การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่อยากเห็น โดย ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่อยากเห็นขณะนี้มีข่าวการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาเป็นระลอกๆซึ่งแหล่งข่าวก็ระบุว่าข่าวดังกล่าวค่อนข้างแน่นอน หากเป็นเช่นนั้นจริงก็นับว่าเป็นกระทรวงที่เปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยมากๆเฉลี่ยแล้วปีละ 1 คน ดังนั้นในเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายทางการศึกษาก็คงไม่ต้องพูดถึงว่าจะต่อเนื่องหรือไม่ คนมาใหม่ก็พยายามสร้างนโยบายที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ทั้งๆที่บางเรื่องก็เป็นเรื่องเดิมๆแต่เปลี่ยนชื่อใหม่ ในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่รู้ว่าปฏิรูปการศึกษากันอย่างไร คนทะเลาะกันทั้งประเทศ อ่อนแอทั้งประเทศ ทั้งเรื่องอำนาจ เรื่องสถานที่ทำงาน เรื่องงบประมาณ เร็วๆนี้ก็มีเรื่องน่าอดสูที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหลายแห่งขอระดมทรัพยากรจากโรงเรียนเพื่อไปจ้างบุคลากรมาทำงานที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดังกล่าว หลายแห่งเงินเดือนใหม่ยังไม่เรียบร้อยเพราะการประชุมของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดยังไม่ลงตัว ทั้งประเทศยังชะลอตัวเรื่องการย้ายผู้บริหารโรงเรียน รวมไปถึงน้องสองคนที่ไปเป็นครูแล้ว ๕ เดือน โดยไม่ได้รับเงินเดือน จู่ๆก็มีการเพิกถอนคำสั่งการบรรจุ มีเรื่องหลายเรื่องที่ฝ่ายกำหนดนโยบายในแต่ละระดับหยิบขึ้นมาพูด หยิบขึ้นมาทำก็เพื่อให้เห็นว่าทำ มีผลงาน โลกไม่ลืม แต่ไม่เกิดมรรคผลใดๆเลย กลับแย่กว่าเดิมเสียอีก อะไรกันนักหนากับการเปลี่ยนแปลง ถ้าเปลี่ยนแปลงแล้วไม่ดีขึ้นจะเปลี่ยนแปลงไปทำไม
ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารโรงเรียนและคุณครูหลายท่านก็ทำให้ทราบว่า ในปัจจุบันทางโรงเรียนไม่ค่อยได้สนใจเท่าไรนักว่าใครจะมารัฐมนตรี ใครจะมาเป็นเลขาธิการ ใครจะมาเป็นผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาหรือศึกษาธิการภาค/จังหวัด เพราะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆดังกล่าวจะคิดจะทำอะไรก็ไม่ค่อยได้ส่งผลถึงผู้เรียนเท่าไรนัก ซ้ำร้ายนโยบายหรือแนวทางการดำเนินงานบางอย่างที่ท่านเหล่านี้คิด ยังมาเบียดบังเวลาและแรงงานของครูที่จะทำให้ผู้เรียนเป็นคนดีคนเก่งเสียอีก ข้อสรุปที่เจ็บปวดมากจากผู้บริหารโรงเรียนและคณะครู ก็คือ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานศึกษาธิการภาค/จังหวัดไม่สามารถเป็นที่พึ่งของโรงเรียนได้อีกต่อไป
สิ่งที่อยากจะเห็นจากการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา ก็คือ
๑. กระทรวงศึกษาธิการต้องปรับสไตล์การบริหาร จากลักษณะ single command "ห้ามเถียง ห้ามถาม ให้ทำตามลูกเดียว" เป็น การบริหารแบบมีส่วนร่วม รับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการศึกษาให้มากขึ้น องค์กรวิชาชีพต่างๆไม่ว่าจะเป็นคุรุสภา สกสค. และ ก.ค.ศ. ต้องมีตัวแทนของครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา เหมือนเดิม
๒. คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดต้องเป็นคณะกรรมการเชิงนโยบายของการศึกษาทุกระดับทุกประเภทในจังหวัด ไม่ใช่มานัวเนียอยู่แค่การศึกษาขั้นพื้นฐานเช่นทุกวันนี้ อาชีวศึกษา อุดมศึกษาต้องพูดถึงด้วย ต้องเป็นการศึกษาเชิงพื้นที่ (area-based education)
๓. คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดต้องคืนบทบาทเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและงานงบประมาณให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ไม่มีการบริหารที่ไหนหรอกที่แยก คน งาน เงิน ออกจากกัน ในอดีต อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ที่ประพฤติมิชอบเกี่ยวกับการเรียกรับผลประโยชน์ ก็เปรียบเสมือนปลวกขึ้นบ้าน เจ้าของบ้านก็ต้องกำจัดปลวกเป็นจุดๆไป การกระทำที่ผ่านมานั้น ปลวกขึ้นที่ข้างฝาบ้าน แต่ดันไปรื้อบ้านทั้งหลัง
๔. แบ่งโซนให้สถาบันอุดมศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบการยกระดับคุณภาพการศึกษาในแต่ละระดับ เกี่ยวกับเรื่องการวางแผน การพัฒนาบุคลากร การพัฒนานวัตกรรมการบริหารและการเรียนการสอน การพัฒนาสื่อและแหล่งเรียนรู้ การวัดและประเมินผล
๕. ควรกระจายอำนาจและควาบรับผิดชอบให้โรงเรียนมากขึ้น โดยคำนึงถึงความพร้อมในการรองรับการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบ ถ้าไม่พร้อมต้องพยายามสร้างให้พร้อม ไม่ใช่ใช้ความไม่พร้อมเป็นข้ออ้างในการไม่กระจายอำนาจ
๖. นโยบายใดๆที่จะกำหนดขึ้น “ ต้องเหลียวหลังและแลหน้า “ ต้องดูว่าเดิมทำอะไรกันอยู่แล้วบ้าง ได้ผลเป็นอย่างไร ก่อนที่จะกำหนดสิ่งใหม่ๆ และที่สำคัญนโยบายดังกล่าวต้องส่งผลถึงผู้เรียน
๗. ควรผลักดันให้มีครูสายสนับสนุนประจำโรงเรียนหรือกลุ่มโรงเรียน เช่น ครูธุรการ ครูการเงิน ครูพัสดุ ครูแนะแนว ครูทะเบียนและวัดผล เป็นต้น ซึ่งคุณครูเหล่านี้จะช่วยให้การเรียนการสอนเต็มเวลาเต็มหลักสูตรมากขึ้น
๘. ควรจัดหาปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นครู อาคารเรียน อาคารประกอบ สื่อ แหล่งเรียนรู้ ครุภัณฑ์ ให้เพียงพอที่จะทำให้โรงเรียนมีมาตรฐาน ผลิตผู้เรียนที่มีคุณภาพตามความคาดหวังของสังคมได้
หลายเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนเคยกล่าวถึงแล้ว แต่ไม่เกิดผลในการเปลี่ยนแปลงใดๆ จึงจำเป็นต้องนำมากล่าวซ้ำอีก ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้ร้ายผู้รับผิดชอบในเรื่องที่กล่าวถึง โดยเจตนามุ่งหวังที่จะเห็นการศึกษาได้พัฒนาไปจากเดิมเป็นสำคัญ
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: เฟซบุ๊กดร.รังสรรค์ มณีเล็ก วันที่ 19 พฤศจิกายน 2560