เปิดใจ“ครูวนาลี”จะร้องทุกข์จนกว่าได้บรรจุราชการ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
เปิดใจ“ครูวนาลี”จะร้องทุกข์จนกว่าได้บรรจุราชการ"ครูวนาลี" เผยจะร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมจนกว่าจะได้รับราชการ เพราะถือว่าเสียสิทธิ์การเป็นครู ทั้งที่สอบได้ และมีสิทธิ์ถึงวันนี้คนที่ขึ้นบัญชีไว้ได้เป็นครูกันหมด
"วันที่ 4พ.ค.2560 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)38 เรียกให้มารายงานตัวที่เขตพื้นที่และให้ไปรายงานตัวที่โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม เราก็ไปกับเพื่อน 2 คน เพราะอยากเป็นครู อีกไม่กี่วันบัญชีที่ขึ้นไว้ก็จะหมดอายุในวันที่ 10 พ.ค. 2560 เมื่อได้เรียกไปบรรจุ อุ้มผางก็ไปทันทีเพราะใจอยากเป็นครูอยู่แล้ว"น.ส.วนาลี ทุนมาก หน่ึ่งใน 1 ครูร.ร.อุ้มผางวิทยาคมที่ไม่ได้บรรจุและไม่ได้รับเงินเดือนหลังทำงาน 5 เดือน บอกกับ “คมชัดลึก”
ครูวนาลี เล่าต่อว่า ไปทำงานได้ 2 เดือนครึ่งก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองและเพื่อนอีกคนไม่ได้รับการบรรจุ จนทีหลังถึงได้รู้ว่าไม่ได้รับการบรรจุ แต่ว่า ก็ทิ้งห้องเรียนมาไม่ได้ สงสารนักเรียนก็สอนจนกระทั่งปิดเทอม
พอปิดเทอมก็ลงมาจากอุ้มผาง ติดรถขนของลงมายื่นเอกสารต่างๆเพื่อร้องทุกข์ขอความเป็นธรรม จากนั้นพอเปิดเทอมก็ขึ้นไปที่โรงเรียนอีกครั้ง ถึงได้รู้ว่า โรงเรียนไม่ได้จัดตารางสอนให้แล้ว ไม่มีชั่วโมงสอนก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม ถึงได้เก็บของลงมาจากโรงเรียนพร้อมกับเพื่อนอีกคน
"เปิดเทอมก็ทำใจแล้วว่า คงต้องขึ้นไปเก็บของเพราะว่าไม่มีตำแหน่ง บรรจุไม่ได้ เงินเดือนไม่ได้ ผ่านไป 5 เดือนแล้วแต่ไม่คิดว่าจะเร็วอย่างนี้ โรงเรียนถอดตารางเรียนวิชาที่สอนออกหมดเลยไม่รู้จะทำอย่างไร ทั้งๆที่อยากเป็นครูสอนหนังสือให้เด็กๆมากก็ต้องเก็บของลงมาเพราะว่าไม่ได้สอนแล้ว" ครูวนาลีกล่าว
ครูวนาลี บอกว่า จะมาร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) เพราะจริงๆแล้ว เธอและเพื่อนมีชื่อในบัญชีที่กศจ.สุโขทัยด้วย และทราบมาว่าที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.)สุโขทัยก็เรียกครูวิชาสังคมไปบรรจุเช่นกัน ถ้า สพม.38 ไม่เรียกมาก่อน วนาลีและเพื่อนก็ต้องได้บรรจุที่สุโขทัย แถมยังใกล้บ้านและตรงเอกด้วย
"เราไม่มีทางรู้เลยว่า เราจะไม่ได้บรรจุเพราะเอกสารที่ออกให้เป็นของราชการถูกต้อง เมื่อไปถึงโรงเรียนอุ้มผางแล้ว ถึงได้รู้ว่า กศจ.สุโขทัยก็เรียกไปบรรจุซึ่งตอนนี้ บัญชีที่ขึ้นไว้ที่สุโขทัย มี 18 คนได้บรรจุหมดแล้ว ส่วนบัญชีของ สพม.38ที่เหลือ 3 คน ได้บรรจุที่อุ้มผาง 1คน เหลือตกม้าหนูกับเพื่อน 1คน คิดๆดูแล้วเราก็เสียโอกาส สอบได้แล้วจะได้เป็นครูอยู่แล้วต้องมาตกม้าตาย ถือว่าพวกเราเสียสิทธิ์ จะยื่นเรื่องร้องทุกข์ไปตามขั้นตอนจนกว่าจะได้รับการบรรจุเป็นครู" ครูวนาลีตัดพ้อเล็กๆ
