ครู2.2หมื่นวืดคูปองอบรมครู
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ครู2.2หมื่นวืดคูปองอบรมครูวุ่นไม่เลิก “โครงการพัฒนาครูครบวงจร” ศธ.ล่าสุด 22 หน่วยงานแจ้งยกเลิก 87 คอร์สส่งผลกระทบกับสิทธิของครูลงทะเบียน 22,349 ราย 213 รุ่นไม่ได้รับการอบรมตามต้องการ
เหตุผลในการยกเลิกหลักสูตรของหน่วยจัดอบรม มีตั้งแต่ ได้ครูไม่ครบตามเป้าที่กำหนดจึงจัดอบรมไม่ได้ ความล่าช้าในการโอนเงินค่าลงทะเบียนล่วงหน้าของผู้เข้ารับการอบรม ทำให้ฝ่ายจัดไม่สามารถวางแผนการดำเนินโครงการได้ ซึ่งจะต้องส่งเงินกับกับหน่วยงานที่จัดล่วงหน้า 7 วัน กระทั่งเหตุผลว่ามีจำนวนผู้สมัครล้น จนไม่สามารถจัดหาสถานที่รองรับผู้เข้าอบรมได้
“ยอมรับว่าเมื่อเริ่มดำเนินการคัดเลือกหน่วยงานที่จัดอบรม เรามองโลกในแง่ดีว่าทุกคนอยากเข้ามาช่วยกันพัฒนาการศึกษา ดังนั้น จึงยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และเปิดกว้าง ทำให้บางคนที่จัดอบรมเองและคิดว่าหลักสูตรของตัวเองดี ก็เสนอเข้ามาโดยใช้ชื่อของมหาวิทยาลัยแต่สุดท้ายก็เกิดปัญหา” นายบุญรักษ์ ยอดเพชร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) แจงแจกภายหลังประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาครูครบวงจร
นายบุญรักษ์ บอกด้วยว่า หลักสูตรอบรมที่มีการขอยกเลิก 87 หลักสูตรนั้น เป็นของ 22 หน่วยงาน โดยเป็นหน่วยงานเอกชน 8 แห่ง ส่วนที่เหลือเป็นมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ขอจัดอบรม 14 แห่ง รวม 213 รุ่น ซึ่งจากการตรวจสอบในระบบลงทะเบียน พบว่า มีครูลงทะเบียน 22,349 ราย
แม้จำนวนหลักสูตรอบรมจะถูกยกเลิกค่อนข้างมาก แต่ยังไม่ได้มีการจัดอบรม มีครูประมาณ 175 ราย ได้รับผลกระทบเพราะมีการสำรองเงินจ่ายแล้วล่วงหน้า เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ส่วนที่เหลือรู้ตัวล่วงหน้าและยังไม่ได้จ่ายเงิน
ทั้งนี้ สำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (สพค.) ที่ดูแลเรื่องการจัดอบรมพัฒนาครูครั้งนี้จะเข้ามาดูแล โดยจะมอบให้นิติกร ประสานไปยังหน่วยงานที่จัดอบรมเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ครู แม้ว่าจะรับสมัครและอบรมได้เพียง 1-2 เดือน (กรกฎาคม-สิงหาคม) แต่ก็มีเสียงสะท้อนกลับมาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนแผนพัฒนาครูต่อในปีงบฯ 2561 นายบุญรักษ์ กล่าวว่า จะเสนอปรับแนวทางการดำเนินงานจัดอบรมให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) แต่ละแห่งทำหน้าที่เป็นซีอีโอ เริ่มต้นกระบวนการ สำรวจว่าครูในพื้นที่ต้องการอบรมหลักสูตรใด เมื่อได้ข้อมูลจะประกาศให้หน่วยงานที่จัดอบรมได้รับทราบ และเสนอหลักสูตรเข้ามาให้ สถาบันคุรุพัฒนารับรองหลักสูตร จากนั้นสถาบันคุรุพัฒนาจะส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองหลักสูตรอบรม ของสพฐ. คัดเลือกอีกรอบ ก่อนเสนอให้เลขาธิการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ลงนาม ประกาศรายชื่อหลักสูตรที่ผ่านการคัดเลือกต่อไป
ขณะเดียวกันสถาบันคุรุพัฒนาอยู่ระหว่างการจัดทำ กรอบการออกแบบหลักสูตรพัฒนาครูและเกณฑ์การประเมินรับรองหลักสูตรพัฒนาครูใหม่ ทำให้มั่นใจได้ว่าหลักสูตรที่จะมาอบรมให้ครูต่อไป มีคุณภาพและได้มาตรฐานแน่นอน
“ครู” ทำแผนพัฒนาตนเอง หรือไอดีแพลน เข้าระบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วย รองเลขาธิการ กพฐ. อธิบายว่า การทำไอดีแพลน ก็เพื่อให้แต่ละเขตพื้นที่ฯ ทราบข้อมูลว่า ครูคนไหน อบรมหลักสูตรใด เป็นเงินจำนวนเท่าไร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ในระบบและสามารถตรวจสอบได้
