ไขปม..ชวดตั๋วครู!!
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ไขปม..ชวดตั๋วครู!!คุรุสภากลายเป็นแพะมาตลอด ทั้งที่เราย้ำเตือน ทำความเข้าใจและชี้แจงทุกช่องทาง ถึงแนวทางข้อปฏิบัติที่ทุกมหาวิทยาลัยต้องปฏิบัติตามถือเป็นข้อตกลง
เหตุการณ์บัณฑิตครูหลักสูตร 5 ปี ร้องเรียนเพราะไม่ได้รับอนุมัติตั๋วครู หรือ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจากสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ปรากฏให้เห็นบนพื้นที่ข่าวอยู่เนืองๆ ล่าสุดกรณีบัณฑิตครูมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ศูนย์ขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น 120 คนที่เข้ารับการศึกษาในปี2555คณะครุศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษ สาขาวิชาภาษาไทย และสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา ก็ซ้ำรอยปัญหาเดิม!!
“คมชัดลึก”ได้สอบถามเรื่องนี้กับ ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา อธิบายต้นเหตุของปัญหา เรื่องนี้ไว้ว่า การที่นักศึกษาไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ก็ต้องย้อนไปที่ต้นทาง คือ หลักสูตรไม่ผ่านตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (ทีคิวเอฟ) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำหนด ที่สำคัญต้องไม่ลืมด้วยว่าอำนาจในการอนุมัติเปิดหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่งนั้น เป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัย ซึ่งก่อนเปิดรับนักศึกษาจะต้องส่งหลักสูตรมาให้คุรุสภาพิจารณาก่อนว่าเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ ซึ่งการประเมินของคุรุจะยึดโยงกับการประเมินของ สกอ.ถ้าสกอ.ไม่รับทราบหลักสูตร คุรุสภาก็ไม่สามารถรับรองมาตรฐานวิชาชีพได้
"แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักจะเปิดรับนักศึกษา ทำการสอนไปสักระยะแล้วถึงจะส่งเรื่องมา และถ้าตรวจสอบแล้วพบว่าหลักสูตรดังกล่าวไม่ได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ คุรุสภาก็ไม่สามารถรับรองได้ เช่นนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของสภามหาวิทยาลัย”ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา ชี้ต้นเหตุของปัญหา
น่าสังเกตว่ากรณีเช่นนี้มักจะเกิดขึ้นกับสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษานอกที่ตั้ง.. ดร.สมศักดิ์ ยอมรับว่า ส่วนใหญ่แล้วหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ที่เปิดสอนภายในที่ตั้งมักไม่ค่อยมีปัญหา เนื่องจากมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร อาคารสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อประโยชน์ในการจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ เช่น ห้องสมุด เป็นต้นตามเกณฑ์ของ สกอ. กรณีที่เป็นปัญหามักจะมีทั้งหลักสูตรไม่ผ่านเกณฑ์ สกอ. หรือผ่านแล้วแต่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของคุรุสภา และก็มีที่บางหลักสูตรบางแห่งแห่งยังไม่ได้ส่งมาให้คุรุสภาเสียด้วยซ้ำแต่ไปเปิดรับนักศึกษามาก่อนและอ้างว่าหลักสูตรได้รับการรับรอง ทั้งที่ คุรุสภากำหนดชัดเจนว่าต้องยื่นคำร้องขอรับการประเมินก่อนเปิดสอนไม่น้อยกว่า 60 วันสุดท้ายนักศึกษาจบแล้วไม่ได้รับอนุมัติขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตฯ ผลกระทบก็ตกที่ผู้เรียน และก็ร้องเรียนมาที่คุรุสภา
ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์
“คุรุสภากลายเป็นแพะมาตลอด ทั้งที่เราย้ำเตือน ทำความเข้าใจและชี้แจงทุกช่องทาง ถึงแนวทางข้อปฏิบัติที่ทุกมหาวิทยาลัยต้องปฏิบัติตามถือเป็นข้อตกลง ในหลายครั้งแก้ปัญหา เช่น ออกใบอนุญาตปฏิบัติการสอน มีอายุ 2 ปีต่อได้ 2 ครั้งรวม 4 ปีระหว่างนี้ก็ต้องดำเนินการให้ได้ใบอนุญาตฯตัวจริง บางคนก็มาสอบวัดมาตรฐานความรู้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังประกาศรายชื่อหลักสูตรที่รับรองไว้บนเว็บไซต์คุรุสภา อีกด้วย สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา"ปฏิบัติหน้าที่คุรุสภา ระบุ
