จัดสอนอนุบาล3ขวบท้องถิ่นเป็นแกนหลัก/สพฐ.เปิดเฉพาะรร.ที่พร้อม ชงครม.มาตรฐานเด็กปฐมวัยแห่งชาติ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
จัดสอนอนุบาล3ขวบท้องถิ่นเป็นแกนหลัก/สพฐ.เปิดเฉพาะรร.ที่พร้อม ชงครม.มาตรฐานเด็กปฐมวัยแห่งชาติดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า ตามที่นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ มอบให้ สกศ.เป็นเจ้าภาพทำการศึกษาและพัฒนาแนวทางจัดการศึกษาปฐมวัย อายุ 3 ขวบ ซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ว่าต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาเด็กเล็ก นั้น จากการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นเพื่อเก็บข้อมูลการจัดการศึกษาปฐมวัย จากผู้บริหารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้บริหารสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) อุดรธานี เขต 4 จ.อุดรธานี ซึ่งพื้นที่นี้เบื้องต้นพบว่า อปท. มีจุดเด่นด้านความพร้อมในเรื่องครูผู้สอน การดูแลอาหารโภชนาการ ขณะที่โรงเรียนของรัฐประสบปัญหาเรื่องครูผู้สอนที่มีจำนวนไม่เพียงพอ ส่วนโรงเรียนเอกชนในภาพรวมไม่มีปัญหาอะไร เพราะกลุ่มเป้าหมายของเด็กที่เรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนรัฐเป็นคนละกลุ่มเป้าหมายกับเอกชน
เลขาธิการ สกศ.กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามปัญหาในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันเช่น จากการลงพื้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท.ที่ จ.เพชรบุรี ทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เสนอให้มีกฎหมายที่เปิดช่องศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีจำนวนเด็กน้อย ซึ่งสังกัด อปท. และตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้กันสามารถร่วมกันจัดการศึกษาได้ ขณะที่ จ.อุดรธานีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีข้อเสนอให้จัดการศึกษาร่วมกับโรงเรียนรัฐได้ เนื่องจากที่นี่ อปท.มีความพร้อมในเรื่องงบประมาณ แต่ขาดความพร้อมด้านสถานที่ ขณะที่โรงเรียนของรัฐ มีความพร้อมด้านสถานที่ดังนั้นก็อาจให้ใช้สนามเด็กเล่นร่วมกันได้ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณได้มาก ทั้งนี้มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ต้องมีการวางแผนการเปิดรับนักเรียนร่วมกัน โดยยึดพื้นที่การปกครองระดับตำบล หรือเทศบาล ซึ่งเป็นหน่วยปกครองที่ใกล้บ้านนักเรียนเป็นหลัก และให้สพป.เป็นผู้ประสานงาน และในการจัดการศึกษาอนุบาล 3 ขวบนั้นควรให้ อปท.เป็นแกนหลัก ส่วน สพฐ.เปิดเฉพาะในโรงเรียนที่มีความพร้อมเท่านั้น
"นอกจากนี้ยังเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)โดยเฉพาะศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่ เข้าไปช่วยเหลือทางวิชาการ เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่ง สกศ.จะนำข้อมูลต่างๆมาวิเคราะห์ และจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป ส่วนมาตรฐานการจัดการศึกษาปฐมวัย ที่จะใช้เป็นมาตรฐานกลางนั้น ขณะนี้คณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ได้พัฒนามาตรฐาน เป็น 3 กลุ่มมาตรฐาน 53 ตัวชี้วัด ซึ่งจะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาและให้ทุกหน่วยงานที่จัดการศึกษาปฐมวัย ใช้เป็นแนวทางในการทำงานทั้งในเรื่องวิชาการ และเรื่องการบริหารจัดการต่อไป"ดร.ชัยพฤกษ์กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