ส่วนงบประมาณที่ใช้ในการอบรมนั้น ยอมรับว่ามีปัญหาติดขัดในเรื่องการเบิกจ่ายบ้าง เพราะใช้เหลือจ่ายจากโครงการต่าง ๆ ส่งลงไปที่เขตฯ ทำให้เกิดความล่าช้า แต่ปีงบฯ 2561 สพฐ.ได้เตรียมจัดสรรงบฯในส่วนนี้ไว้แล้ว สำหรับการเบิกจ่ายงบฯค่าจัดอบรมนั้น
อย่างไรก็ตามนโยบายสพฐ. ยังให้ครูเป็นผู้ถือเงิน 10,000 บาท แล้วไปบริหารจัดการจ่ายค่าอบรมให้แก่หน่วยงาน โดยใช้วิธียืมเงินจากเขตพื้นที่ฯ และนำใบเสร็จจากหน่วยที่จัดอบรมมาเป็นหลักฐาน อีกทั้งครูยังมีระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวกับการเบิกจ่ายเป็นตัวกำกับ เพราะฉะนั้นสพฐ.เชื่อมั่นว่าครูทุกคนมีวินัย ส่วนที่ใครคิดจะจ่ายเงินทอนครู ก็จะมีครูที่ไม่เห็นด้วยนำข้อมูลมาบอกสพฐ. ให้ตรวจสอบ ดังนั้นเรื่องพวกนี้จึงเกิดขึ้นได้ยาก
ด้าน นางชมชนก ทรงมิตร ครูภาษาไทย โรงเรียนราชวินิตมัธยม กล่าวถึงการเข้าร่วมอบรมผ่านคูปองครูว่า เลือกสมัครอบรมหลักสูตรการพัฒนาสมรรถนะครูภาษาไทยแบบแอคทีฟเลิร์นนิ่ง เพียงหลักสูตรเดียวและผ่านการอบรมเรียบร้อย จัดที่จังหวัดราชบุรี จัดอบรมโดยหน่วยงานเอกชน ที่เลือกหลักสูตรนี้เพราะเห็นหัวข้อแล้วชอบ
เพราะเป็นครูภาษาไทย สอนไม่สนุกเด็กก็จะเบื่อจึงคิดว่าถ้าเอากิจกรรมแอคทีฟเลิร์นนิ่งไปอยู่ในภาษาไทยไปใช้ชั้นเรียนจะเกิดความหลากหลาย ไม่ติดกรอบการเรียนในชั้น ทั้งการเล่นเกม ทำกิจกรรมกลุ่ม ลดทอนการบรรยายของครูแต่สร้างความคิดให้เด็กมากขึ้น เกิดการโต้ตอบร่วมกัน
“ส่วนตัวเป็นคนชอบอบรม แม้จะไม่มีโครงการนี้ก็จะไปหาที่อบรม เรียนรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการสอน วิธีการเลือกก็จะดูว่าวิทยากรเป็นใคร หลักสูตรเป็นอย่างไร เพราะจะได้ผลดีและเกิดประโยชน์สูงสุด ครั้งนี้ก็เช่นกันแม้หลักสูตรที่เลือกจะไปจัดอบรมที่จ.ราชบุรี อย่างหลักสูตรในกรุงเทพฯ แต่ครูก็เลือกที่ตรงกับความต้องการเอาใช้ประโยชน์กับเด็กได้จริง ดังนั้นการเลือกหลักสูตรใด ต้องดูหลายๆองค์ประกอบ ทั้งชื่อรายละเอียด วิทยากร”
ปัญหาการยกเลิกหลักสูตรนั้น นางชมชนก บอกว่า สาเหตุให้หน่วยจัดยกเลิกคือการไม่เก็บเงินผู้สมัครอบรมแต่ไปจ่ายหน้างาน ทำให้เมื่อถึงเวลาอบรมคนไม่ครบตามที่ลงทะเบียน เช่นสมัคร 70 คนวันจริงมา 50 คนแต่หน่วยจัดก็ยังคงดำเนินการต่อ เพราะเขาเป็นหน่วยงานใหญ่ก็ต้องรักษามาตรฐานและชื่อเสียง ขณะเดียวกัน หน่วยจัดควรกำหนดไว้ในรายละเอียดสมัครชัดเจน เช่น รับจำนวนเท่านี้ ถ้าไม่ครบตามจำนวนจะไม่มีการจัดอบรม เป็นต้น
สำหรับขั้นตอนสำหรับการยกเลิก หรือ เลื่อนการจัดอบรม 1.ผู้รับผิดชอบหลักสูตรทำหนังสือแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสถาบันคุรุพัฒนาทราบ
2.ผู้รับผิดชอบหลักสูตรทำการแจ้งผู้เข้ารับการอบรมให้ทราบและ หากเกิดความเสียหายกับครูที่ลงทะเบียนแล้ว ในส่วนของค่าใช้จ่ายสำหรับค่าพาหนะเดินทาง (ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าตั๋วรถทัวร์) , ค่าที่พัก, ค่าลงทะเบียน ผู้รับผิดชอบหลักสูตรต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด และ3. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะไม่รับผิดชอบใดๆ หากเกิดความเสียหายในกรณีที่ผู้รับผิดชอบหลักสูตรยกเลิก หรือ เลื่อนการจัดอบรม
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 16 สิงหาคม 2560