ยูเนสโกชี้ "การศึกษาแย่ อย่าโทษแต่ครู ต้องดูทั้งระบบ"
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ยูเนสโกชี้ "การศึกษาแย่ อย่าโทษแต่ครู ต้องดูทั้งระบบ"บทความโดย กองบรรณาธิการ ข่าวต่างประเทศ VOICE TV21
รายงานของยูเนสโกพบว่าทั่วโลกยังมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และรัฐบาลยังเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการแก้ปัญหาดังกล่าว ไม่อาจผลักให้เป็นภาระของครูแต่ฝ่ายเดียว ส่วนการศึกษาไทยต้องพัฒนาระบบตรวจสอบมาตรฐาน และสถิติการกลั่นแกล้งในโรงเรียนยังไม่ลดลง
โครงการเฝ้าระวังการศึกษาโลก (GEM) ในสังกัดองค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติ เผยรายงานระบบการศึกษาทั่วโลกฉบับล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2017 โดยอ้างอิงการรวบรวมข้อมูลระบบการศึกษาทั่วโลกระหว่างปี 2003 ถึง 2015 พบว่าระบบตรวจสอบคุณภาพการศึกษาไม่เพียงพอในหลายประเทศ ทำให้มีความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาและปัญหาทุจริต แต่รัฐบาลส่วนใหญ่มักกล่าวโทษครูและโรงเรียน โดยมิได้พิจารณาว่าสภาพแวดล้อมและระบบต่างๆ ในสังคมเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การศึกษาไม่สามารถพัฒนาไปได้อย่างที่ควรจะเป็น
นางอิรินา โบโควา ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโก ระบุว่า ระบบการศึกษาเป็นความผิดชอบร่วมกันของรัฐบาล โรงเรียน ครู ผู้ปกครอง และองค์กรเอกชนอื่นๆ และการร่วมรับผิดชอบจะสะท้อนให้เห็นวิธีการสอนของครู วิธีการเรียนของเด็กนักเรียน และการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งทั้งหมดต้องร่วมมือกันออกแบบหลักเกณฑ์การศึกษา โดยคำนึงถึงความเท่าเทียม ครอบคลุม และคุณภาพ ขณะที่การสร้างมาตรฐานระบบการศึกษาจะต้องอาศัยทั้งระบบกำกับดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, การออกข้อสอบ, การสำรวจและตรวจสอบ, การสนับสนุนบทบาทสื่อในการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษา และการเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาชน
Credit ภาพจาก :: https://news.voicetv.co.th/
หากขาดการตรวจสอบอย่างเป็นระบบจะนำไปสู่ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นและผูกขาด ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อระบบการศึกษาและบรรยากาศในการเรียนรู้ของประชากรวัยเรียน โดยยูเนสโกระบุว่าผลสำรวจระบบการศึกษาในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปช่วงปี 2009-2014 พบว่า 38% ของโรงเรียนและสถาบันฝึกอบรมต่างๆ มีการดำเนินงานแบบผูกขาด เพราะผู้ที่รับผิดชอบจัดการในด้านต่างๆ มักมีเพียงรายเดียว ต่างจากการดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งพบการผูกขาดของผู้ประกอบการเพียง 16% เท่านั้น
รายงานของยูเนสโกได้ยกตัวอย่างกรณีไนจีเรีย ซึ่งมีโรงเรียนเอกชนเพียง 26 % เท่านั้นที่ได้รับการรับรองมาตรฐานและวิทยฐานะอย่างถูกต้องจากกระทรวงศึกษาธิการ เพราะรัฐบาลไม่ได้ผลักดันให้เกิดระบบตรวจสอบคุณภาพการศึกษาที่เพียงพอ ทำให้เด็กที่จบการศึกษาจากโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ส่วนที่เคนยาและยูกันดา พบว่าครูโรงเรียนเอกชนจำนวนมากไม่มีคุณวุฒิด้านการสอน ในขณะที่อีกหลายโรงเรียนไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ และในที่สุดก็มักจะถูกศาลสั่งปิดกิจการในภายหลัง