ครูวนาลี บอกว่า หลังจากที่ไปสอนที่อุ้มผางได้2-3 วัน ไลน์กลุ่มเพื่อนก็แจ้งข่าวกันว่าที่สุโขทัยมีการเรียกเอกสังคมไปบรรจุด้วย เลยถามที่บ้านว่ามีจดหมายมามั้ย ที่บ้านบอกว่าไม่มีจดหมายมาเรียกเลย ทำให้เสียดายโอกาสมาก ถ้ารู้ว่า สุโขทัยจะเรียก จะสละสิทธิิ์อุ้มผาง มาเอาที่สุโขทัยเพราะตรงเอกและใกล้บ้านด้วยเสียดาย
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 ครูวนาลี จะเดินทางขอเข้าพบมาพบ นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. ที่สำนักงาน ก.ค.ศ. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
ทั้งนี้ จากเอกสารการประชุมคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดตาก (กศจ.ตาก) ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ในวาระเรื่องการบรรจุแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันเข้ารับเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยจากบัญชี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่มัธยมศึกษา 38 ที่มีการขออนุมัติบรรจุแต่งตั้ง จำนวน 10 ราย ครั้งนั้น มีการระบุว่า สพม.38 ได้แนบบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ 2 บัญชีเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา โดยบัญชีที่ 1เรียก บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ตามประกาศ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ 38 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 ซึ่งครบ 2 ปีในวันที่ 10 พฤษภาคม 2560 ใน 5 กลุ่มวิชา จำนวน 95 ราย ได้แก่ ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา ภาษาพม่า ดนตรีไทย และดนตรีสากล โดยเรียกบรรจุครบทุกกลุ่มวิชา 64 ราย แต่เฉพาะวิชาสังคมยังมีบัญชีคงเหลือ 31 รายจากทั้ง 70 ราย
ส่วนบัญชีที่ 2 บัญชีผู้เข้าสอบแข่งขันตามประกาศอ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ 38 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2558 ครบบัญชี 2 ปีในวันที่ 18 ตุลาคม 2560 ใน 8 กลุ่มวิชา รวม 131 ราย บรรจุ 68 ราย เหลือ 63 ราย ได้แก่ ภาษาไทย 8 ราย บรรจุครบ คณิตศาสตร์ 30 ราย บรรจุ 27 ราย เหลือ 3 ราย ศิลปศึกษา 8 รายบรรจุครบ อุตสาหกรรมศิลป์ 10 ราย บรรจุ 5 ราย เหลือ 5 ราย ฟิสิกส์ 14 ราย บรรจุ 9 ราย เหลือ 5 ราย ภาษาจีน 43 ราย บรรจุ 9 ราย เหลือ34 ราย ดนตรีสากล 5 รายบรรจุครบ และเกษตรกรรม 13 ราย บรรจุ 2 ราย เหลือ 11 ราย
โดย สพม.38 ได้ตรวจสอบรายละเอียดตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สายงานการสอน) ที่ว่างในสถานศึกษา 10 ตำแหน่ง โดยดูจาก 1.สภาพอัตรากำลังครูไม่เกินเกณฑ์ที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)กำหนด และไม่มีเงื่อนไขการใช้ตำแหน่งดังกล่าว 2.สำรวจความต้องการวิชาเอกของสถานศึกษา ตามเหตุผลและความจำเป็นของสถานศึกษา และ3.ตรวจสอบคำร้องขอย้ายของข้าราชการครูฯ ที่ได้ยื่นคำร้องแล้ว ปรากฎว่าไม่มีผู้ยื่นคำร้องขอย้ายที่ตรงตามความต้องการวิชาเอกของสถานศึกษาที่มีตำแหน่งว่างดังกล่าว
