ถกปมอำนาจโยกย้ายผู้บริหาร-ครู 22ก.ย.นี้
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ถกปมอำนาจโยกย้ายผู้บริหาร-ครู 22ก.ย.นี้“ธีระเกียรติ” ยันไม่เสนอแก้ไขคำสั่ง ม.44 ประเด็นอำนาจแต่งตั้งโยกย้าย ให้ “การุณ-บุญรักษ์” หารือวางแผนแก้ไขในเชิงบริหารร่วมกัน 22 ก.ย.นี้
เมื่อวันที่ 19 ก.ย. นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลัง มอบนโยบายคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และคณะอนุกรรมการทุกคณะของกศจ.นครปฐม กศจ.พระนครศรีอยุธยาและ กศจ.สุพรรณบุรี เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ขอให้ กศจ. และคณะอกศจ. ทุกคณะบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยยึดประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับเด็กเป็นสำคัญ ไม่อยากให้ไปนึกถึงเรื่องอำนาจว่าเป็นของใคร โดยเฉพาะกรณีผู้มีอำนาจลงนามแต่งตั้งภายในเขตพื้นที่การศึกษาตามมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 เดิมเป็นอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.)
ขณะที่คำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 ข้อ 13 ระบุให้เป็นอำนาจของศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ในฐานะเลขานุการ กศจ. ซึ่งตอนนี้นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. ในฐานะที่เคยเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กำลังจะหารือร่วมกับ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ.เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ในวันที่ 22 ก.ย.นี้
“เรื่องนี้อำนาจการลงนามตามกฎหมายเป็นของ ศธจ. ซึ่งคงไม่มีการปรับแก้ ให้ไปเป็นอำนาจของ อกศจ. ด้านบริหารงานบุคคลแล้ว เพราะต้องไปแก้ ม.44 ซึ่งไม่ทัน ดังนั้นจะมีการปรับแก้ในเชิงบริหารโดยให้เขตพื้นที่ฯ มีส่วนร่วมมากขึ้น โดยกำลังพิจารณาให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ทุกเขตในจังหวัดนั้นๆ มาเป็นกรรมการใน อกศจ. เพราะ ปัญหานี้ถ้ามาพูดเรื่องใครจะได้อะไร ไม่มีทางที่ใครจะพอใจ 100% แต่เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายก็ต้องหาทางออกที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตามเรื่องนี้จะต้องดูข้อดี ข้อเสียด้วย เพราะกศจ. เอง ก็แย้งมาว่า ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ มีอำนาจพิจารณาตั้งแต่ต้นทางอยู่แล้ว ทำไมต้องมาเข้าร่วมที่ปลายทางด้วย ซึ่งปลายทางจริง ๆ เป็นอำนาจของ กศจ. เพราะฉะนั้น เรื่องเหล่านี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบ และสุดท้ายต้องดูว่ากฎหมายว่าอย่างไร ตอนนี้ถือว่าทะเลาะกันน้อยลง ซึ่งผมพอใจภาพรวมการทำงานตอนนี้แล้ว”รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเกลี่ยคนจาก สพท. ไปยัง สำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และสำนักงาน ศธจ. นั้น ที่ผ่านมาพบว่า มีปัญหา 28 เขตพื้นที่ฯ ซึ่งผู้อำนวยการ สพท. ไม่ยอมเซ็นอนุมัติให้โอนย้าย แต่ไม่ใช่ ผู้อำนวยการ สพท. ไม่มีเหตุผล หรือไม่ยอมให้เกลี่ยคน ให้แต่ที่ไม่ยอมเซ็นเพราะถ้าให้ไปที่เขตพื้นที่ฯก็ไม่มีคนทำงาน เรื่องแบบนี้ ปลัดศธ. ก็ต้องมาคุย บริหารการทำงานให้เป็นไปแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ซึ่งเท่าที่ดูบรรยากาศการทำงานตอนนี้ดีขึ้น และต่อไปถ้าเรื่องใดมีปัญหาให้ คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค (คปภ.) เป็นผู้ตัดสิน
นายบุญรักษ์ กล่าวว่า มาตรา 53 ไม่ใช่เรื่องหลักของการบริหารระหว่างเขตพื้นที่ฯ กับ กศจ.อำนาจม.44 ว่าอย่างไรก็ต้องเป็นตามนั้น แต่ผู้เกี่ยวข้องต้องมาคุยและตกลงทำความเข้าใจเรื่องทำงานร่วมกัน ซึ่งก็เชื่อว่าคุยได้ไม่มีปัญหา
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 19 กันยายน 2560