มติครม.ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ (12 กันยายน 2560)
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 481/2560
มติ ครม.
-
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 12 กันยายน 2560 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ อนุมัติ
● อนุมัติปรับค่าตอบแทนพิเศษครูที่สอนนักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชน
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ปรับค่าตอบแทนพิเศษครูที่สอนนักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชนให้ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเพิ่มพิเศษ ในอัตราคนละ 2,500 บาทต่อเดือน เช่นเดียวกับครูที่สอนนักเรียนพิการในโรงเรียนรัฐ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2560 เป็นต้นไป สำหรับค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีงบประมาณต่อ ๆ ไป ให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
ทั้งนี้ ให้ ศธ. พิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินการเรื่องการปรับค่าอัตราตอบแทนพิเศษครูที่สอนนักเรียนพิการในโรงเรียนของรัฐและเอกชนให้เป็นภาพรวมทั้งระบบแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในคราวเดียวกันต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้ออกระเบียบ ก.ค.ศ. ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติหน้าที่สอนคนพิการ พ.ศ. 2556 ประกาศ ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2556 โดยกำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ปฏิบัติหน้าที่สอนคนพิการในสถานศึกษาได้รับเงินเพิ่มในอัตราเดือนละ 2,500 บาท ทำให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ปฏิบัติหน้าที่สอนคนพิการในโรงเรียนของรัฐได้รับค่าตอบแทนพิเศษเดือนละ 2,500 บาท ในขณะที่ครูโรงเรียนเอกชนที่สอนนักเรียนพิการยังคงได้รับค่าตอบแทนพิเศษเดือนละ 2,000 บาท
2. ครูที่สอนนักเรียนพิการ เป็นบุคคลที่ทุ่มเทเสียสละแรงกายแรงใจให้แก่นักเรียนพิการมากกว่าครูที่สอนนักเรียนปกติ เพราะคนพิการมีข้อจำกัดในหลายด้านไม่สามารถเรียนรู้ได้เช่นเดียวกับนักเรียนปกติ ครูที่สอนนักเรียนพิการจึงต้องมีความรู้ ศึกษาค้นคว้าหรือฝึกอบรมเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการเรียนรู้สำหรับนักเรียนพิการ ลักษณะของความพิการแต่ละประเภท เพื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้และให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาชี้แนะแนวทางการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนพิการได้อย่างเหมาะสม จึงเห็นว่ารัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือครูที่นักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชนที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่ ศธ. กำหนด ให้ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเพิ่มพิเศษในอัตราคนละ 2,500 บาทต่อเดือน เช่นเดียวกับครูที่สอนนักเรียนพิการในโรงเรียนของรัฐ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ แต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการสภาการศึกษา จำนวน 28 คน/รูป ดังนี้
1. กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรเอกชน นายอรรถการ ตฤษณารังสี
2. กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา
3. กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรวิชาชีพ นายวรชาติ เฉิดชมจันทร์
4. กรรมการที่เป็นพระภิกษุซึ่งเป็นผู้แทนคณะสงฆ์
4.1 พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน)
4.2 พระราชวรมุนี (พล อาภากโร)
5. กรรมการที่เป็นผู้แทนคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย รองศาสตราจารย์วินัย ดะห์ลัน
6. กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรศาสนาอื่น นายปานชัย สิงห์สัจเทพ
7. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
7.1 ศาสตราจารย์ชุติมา สัจจานนท์ ด้านการศึกษา
7.2 นายสุภกร บัวสาย ด้านการศึกษา
7.3 รองศาสตราจารย์อนุชาติ พวงสำลี ด้านการศึกษา
7.4 นายกิตติศักดิ์ มังคละคีรี ด้านกฎหมาย
7.5 นายอภิมุข สุขประสิทธิ์ ด้านกฎหมาย
7.6 นายอำนาจ บัวศิริ ด้านศาสนา วัฒนธรรม และภูมิปัญญา
7.7 นางจรวยพร ธรณินทร์ ด้านการกีฬา กิจการเยาวชน ลูกเสือ ยุวกาชาด และเนตรนารี
8. รองศาสตราจารย์จีรเดช อู่สวัสดิ์ ด้านมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา และการวัดและประเมินผล การศึกษา
9. ศาสตราจารย์ชนิตา รักษ์พลเมือง ด้านมาตรฐานและการประกันคุณภาพ การศึกษา และการวัด และประเมินผล การศึกษา
10. นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ธุรกิจ และบริการ
11. นายนนทวัฒน์ สุขผล ด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ธุรกิจ และการบริการ
12. นายบดินทร์ อูนากูล ด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ธุรกิจ และการบริการ
13. นายสุกิจ อุทินทุ ด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ธุรกิจ และการบริการ
14. นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ด้านพัฒนาสังคมและสิทธิมนุษยชน
15. ศาสตราจารย์สุพจน์ หารหนองบัว ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการสื่อสาร
16. นายธาดา เศวตศิลา ด้านสื่อสารมวลชน
17. นายเกียรติชัย โสภาเสถียรพงศ์ ด้านการเมืองการปกครอง
18. รองศาสตราจารย์บัณฑิต ทิพากร ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
19. นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
20. พลเอก พหล สง่าเนตร ด้านส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
21. นายกิติ มาดิลกโกวิท ด้านการผลิตและพัฒนากำลังคน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2560 เป็นต้นไป
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