ในบางประเทศพบว่าการเคลื่อนไหวของขบวนการภาคประชาชนช่วยส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานการศึกษาได้ เช่น กลุ่มพลเมืองในโคลอมเบียร่วมกันยื่นฟ้องศาลให้คุ้มครองสิทธิทางการศึกษา ทำให้รัฐบาลต้องผลักดันนโยบายเรียนฟรีให้กับเยาวชนทั่วประเทศ ส่วนที่สหรัฐอเมริกา เครือข่ายผู้ปกครองและสื่อมวลชนร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลถอนเนื้อหาในหนังสือเรียนที่ปฏิเสธข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และกลุ่มนักศึกษาแอฟริกาใต้รวมตัวต่อรองจนมหาวิทยาลัยทั่วประเทศระงับการขึ้นค่าเทอมได้สำเร็จ เป็นต้น
รายงานของยูเนสโกระบุด้วยว่ารัฐบาลและภาคส่วนต่างๆ ของแต่ละประเทศต้องตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา และต้องหาทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างจริงจัง โดยปัจจุบันมีเพียง 20% ของประชาคมโลกที่สนับสนุนการเรียนฟรี 12 ปีให้แก่พลเมืองของตัวเอง ทำให้มีเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษาขั้นต่ำมากกว่า 264 ล้านคนทั่วโลก และอีกกว่า 100 ล้านคนไม่รู้หนังสือ
ข้อเสนอของยูเนสโกเพื่อเป็นแนวทางพัฒนาคุณภาพการศึกษา ได้แก่ การออกแบบมาตรฐานโรงเรียนและครูโดยคำนึงถึงแนวทางส่งเสริมและช่วยพัฒนาศักยภาพแทนที่จะใช้วิธีลงโทษเพียงอย่างเดียว และจะต้องเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมอย่างเป็นประชาธิปไตยในการตรวจสอบหรือวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการศึกษา รวมถึงจัดตั้งกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหา ตลอดจนพัฒนาองค์กรหรือสถาบันที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลระบบการศึกษาให้มีอำนาจจัดการผู้กระทำผิดหรือละเมิดมาตรฐานทางการศึกษาด้วย
นอกจากนี้ ยูเนสโกยังเผยแพร่ข้อมูลระบบการศึกษาในแต่ละประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย พบว่าระบบตรวจสอบมาตรฐานสถาบันการศึกษาของไทยยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเปรียบเทียบพัฒนาการทางการศึกษาระดับประเทศตั้งแต่ปี 2003 ถึง 2015 ทั้งยังพบปัญหาการจัดการที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยชี้วัดจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ทำการสำรวจข้อมูล เช่น โครงการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์เทคโนโลยีส่งเสริมการเรียนการสอนช่วงปี 2012-2014 ไม่ประสบความสำเร็จ บริษัทเอกชนไม่สามารถจัดหาแท็บเล็ต 800,000 เครื่องให้โรงเรียนต่างๆ ได้ทันตามกำหนดเวลาในสัญญา ทั้งยังมีการยื่นฟ้องล้มละลายในเวลาต่อมา
ขณะเดียวกัน การวัดคุณภาพครูผู้สอนขึ้นอยู่กับการประเมินของนักเรียน ซึ่งมีความโน้มเอียงที่จะเกิดอคติได้ง่าย ส่วนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ถูกลดจำนวนวิชาที่ใช้ทดสอบจาก 8 เหลือเพียง 5 วิชาในปี 2016 ทั้งยังไม่มีมาตรฐานการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการทดสอบ O-NET ที่ชัดเจน โดยวิธีการทดสอบและประเมินผลระหว่างโรงเรียนในต่างจังหวัดและโรงเรียนส่วนกลางมีความแตกต่างกัน
ส่วนการสำรวจสถิติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาไทย พบว่า 99% ของประชากรวัยเรียนจบการศึกษาชั้นประถม แต่มีเพียง 85% ที่จบการศึกษาชั้นมัธยมต้น และ 62% ของผู้ที่ต้องออกจากโรงเรียนหลังจบมัธยมต้นเป็นเด็กผู้หญิง ขณะที่ 29% ของเด็กวัย 13-15 ปีที่เข้ารับการศึกษาในระหว่างปี 2010-2015 ระบุว่าถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน และประชากรวัยผู้ใหญ่ราว 3.9 ล้านคนไม่สามารถอ่านประโยคง่ายๆ ได้
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลจาก :: VOICE TV21 วันที่ 24 ตุลาคม 2560 เวลา 18:35 น.