รายงานพิเศษ : บุญรักษ์ ยอดเพชร จากครูหัวใจแกร่ง ก้าวสู่ "เลขาธิการ กพฐ."
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
รายงานพิเศษ I บุญรักษ์ ยอดเพชร จากครูหัวใจแกร่ง ก้าวสู่ "เลขาธิการ กพฐ."วารินทร์ พรหมคุณ
บุญรักษ์ ยอดเพชร จากครูหัวใจแกร่ง ก้าวสู่ "เลขาธิการ กพฐ."
29 สิงหาคม 2560 "นายบุญรักษ์ ยอดเพชร" ขณะดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับการเสนอชื่อต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)
แม้ว่าจะมี "โผหลุด" ที่สยามรัฐมาก่อนหน้านี้ แต่เจ้าตัวยังชั่งใจ 50-50 ท่ามกลางคลื่นลมที่พัดกระแสบวกและลบประดังประเด! เข้ามา...แต่นี่คือหนังชีวิตที่ ว่าที่เลขาธิการ กพฐ.คนใหม่ ต้องรับบทสำคัญ พิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่าจะนำพา สพฐ. เดินหน้าต่อไปอย่างสง่างามได้อย่างไร
"ถ้าจะมานับอายุงานในส่วนกลาง สพฐ. ทุกคนอาจเข้าใจว่าผมยังอ่อนกว่าเพื่อน แต่ถ้านับความเป็น สพฐ. ก็มั่นใจว่าประสบการณ์ตลอดชีวิตการทำงานของผม ไม่ได้ยิ่งหย่อนกว่าใคร และเป็นประสบการณ์ที่จะดูแล สพฐ. ได้อย่างดี"
นี่คือคำพูดที่ออกจากปากของ นายบุญรักษ์ ว่าที่เลขาธิการ กพฐ.คนใหม่ นี้ไต่เต้าขึ้นมาจาก "ครู" สอนหนังสือมาเกือบ 10 ปี ก่อนจะมาสอบในตำแหน่ง ผู้บริหารการประถมศึกษาอำเภอ อายุประมาณ 29-30 ปี ก็สอบเป็นผู้ช่วยหัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอ และเป็นหัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอในปีเดียวกัน ที่จังหวัดสุโขทัย
12 ปี ต่อมาเมื่อมีการปฏิรูปการศึกษา แยกจากสำนักงานประถมศึกษาแห่งชาติ(สปช.) มาเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ชื่อของ นายบุญรักษ์ ไปปรากฎเป็นรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา "รุ่นแรก" ต่อมาขึ้นเป็น ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก
ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์และคร่ำหวอดในวงการศึกษาไม่น้อย
ส่วนที่เขาลือเขาอ้างกันถึงชนักติดหลัง...นายบุญรักษ์ พูดในเชิงน้อยเนื้อต่ำใจว่า "...มีพูดเข้าหูมาเหมือนกัน มีคนเขาว่าผมอย่างนั้นอย่างนี้ มีความพยายามจะโยงไปถึงอดีต ว่าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการทุจริตสนามฟุตซอล ซึ่งขณะนั้นผมไปเรียนหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ก็ไม่ได้เซ็นไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนั้น และก็ชี้แจงกับสำนักงานปรามปราบการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) แล้ว
อดีตของผม...ตลอดชีวิตข้าราชการ ผมก็ทำงานได้ดีไม่แพ้ใคร ไม่เคยมีเรื่องการสอบสวนทางวินัย ไปดูไปถามกันได้ว่าที่ผ่านมาการบริหารงานในพื้นที่การศึกษาของผมเป็นอย่างไร พวกเขารับผมได้หรือไม่ และขอย้ำว่าผมมั่นใจว่าประสบการณ์ ที่มีอยู่จะดูแล สพฐ.ได้ เพราะผ่านมาแล้วทุกรูปแบบ ทั้งเป็นครูอยู่บนเขาบนดอยก็เป็นมาแล้ว และตอนนี้ก็ยังเป็นผู้รับผิดชอบ "ศูนย์การศึกษาธิการส่วนหน้าภาคใต้" ด้วยก็รู้ดีว่าครูภาคใต้ เป็นอยู่ในสภาพไหน และเราจะช่วยกันได้อย่างไร"
