่ละระดับ
7.ให้การกำกับควบคุมให้มีเท่าที่จำเป็น ยืดหยุ่นตามบริบทของการจัดการศึกษา 8.สร้างการมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสมของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม
9. ให้มีการประเมินผล วิจัยและพัฒนา รวมถึงพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษาที่มีศักยภาพเพื่อการศึกษา
10.สนับสนุนการระดมทรัพยากรจากภาคส่วนต่างๆของสังคม รวมถึงเทคโนโลยีดิจิตอล
11.ให้มีกลไกทางนโยบายที่สามารถทบทวนและชี้นำทิศทางการจัดการศึกษา และเรียนรู้ตลอดชีวิต และ
12.ให้มีกลไกบริหารและจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉม ของระบบการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศที่ดำเนินการอย่างรอบด้าน
“สำหรับกรอบแนวคิดทั้ง 12 ข้อของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.นั้นทุกคนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ ไม่ใช่แค่คณะกรรมการอิสระฯจะดำเนินการอย่างเดียว ดังนั้นใครก็ได้สามารถมาร่วมจัดทำข้อเสนอ เพื่อให้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ...เกิดความสมบูรณ์มากที่สุด” ศ.นพ.จรัส กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอังคารที่ 19 ธันวาคม 2560 เวลา 16.22 น