เปิดหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ.2560
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
เปิดหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ.2560หมายเหตุ - กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คลอดหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ.2560 โดย นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เผยว่าขณะนี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้ลงนามในคำสั่ง ศธ.เรื่องการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ.2560แทนหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ.2546 ซึ่งจะนำไปใช้ในปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป
..."ข่าวการศึกษา สยามรัฐ" จึงนำเสนอเนื้อหาสาระสำคัญของการหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ.2560เพื่อประโยชน์แก่องค์กร และหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการศึกษาแก่เด็กก่อนวัยเรียน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ.2560 นี้ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 54 วรรคสอง ความว่า "ดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแล และพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาให้สมกับวัย" และ "เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย"
สอดรับกับ กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ยุทธศาสตร์ข้อ 4ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม ข้อ (2) การพัฒนาศักยภาพคนในทุกช่วงวัย ให้สนับสนุนการเจริญเติบโตของประเทศ โดยช่วงวัยเด็กตั้งแต่แรกเกิดให้มีพัฒนาการที่สมวัยในทุกด้าน
น้อมนำแนวพระราชดำริและพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีใจความสำคัญว่า "มุ่งปลูกฝังความดีให้นักเรียนอบรมบ่มนิสัยให้เป็นพลเมืองดีเป็นเด็กที่มีน้ำใจรู้จักทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม มีความสามัคคีรู้จักดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กัน" และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีใจความสำคัญว่า "การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานชีวิตหรืออุปนิสัยที่มั่นคงเข้มแข็ง อาทิ การสร้างบุคลิกและอุปนิสัยที่ดีงาม(Character Education)" มาขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาให้เกิดเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) แผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2560-2579) กรอบอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2560-2564 และแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.
สำหรับภาพรวมการพัฒนาและโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ.2560 นั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการพัฒนายกร่างหลักสูตรฯ แล้วนำไปรับฟังความคิดเห็นกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นำข้อเสนอแนะมาปรับปรุง มีการนำทดลองใช้ในโรงเรียน วิจัย ปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาจนเป็น "หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ฉบับสมบูรณ์" สำหรับเด็กอายุแรกเกิดถึง 6 ปีบริบูรณ์
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการ กพฐ. เผยถึงโครงสร้างหลักสูตรแบ่งออกเป็น2 ช่วงอายุ คือหลักสูตรสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า3ปี จัดขึ้นสำหรับพ่อแม่ผู้เลี้ยงดู หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็กประกอบด้วย 2ช่วงอายุ คือ ช่วงอายุแรกเกิด-2ปี เป็นแนวปฎิบัติการอบรมเลี้ยงดูตามวิถีชีวิตประจำวัน และช่วงอายุ 2-3ปี เป็นแนวปฏิบัติการอบรมเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ ให้เด็กมีร่างกายเจริญเติบโตตามวัยแข็งแรงและมีสุขภาพดี สุขภาพจิตดี มีความสุข มีทักษะการใช้ภาษาสื่อสาร สนใจเรียนรู้สิ่งต่างๆ
และหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กอายุ 3-6ปี เป็นการจัดการศึกษาในลักษณะของการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษา เด็กจะได้รับการพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ตามวัยและความสามารถของเด็กแต่ละคน
"หลักสูตรนี้จะเป็นหลักสูตรแกนกลาง ที่มีความยืดหยุ่น สถานศึกษา หรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ทุกสังกัดสามารถนำไปปรับปรุงให้เหมาะกับเด็กและสภาพท้องถิ่นได้ โดยมีจุดเน้นสำคัญคือ การเรียนรู้แบบactive learning ของเด็กโดยการลงมือกระทำ มีการบูรณาการผ่านการเล่น มีเป้าหมายคือ เป็นคนดี มีวินัย มีปัญญา มีความสุข"
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า หลังจากนี้ สพฐ.จะต้องเตรียมความพร้อมแก่บุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ โดยเฉพาะสถานศึกษาที่ต้องนำไปจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาระดับปฐมวัย และครูผู้สอนที่จะเป็นผู้ใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย รวมถึงการจัดพิมพ์เอกสารหลักสูตรแก่สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทั้งหมดนี้จะเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของ สพฐ. ด้วย
ข้อแตกต่างหลักสูตรเก่า 2546 & หลักสูตรใหม่ 2560
เพิ่มเติมวิสัยทัศน์ ของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย
เพิ่มเติมตัวบ่งชี้และสภาพที่พึงประสงค์รายอายุ"เพื่อให้มีเนื้อหาที่ชัดเจน สถานศึกษาสามารถนำไปออกแบบ และจัดหลักสูตรสถานศึกษาของตนเอง ครูสามารถนำไปวางแผนการพัฒนาผู้เรียนรายอายุได้ง่ายขึ้น
เดิมการประสานงานพัฒนาเด็กปฐมวัย ในส่วนของการพัฒนาทักษะกระบวนการ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ระหว่างหน่วยงาน สพฐ. กับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) นั้นต่างคนต่างทำ แต่ในหลักสูตรใหม่จะทำงานร่วมกัน โดยคณะทำงานของ สสวท.เป็นผู้พัฒนาเนื้อหาที่ง่ายสำหรับเด็ก และชัดเจนสำหรับครูนำสู่การปฏิบัติ
จุดเด่นเพิ่มเติมของการพัฒนา ด้านร่างกาย เพิ่มการพัฒนาการตระหนักรู้ เกี่ยวกับร่างกายตนเอง (self-awareness) คือการเคลื่อนไหวโดยควบคุมตนเองไปในทิศทางระดับและพื้นที่, ด้านอารมณ์จิตใจ เพิ่มอัตลักษณ์เฉพาะตน และเชื่อว่าตนเองมีความสามารถและการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น, ด้านสังคม เพิ่มการปฏิบัติตามวัฒนธรรมท้องถิ่น และความเป็นไทย การมีวินัย การยอมรับในความเหมือนและแตกต่าง ระหว่างบุคคล และ ด้านสติปัญญา เพิ่มการพัฒนาความสามารถในการคิดรวบยอด การคิดเชิงเหตุผล การคิดแก้ปัญหา และตัดสินใจการใช้ภาษาในการเรียนรู้
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 16 สิงหาคม 2560