ขณะที่ ศึกษาธิการจังหวัดตาก (ศธจ.ตาก) ได้เสนอขออนุมัติบรรจุและแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้เข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูในตำแหน่ง ครูผู้ช่วย สังกัด สพม.38 ในกลุ่มวิชาที่มีตำแหน่งว่าง 10 รายตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด ได้แก่ ฟิสิกส์ 1 อัตราที่โรงเรียนผดุงปัญญา ,คณิตศาสตร์ 3 อัตรา ที่โรงเรียนสรรพวิทยาคม,โรงเรียนแม่จะเราวิทยาคม,โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม (ตำแหน่งเลขที่ 44851) ,สังคมศึกษา 4 อัตรา ที่โรงเรียนตากพิทยาคม 2 อัตรา,โรงเรียนยกกระบัตรวิทยาคม และโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม (ตำแหน่งเลขที่4261) และภาษาจีน 2 อัตรา ที่โรงเรียนตากพิทยาคม และท่าสองยางวิทยาคม อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมอนุกรรมการ กศจ.ตาก ก็มีมติเห็นชอบตามที่ ศธจ.ตากเสนอ
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมกศจ.ตาก ได้มีมติอนุมัติตาม ศธจ.ตากเสนอขอให้ สพม.เขต38 ดำเนินการบรรจุแต่งตั้งดังกล่าวจำนวน 10 ราย โดยระบุว่า 1.ให้เรียกผู้สอบแข่งขันได้ตามลำดับที่มาบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย ตามจำนวนว่างแต่ละวิชาเอก 2.ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 สั่งบรรจุและแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูฯ ตำแหน่งครูผู้ช่วย ตามตำแหน่งว่างในแต่ละวิชาเอก
3.หากผู้สอบเข้าแข่งขันได้มารายงานตัวเข้ารับการบรรจุและแต่งตั้งไม่ครบจำนวนตำแหน่งว่างให้เรียกตัวผู้สอบแข่งขันได้ลำดับต่อไป เพื่อมาบรรจุและแต่งตั้งจนครบจำนวนตำแหน่งว่าง 4.หากผู้สอบเข้าแข่งขันได้เลือกเข้ารับการบรรจุและแต่งตั้งในสถานศึกษาใด ให้บรรจุในสถานศึกษานั้น และหากได้เป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ให้รับย้ายหรือรับโอนตามผลการสอบแข่งขันแล้วแต่กรณี และ 5.เมื่อดำเนินการเสร็จเรียบร้อยให้รายงานให้ กศจ.ตาก ทราบต่อไป
นายมรกต กลัดสะอาด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 20 อุดรธานี อดีตผอ.สพม.38กล่าวว่า จากมติกศจ.ตาก ที่ให้ดำเนินการบรรจุแต่งตั้ง โดยเฉพาะในข้อ 3 นั้น พิจารณาและตีความโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดแก่โรงเรียน ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลที่ให้ความลดความเหลื่อมล้ำ และการให้โอกาสทางการศึกษา ซึ่งโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคมนั้น มีนักเรียน 1,500 คน แต่มีเด็กประจำอยู่ 500 คน อยู่ในการดูแลตลอด 24 ชั่งโมง แต่โรงเรียนก็อยู่ในภาวะที่ขาดครูถึง 20 คน เพราะฉะนั้น ถ้าโรงเรียนขาดครู เด็กไม่มีครูสอนใครจะรับผิดชอบ
“ในข้อความ 3 นั้นผมตีความเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่โรงเรียน ตามนโยบายรัฐบาลให้ลดความเหลื่อมล้ำ โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคมขาดครูใครรับผิดชอบ เด็กไม่มีคุณครูสอนใครรับผิดชอบ แล้วโรงเรียนต้องดูแลเด็กพักนอน 500 คนตลอด 24 ชั่วโมง แต่ขาดครูถึง 20 คนใครรับผิดชอบ”นายมรกต กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 12 พฤศจิกายน 2560