ออมสินหย่าศึกหนี้ครู พร้อมเปิดปรับโครงสร้างหนี้
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ออมสินหย่าศึกหนี้ครู พร้อมเปิดปรับโครงสร้างหนี้ออมสิน-กระทรวงศึกษาธิการหย่าศึกหนี้ครู ยกเลิกให้ สกสค.บริหารหนี้ครูแทน คาดลงนามใช้เงื่อนไขใหม่ได้ต้นปี61 พร้อมเปิดให้ครูที่เป็นหนี้เสียและผ่อนต่อไม่ไหว 6 หมื่นราย เข้าปรับโครงสร้างหนี้ พักเงินต้นยาว 3 ปี ผ่อนแค่ดอกเบี้ย
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารได้หารือกับนายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ และได้เห็นชอบในหลักการร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครูกับคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)แล้ว โดยเห็นชอบให้ยกเลิกข้อตกลงในการหักเงินจากบัญชีกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) เช่นเดียวกับให้ออมสินยกเลิกจ่ายค่าบริหารติดตามหนี้ครู 0.5 - 1% ของมูลหนี้ ให้กับ สกสค. หรือประมาณ 2,500 ล้านบาทต่อปี แล้วนำเงินดังกล่าวมาจ่ายคืนให้กับครูที่มีวินัยในการผ่อนหนี้ดีติดต่อกัน 12 เดือนแทน โดยธนาคารจะจัดสรรเงินคืน (แคชแบ็ค ) ให้ครูในอัตรา 0.5-1 % ของดอกเบี้ยที่ชำระ หรือตามอัตราที่ธนาคารกำหนด เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ครูที่ดีต้องการชำระหนี้
นอกจากนี้ ออมสินยังเปิดโอกาสให้ครูที่เป็นหนี้เสียกับธนาคาร หรือมีแนวโน้มผ่อนชำระหนี้ต่อไม่ไหว ให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร โดยได้รับเงื่อนไขพิเศษ 3 แนวทาง คือ 1.กรณีรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายมากกว่า 30% ของรายได้ สามารถพักชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และชำระดอกเบี้ยปกติ 100% 2.กรณีรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 15-30% ของรายได้ สามารถพักชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และชำระดอกเบี้ยปกติไม่น้อยกว่า 50% 3.กรณีรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 15% ของรายได้ สามารถพักชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และชำระดอกเบี้ยปกติไม่น้อยกว่า 25% เบื้องต้นคาดจะมีลูกหนี้เดิมที่ต้องการปรับโครงสร้างและลูกหนี้ที่จะผ่อนชำระต่อไม่ไหวเข้าโครงการ 5- 6 หมื่นราย
นายชาติชายกล่าวว่า คาดว่าธนาคารและกระทรวงศึกษาจะลงนามเพื่อยกเลิกข้อตกลงเดิม และเริ่มข้อตกลงใหม่ในต้นปี 61 แต่ในส่วนลูกหนี้ครูที่มีปัญหาสามารถมาขอปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารได้เลยตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ส่วนการติดตามทวงหนี้ต่อจากนี้ หลังจากยกเลิกข้อตกลงกับ สกสค. แล้วในต้นปีหน้า กระทรวงศึกษาธิการ จะรับประสานหน่วยงานต้นสังกัด ได้แก่ สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จะให้ความร่วมมือในการนำส่งชำระหนี้ให้ธนาคาร
ทั้งนี้ ล่าสุดธนาคารมียอดสินเชื่อครูคงค้างที่ 4.75 แสนบัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อกว่า 4.2 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้ครูที่มีปัญหาหนี้ที่เสีย หรือ เอ็นพีแอล 9,250 ราย คิดเป็นวงเงิน 5,432 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับ 1.2 % ของยอดสินเชื่อครูคงค้าง ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้ฟ้องร้องดำเนินคดีไปแล้วกว่า 2,000 ราย เหลืออีก 7,000 รายที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม 2560 เวลา 17.53 น.