กค. เสนอว่า เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้บัญญัติไว้โดยสรุปว่า ข้าราชการผู้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านให้เบิกจ่ายได้อย่างสูงไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการท้ายพระราชกฤษฎีกา ซึ่งอัตราค่าเช่าบ้านที่กำหนดให้มีอัตราเริ่มต้นไม่เกินเดือนละ 800 บาท ถึงอัตราค่าเช่าบ้านสูงสุดในอัตราไม่เกินเดือนละ 4,000 บาทนั้น ได้กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2552 ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ โดยมิได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นระยะเวลานาน จึงเห็นสมควรปรับปรุงแก้ไขอัตราค่าเช่าบ้านให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ประกอบกับบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการหมายเลข 1 ท้ายพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ (ฉบับที่ 3)ฯ ไม่สอดคล้องกับการปรับปรุงกำหนดตำแหน่งและค่าตอบแทนของข้าราชการประเภทต่าง ๆ ทำให้เกิดปัญหาการเทียบอัตราค่าเช่าบ้านเพื่อเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านให้กับข้าราชการประเภทต่าง ๆ
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. กำหนดให้ข้าราชการผู้ใดได้รับคำสั่งให้เดินทางไปประจำสำนักงานในต่างท้องที่ มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการเท่าที่ต้องจ่ายจริงตามที่สมควรแก่สภาพแห่งบ้าน แต่อย่างสูงไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ หรือบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านที่ กค. กำหนด
2. กำหนดให้ข้าราชการซึ่งมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการอยู่แล้วภายหลังได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นให้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการเท่าที่ต้องจ่ายจริงตามที่สมควรแก่สภาพแห่งบ้านอย่างสูงไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการท้ายพระรากฤษฎีกานี้ หรือบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านที่ กค. กำหนด
3. กำหนดให้ในกรณีที่ข้าราชการซึ่งมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านข้าราชการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ได้เช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและได้อาศัยอยู่จริงในบ้านนั้น ให้ข้าราชการผู้นั้นมีสิทธินำหลักฐานชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวมาเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการได้ไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ หรือบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านที่ กค. กำหนด
4. กำหนดให้ข้าราชการฝ่ายรัฐสภา ข้าราชการศาลยุติธรรม และข้าราชการธุรการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการหมายเลข 7 ตั้งแต่วันที่ข้าราชการแต่ละประเภท ได้ปรับเปลี่ยนการกำหนดตำแหน่งและการให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งใหม่ เช่นเดียวกับกำหนดตำแหน่งและการให้ได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งใหม่ของข้าราชการพลเรือนตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
5. กำหนดให้สิทธิการได้รับอัตราค่าเช่าบ้านของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ในช่วงที่มีสิทธิได้รับเงินเดือนภายใต้ กฎ ก.พ.อ. ว่าด้วยกำหนดบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2553 ที่ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2553 เป็นต้นไป และกฎ ก.พ.อ. ว่าด้วยการกำหนดบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2554 ที่ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 เป็นต้นไป ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ มีผลใช้บังคับ ให้มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการหมายเลข 7 ตั้งแต่วันที่ กฎ ก.พ.อ. ดังกล่าวใช้บังคับ
6. กำหนดให้สิทธิการได้รับค่าเช่าบ้านสำหรับข้าราชการตำรวจในแต่ละบุคคล ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 จนถึงก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับ ให้ข้าราชการตำรวจ ผู้นั้นมีสิทธิได้รับอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการหมายเลข 4 สำหรับข้าราชการตำรวจท้ายพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 ตามบัญชีเงินเดือนข้าราชการตำรวจพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 แต่ให้นำจำนวนเงินเดือนที่ได้รับมาเทียบอัตราค่าเช่าบ้านกับการปรับเงินเดือนของข้าราชการตำรวจแต่ละบุคคลที่ได้รับเสมือนหนึ่งว่า บุคคลนั้น ๆ ได้รับเงินเดือนตามมาตรา 67 วรรคห้า และมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554
7. กำหนดให้สิทธิการได้รับค่าเช่าบ้านสำหรับข้าราชการทหารในแต่ละบุคคล ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 จนถึงก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับ ให้ข้าราชการทหารผู้นั้น มีสิทธิได้รับอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการหมายเลข 5 สำหรับข้าราชการทหารท้ายพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 ตามบัญชีเงินเดือนข้าราชการทหารตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2558 แต่ให้นำจำนวนเงินเดือนที่ได้รับมาเทียบอัตราค่าเช่าบ้านกับการปรับเงินเดือนข้าราชการทหารแต่ละบุคคลที่ได้รับเสมือนหนึ่งว่า บุคคลนั้น ๆ ได้รับเงินเดือนตามมาตรา 12 วรรคห้า และมาตรา 12 ทวิ ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2551 และ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2551 และ (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2556
8. กำหนดให้ยกเลิกบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการหมายเลข 1 ถึง 7 ท้ายพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2552 และให้ใช้บัญชีอัตราค่าเช่าบ้านข้าราชการหมายเลข 1 ถึง 7 ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้แทน
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
12/9/2560
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: เว็บไซต์กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 12 กันยายน 2560