เวลานี้คุรุสภาอยู่ระหว่างพิจารณาหลักสูตรนอกที่ตั้งของมหาวิทยาลัย 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งลำปาง และศูนย์ฯสุพรรณบุรี ,มรภ.เลย ศูนย์ขอนแก่น จ.ขอนแก่น และมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตร้อยเอ็ด เปิดสอนภาคพิเศษ ซึ่ง มจร.แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ แต่บริหารด้วยฆราวาสที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ตอนนี้คุรุสภาก็กำลังพิจารณาประเมินตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพ
มหาวิทยาลัยสามารถจัดการเรียนการสอนตามศักดิ์และสิทธิ์ของปริญญา แต่เมื่อจะเข้าสู่วิชาชีพก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพ ดร.สมศักดิ์ อธิบายว่า พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 กำหนดว่าวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพควบคุม ซึ่งทั้งครู ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา จะต้องขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตกอบวิชาชีพในแต่ละประเภท รวมถึงศึกษานิเทศก์ด้วย และในมาตรา 49 กำหนดเรื่องมาตรฐานวิชาชีพ ไว้ 3 มาตรฐาน ได้แก่ ความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ การปฏิบัติงาน และการปฏิบัติตน ขณะที่การประเมินและรับรองหลักสูตร ก็็จะดูมาตรฐานหลักสสูตร,การผลิตและมาตรฐานบัณฑิต
“ที่เน้นเป็นพิเศษคือ มาตรฐานหลักสูตร ต้องครอบคลุมมาตรฐานวิชาชีพ เพราะถ้าปล่อยให้คนที่ไม่จบวิชาชีพครูโดยตรงมาเป็นครู ก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่น การประกันคุณภาพจะไม่เกิด ขณะที่การปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาก็กำหนดไว้1ปีโดยมีเงื่อนไขต้องเป็นสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เท่านั้น ซึ่งจะมีการติดตามลงไปดูการปฏิบัติการสอนด้วย ยกเว้นผู้ที่เรียนป.บัณฑิตวิชาชีพครู ต้องทำแผนปฏิบัติการสอนมานำเสนอ ซึ่งหลักสูตรของสถาบันใดถูกต้อง ครบถ้วนตามมาตรฐานคุรุสภาก็จะรับรอง บัณฑิตที่จบในหลักสูตรนั้นๆก็ได้รับอนุมัติขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตฯ”ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา กล่าว
ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาที่คุรุสภารับรองหลักสูตร ก็ส่งรายชื่อและจำนวนบัณฑิตที่จบการศึกษาในปีนั้นๆมาให้คุรุสภาผ่านระบบ KSP Bundit ถ้ากระบวนการทุกอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ คุรุสภาขึ้นทะเบียนใบอนุญาตฯ ให้และกรอกเลขประจำตัว 13 หลักรับใบอนุญาตฯที่มหาวิทยาลัย หรือจุดบริการเขตพื้นที่การศึกษาได้ ซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตฯต้องต่ออายุทุก 5 ปี
ส่วนแนวทางป้องกันเปิดหลักสูตรโดยไม่ขออนุญาต ดร.สมศักดิ์ บอกว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดไว้ว่าองค์กรวิชาชีพต้องไม่ก้าวก่ายกิจการของมหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยมีอิสระจัดหลักสูตรมากขึ้น โดยขณะนี้คุรุสภาอยู่ระหว่างยกร่างมาตรฐานวิชาชีพใหม่ ซึ่งจะไม่ยุ่งในเรื่องของการผลิตบัณฑิต แต่จะเน้นการพัฒนาสมรรถนะ3ด้าน คือ ความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ ,การปฏิบัติงาน และการปฏิบัติตน เมื่อจบนักศึกษาจะต้องสอบรับใบอนุญาตฯ ไม่ได้อัตโนมัติแบบที่ผ่านมา ถึงตอนนั้นก็จะได้เห็นว่าสถาบันใดผลิตบัณฑิตมีคุณภาพ หรือไม่มีคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้จะสอดรับกับการผลิตครูระบบปิด ที่กำหนดชัดเจนว่าสถาบันใดจะผลิตสาขาใด จำนวนเท่าไร โดยหน่วยงานที่ใช้ครูต้องมีฐานข้อมูลความต้องการชัดเจน ซึ่งนโยบายของรัฐบาลโดยนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ แนวโน้มจะเป็นเช่นนี้และมีการประกันการมีงานทำด้วยป้องกันการเรียนแล้วขาดคุณภาพการันตีความเชื่อมั่นคุณภาพครู.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560