จ่อปฏิรูประบบบำนาญผู้ประกันตน ขยายอายุเกษียณ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
จ่อปฏิรูประบบบำนาญผู้ประกันตน ขยายอายุเกษียณ"ที่ปรึกษารมว.แรงงาน" แนะ ปฎิรูประบบบำนาญให้เป็น 4.0 -แก้กฎหมายให้สอดคล้องกับอายุการทำงานที่ยาวขึ้น ด้าน "ผู้ตรวจ สปส." เสนอ 5 แนวทาง พร้อมเปิดรับฟังความเห็นประชาชนถึงสิ้นปี
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นการปฎิรูประบบบำนาญประกันสังคมโดย นายอารักษ์ พรหมณี ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน บรรยายในหัวข้อ แนวคิดหลักการ การให้ความคุ้มครองประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ว่า การปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคม เพื่อสร้างความมั่นคงหลังเกษียณอายุการทำงาน ซึ่งในอนาคตแนวประเทศไทยมีแนวโน้มคนสูงอายุเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องมีการปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคม ให้เป็นยุค 4.0 หรือไม่ ส่วนเงินบำนาญที่จะได้รับเพียงพอต่อการใช้ชีวิตในสังคมขณะนี้หรือไม่ หากไม่พอจะหาแนวทางเพิ่มเติมอย่างไร และจากอายุที่ยาวขึ้น จำเป็นหรือไม่ที่ต้องแก้ไขกฎหมายให้เอื้อต่ออายุการทำงาน ถ้าเงินบำนาญชราภาพไม่เพียงพอ หมายความว่าคนสูงอายุของประเทศไทยจะต้องทำงานหนักหลังเกษียณอายุเพิ่มขึ้น นอกจากนี้พบว่าในต่างประเทศในทุกๆ 3 ปี จะต้องมีการปรับเปลี่ยนกฏหมายที่เกี่ยวกับบำนาญชราภาพ แต่ประเทศไทยนานหลายสิบปีถึงจะมีการปรับเปลี่ยนสักครั้ง
ด้านน.ส.อำพันธ์ ธุววิทย์ ผู้ตรวจราชการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ประกันสังคมต้องการปฏิรูประบบบำนาญ ในกองทุนชราภาพประกันสังคม โดยมีเป้าหมายให้ผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญมากพอในการดำรงชีพ ที่ทางประกันสังคมได้นำเสนอ 5 แนวทาง ได้แก่ ได้แก่ 1.การขยายอายุเกษียณจากปัจจุบันอยู่ที่ 55 ปี เป็น 60 ปี โดยจะขยายหลังปี 2565 ในลักษณะเป็นขั้นบันได 2.ปรับฐานเงินเดือนที่ใช้คำนวณเงินชราภาพ จากที่ปัจจุบันขั้นต่ำอยู่ที่ 1,650 บาท และสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท ปรับเป็นขั้นต่ำอยู่ที่ 3,600-20,000 บาท 3.ปรับสูตรคำนวณการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ จากเดิมใช้คำนวณจากเงินเดือน 5 ปีสุดท้ายที่จ่ายเงินสมทบ มาเป็นคำนวณจากฐานเงินเดือนที่ส่งในช่วง 15 ปี หรือ 20 ปี
น.ส.อำพันธ์ กล่าวต่อว่า 4.เพิ่มอัตราเงินสมทบที่จัดเก็บเข้าสู่กองทุนชราภาพจากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3 ของเงินเดือน เป็นร้อยละ 5 ของเงินเดือน และ5.เร่งพัฒนาการลงทุนให้ได้ผลกำไรมากยิ่งขึ้น ซึ่งมาจากการศึกษาจากนักวิชาการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย ทั้งนี้ทาง สปส.จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น 12 ครั้ง ในกรุงเทพและภูมิภาค ทั่วประเทศ ที่แต่ละเวทีมีนายจ้าง ลูกจ้างเข้าร่วมรวม 500 คน และผู้ประกันตนยังสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซด์ของประกันสังคม โดยใช้ระยะเวลารวบรวมข้อมูลถึงเดือน พ.ย. 2660 และจะส่งต่อไปที่อนุคณะกรรมการวิเคราะห์สรุปแนวทาง นำเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อนำเสนอแก้ไขกฏหมายตามขั้นตอนต่อไป
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม 2560 เวลา 14.14 น.