ยื่นแสนรายชื่อ ให้“หมอธี”คืนเงินครู"2 หมื่นล้าน"
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ยื่นแสนรายชื่อ ให้“หมอธี”คืนเงินครู"2 หมื่นล้าน"เครือข่ายพิทักษ์เงินกองทุนฯช.พ.ค. เตรียมยื่น 100,000 รายชื่อ ร้อง“หมอธี”ให้คืนเงินครูู 20,000 ล้านบาท ชี้เป็นเงินครูกว่า 4 แสน ควรมีตัวแทนครูร่วมบริหารดูแล
6 ธ.ค.2560 นายคำสุข สาอ้าย ประธานเครือข่ายพิทักษ์เงินกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ช.พ.ค. แห่งประเทศไทย เปิดเผย“คมชัดลึกออนไลน์”ว่า สืบเนื่องจากการลงนามความร่วมมือ หรือMOU ใหม่ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)กับ ธนาคารออมสิน มีสาระสำคัญของ MOU และจากการให้สัมภาษณ์ของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)ที่บอกว่าเงินที่ธนาคารออมสินคืนมา กรณีสมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา(ช.พ.ค.)กู้และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เป็นตัวกลางรับเงินนี้
“ความจริงเป็นเงินของครูตั้งแต่ต้น ไม่เห็นความสำคัญว่าจะต้องให้ สกสค.เป็นตัวกลางรับเงินนี้ ตั้งแต่มกราคม 2561 นี้ จะให้ธนาคารออมสินคืนให้กับครูโดยตรง จะยื่นหนังสือต่อท่าน รมว.ศธ ในวันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม 2560 เวลา 10.00 น.”นายคำสุข กล่าว
ประธานเครือข่ายพิทักษ์เงินกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ช.พ.ค. แห่งประเทศไทย เผยอีกว่า เพื่อให้ท่าน รมว.ศธ ในฐานะประธานกรรมการ สกสค.และประธานกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ช.พ.ค. คืนเงินกองทุน จำนวน 20,000 ล้านบาท ซึ่งมีการตั้งกองทุนตั้งแต่ปี 2549 และคืนสิทธิ ในการบริหารกองทุนให้กับสมาชิก ช.พ.ค. ผู้กู้เงิน ช.พ.ค. ที่เป็นเจ้าของเงินที่แท้จริงโดยเร็ว
"ทางเครือข่ายฯได้มีการรวบรวมรายชื่อสมาชิก ช.พ.ค.ผู้กู้เงินสนับสนุน ร่วมลงชื่อไม่น้อยกว่า 100,000 รายชื่อยื่นต่อรมว.ศึกษาฯและ ขอให้สถาบันการเงินคือธนาคารออมสิน พิจารณาจ่ายคืนดอกเบี้ย ที่ธนาคารได้รับชำระแล้วให้แก่ผู้กู้ตาม MOU ใหม่ ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.ทุกโครงการ ตามMOU ข้อ 3 วรรคสอง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 เป็นต้นไป"นายคำสุข กล่าว
นายคำสุข กล่าวอีกว่า กว่า 3 ปีแล้วหลังม.44ให้ปลดบอร์ดสกสค.และแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ขึ้นมาบริหารเงินกองทุนช.พ.ค. โดยไม่มีตัวแทนครูแม้แต่คนเดียว ทั้งนี้ครูกว่า 4 แสนคนเป็นสมาชิก แต่ไม่มีบทบาทในการดูแลและบริหารเงินจำนวน 20,000 ล้านบาท เช่นในอดีต พวกตนจึงเรียกร้องขอให้คืนเงินกองทุนดังกล่าวกลับมาเหมือนเดิม ให้สมาชิกช.พ.ค.ช่วยกันบริหาร เงินของครูๆควรดูแล
"ตามระเบียบเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องให้สมาชิก ช.พ.ค.มีส่วนร่วมในการผู้บริหาร เพื่อไม่ให้ขัดหลักธรรมาภิบาล เนื่องจากเป็นเงินของสมาชิก อีกทั้งเป็นเงินออมก้อนสุดท้าย สมาชิกบางคนอายุ 70-90 ปี หวังพึ่งเงินก้อนนี้เ้อาไว้ให้ทายาท เมื่อสมาชิกเสียชีวิตจะได้รับเงินกว่า 900,000 บาทต่อราย เนื่องจากสมาชิกแต่ละรายต้องจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ตกเดือนละ 500 บาท ทุก ๆ เดือน "นายคำสุข กล่าวในที่สุด
อนึ่ง กองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือกองทุน ช.พ.ค. มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นข้าราชการครู และอดีตข้าราชการครุและบุคลากรทางการศึกษา จำนวนกว่า 4 แสนคน มีเงินหมุนเวียนในกองทุนฯ 20,000 ล้านบาท เดิมเงินกองทุนฯจะมีตัวแทนครูเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารมาตลอด
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 6 ธันวาคม 2560