สมพงษ์จวกรมว.ศธ.ลอยตัวปมผลิตครู
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
"รมว.ศธ." เผยผลิตครู 4 หรือ 5 ปี ไม่ใช่อำนาจรัฐมนตรี ฝ่ายผลิตต้องตกลงกันให้ได้ ขอให้มองถึงสมรรถนะครูที่จะผลิตออกมา ด้าน "สมพงษ์" ชี้การผลิตครูควรจะมีมาตรฐานที่ชัดเจน การโยนให้มี 2 หลักสูตรเท่ากับเป็นการปัดความรับผิดชอบ
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมสภาคณบดีครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) เมื่อเร็วๆ นี้ มีการหารือเรื่องการปรับหลักสูตรการผลิตครูทั้งหลักสูตร 4 ปีและหลักสูตร 5 ปี แต่คณบดีกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) และกลุ่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า รวมถึงคณบดีในกลุ่มมหาวิทยาลัยดั้งเดิมบางคนก็ไม่เห็นด้วย โดยจะเสนอให้ รมว.ศธ.พิจารณาใช้หลักสูตร 5 ปีต่อไป ว่าตนทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และในการถกเถียงก็มีทั้ง 2 แนวทาง ดังนั้นตนไม่อยากให้ไปมองประเด็นว่าเราจะผลิตครู 4 ปีหรือ 5 ปี อยากให้มองไปไกลถึงสมรรถนะครูที่จะผลิตออกมามากกว่า ส่วนใครจะผลิตอย่างไร สถาบันผลิตครูก็ต้องไปตกลงกัน หรือหากจะผลิตทั้ง 2 หลักสูตรก็ขอให้ว่ามา
"เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ รมว.ศธ.จะไปกำหนดอะไร แต่เป็นเรื่องที่ทางสถาบันฝ่ายผลิตจะต้องไปตกลงกัน ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าหลังจากมีการหารือร่วมกันแล้วอาจจะมีการเปิดสอนใน 2 หลักสูตร ทั้งหลักสูตร 4 ปีและหลักสูตร 5 ปี ซึ่งผมมองว่ามีทางเป็นไปได้ เพราะคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ก็มีทั้งหลักสูตร 4 ปีและ 5 ปีเช่นเดียวกัน ส่วนจะทันในการรับเด็กเข้าเรียนปี 2561 หรือไม่ก็ไม่เป็นไร ผมไม่ได้สั่งการว่าต้องทัน เพราะถ้าไม่ทันก็เลื่อน ความรับผิดชอบอยู่ที่สถาบันฝ่ายผลิตที่ต้องไปตกลงกันให้ได้" รมว.ศธ.กล่าว
ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เท่าที่ดูนโยบายหลายเรื่องของ รมว.ศธ.ที่ออกมา หลักการดูดี แต่เป็นนโยบายที่เร่งรับ ไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง ในส่วนการผลิตครู 4 ปีหรือ 5 ปี ที่รัฐมนตรีบอกให้มหาวิทยาลัยตัดสินใจเอง ดูเป็นการไม่รับผิดชอบต่อนโยบายซึ่ง นพ.ธีระเกียรติเป็นคนประกาศออกไปเอง หรือแม้กระทั่งที่บอกว่าจะให้เปิดสอนทั้งหลักสูตร 4 ปีและหลักสูตร 5 ปีก็เป็นไปไม่ได้ เพราะจะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ที่สำคัญคงไม่มีใครเลือกเรียน 5 ปี
"การผลิตครูควรจะมีมาตรฐานที่ชัดเจน จะไปเทียบกับวิศวะสถาปัตย์ว่ามีทั้งหลักสูตร 4 ปีและ 5 ปีคงไม่ได้ เพราะเขาผลิตคนป้อนตลาดแรงงาน บริษัทเอกชน แต่เราผลิตครู การโยนให้มี 2 หลักสูตร เท่ากับเป็นการปัดความรับผิดชอบทางออกในเรื่องนี้ ควรจะต้องถอยหลังออกมาหนึ่งก้าว ตั้งคณะกรรมการร่วมซึ่งมาจากทั้ง 2 ฝ่ายร่วมพูดคุย โดยต้องมีงานวิจัยรองรับ คิดให้ตกผลึกก่อนค่อยประกาศอย่างเป็นทางการ" อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 8 กันยายน 2560