นายบุญรักษ์ กล่าวด้วยความเชื่อมั่นและสำทับทิ้งท้ายว่า
"คนเราอย่าดูกันผิวเผิน อย่าฟังแต่ที่เขาเล่ามา ต้องมาพิสูจน์กันด้วยตัวเอง"
** ภูมิหลัง "บุญรักษ์ ยอดเพชร" ว่าที่เลขาธิการ กพฐ.คนใหม่ ในวัย 58ปี จากครูผู้มีอุดมการณ์
จบการศึกษา ป.กศ.-ป.กศ.สูง จากวิทยาลยัครูพิบูลสงคราม พิษณุโลก แล้วมาต่อปริญญาตรี กศ.บ.วิชาเอก คณิตศาสตร์ มศว.วิทยาเขตพิษณโลก เป็นมหาบัณฑิต ศษ.ม. วิชาเอกบริหารการศึกษา จาก ม.ขอนแก่น และยังผ่านหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรรัฐร่วมเอกเชน จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปรอ.) รุ่น24 หลักสูตรเสริมนักบริหารระดับสูง(ส.นบส.) สํานักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนรุ่น6และหลักสูตรโฆษกกระทรวง
ชีวิตราชการ...เริ่มต้นในตําแหน่ง ครู2ระดับ2พ.ศ.2523รร.วัดคูยาง สปจ.กําแพงเพชร และระดับอาจารย์ 1 สอนหนังสือมาเกือบ 10 ปี และในปี 2532 มาสอบเป็นผู้ช่วยหัวหน้าการประถมศึกษา อ.ชาติตระการ อีก3 ปีต่อมาขึ้น หัวหน้าการประถมศึกษา กิ่งอ.บุ่งคล้า จ.หนองคาย และไล่เรียงกันเป็น หัวหน้าการประถมศึกษา อ.ศรีวิไล-อ.ปากคาด จ.หนองคาย ในปี 2540 ย้ายมาเป็นหัวหน้าการประถมศึกษา อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย และย้ายเวียนไป อ.ศรีนคร-อําเภอเมือง กระทั่งปี 2547 ได้เป็นรอง ผอ.สพป.สุโขทัย เขต 1 ปี 2552ย้ายไปเป็น ผอ.สพป.พิษณุโลก เขต3 ปี 2553 เป็น ผอ.สพป.พิษณุโลก เขต1
ในปี 2558 ปีแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ได้ย้ายเข้ามาทำงานที่ สพฐ. ในตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. และ รองเลขาธิการ กพฐ. ก่อนที่ ครม.จะเห็นชอบแต่งตั้งเป็น "เลขาธิการ กพฐ." วันที่ 29 สิงหาคม 2560
นายบุญรักษ์ ถือเป็นคนทำงาน ที่ได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างมาก โดยรับผิดชอบการขับเคลื่อนกำกับ และดูแลโครงการและนโยบายสำคัญของ สพฐ. อาทิเช่น ผอ.ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ ในศึกษาธิการส่วนหน้า, โครงการโรงเรียนประชารัฐ (ดีใกล้บ้าน), โครงการการพัฒนาครูแนวใหม่ : การพัฒนาครูครบวงจร โครงการBoot Camp โครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาเป็นพิเศษเร่งด่วน (ICU) โครงการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร ์ (สะเต็มศึกษา) โครงการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ภาษาไทย การเรียนการสอนภาษาไทยให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ โครงการพัฒนาระบบการประเมินและการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา โครงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยตามแนวทางพัฒนาการทางสมอง (BBL) เป็นต้น
ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นหัวใจของงานการศึกษาขั้นพื้นฐานเกือบทั้งหมดก็ว่าได้
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 4 กันยายน 2560