ใครคิดว่าครูไม่สำคัญ / โดย ภูริวรรณ วรานุสาสน์
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ใครคิดว่าครูไม่สำคัญ / โดย ภูริวรรณ วรานุสาสน์คอลัมน์ : China Today
ผู้เขียน : ภูริวรรณ วรานุสาสน์
ในประเทศจีน อาชีพครู ถือเป็นอาชีพสำคัญที่ได้รับการยอมรับและการเคารพสูงสุดอาชีพหนึ่ง มาตั้งแต่สมัยโบราณกว่า 2500 ปี จนกระทั้งถึงศตวรรษที่ 21 อย่างเช่นในปัจจุบัน
แต่ก็ไม่แปลกที่ในปัจจุบัน เราจะเห็นข่าวเกี่ยวกับครูออกมาอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น มีนักศึกษาระดับปริญญาตรี ได้ ”ไล่” อาจารย์ของพวกตนออก เนื่องมาจากการที่อาจารย์ได้ให้นักเรียนทำงานในบริษัทส่วนตัวของอาจารย์ โดยให้ค่าตอบแทนที่น้อยมาก ซึ่งอันที่จริงแล้ว การที่อาจารย์จะให้นักเรียนนักศึกษาฝึกงานด้วยวิธีนี้ ถือเป็นเรื่องที่ปรกติอย่างมากในสังคมจีน โดยการฝึกงานนั้น นักศึกษาอาจจะได้ค่าแรงซึ่งเทียบแล้วกับคนทั่วไปแล้วน้อยมากหรืออาจจะไม่ได้รับค่าแรงเลยแม้แต่น้อยก็ได้
แต่ก็ไม่มีใครออกมาแสดงความเห็นหรือแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะการฝึกงานที่ไม่ได้รับค่าแรงถือเป็นบนบาทหนึ่งของนักเรียน ซึ่งมีมาตั้งแต่หลายพันปีก่อน โดยในสมัยโบราณนั้น ศิษย์ที่ต้องการเรียนหนังสือกับอาจารย์ จำเป็นต้องรับใช้อาจารย์ในทุกๆเรื่อง ตั้งแต่การรับใช้ส่วนตัวไปจนถึงการทำงานบ้านให้ เพื่อแลกกับการร่ำเรียนวิชาทักษะต่างๆจากอาจารย์
ในสังคมจีน การดูแลรับใช้ครูอาจารย์ถือเป็นการแสดงความเคารพอย่างหนึ่ง ครูอาจารย์จะสามารถแนะนำนักเรียนของตนและช่วยหางานหรือเลื่อนตำแหน่งให้แก่เด็กนักเรียนของตน หลังจากจบการศึกษาไปแล้วได้และนี่เองที่ทำให้ครูอาจารย์เข้ามามีอิทธิพลต่อเด็กทั้งด้านการเรียนและส่วนตัว ยิ่งไปกว่านั้น การมีอิทธิพลเช่นนี้ ทำให้อาชีพครูกลายเป็นอาชีพที่มีพลังอำนาจอย่างมาก
นอกจากนี้ บรรดาผู้ปกครองที่ให้ความสำคัญต่อการศึกษาของลูกหลานของตนมาเป็นอันดับหนึ่ง ก็เป็นอีกแรงที่ผลักดันให้ครูมีอิทธิพลมากขึ้น เมื่อไหร่ก็ตามที่ครูต้องการความช่วยเหลือจากผู้ปกครอง ผู้ปกครองก็พร้อมที่จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือทันที อย่างเช่นเมื่อมีข่าวของครูที่ถูกจับในข้อหาฉ้อโกง หลังจากที่ไปเรี่ยไรเงินของบรรดาผู้ปกครองกว่า 200,000 หยวน (ประมาณ 1,000,000 บาท) แต่ผู้เสียหายกลับไม่ได้สงสัยอะไร เพียงรู้แค่ว่า ช่วยเหลือครูของลูกที่ไม่มีเงินเท่านั้น
เด็กนักเรียนชาวจีน ได้รับการสั่งสอนและปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ให้เชื่อฟังและเคารพครูอาจารย์ โดยมีประโยคที่ได้ยินติดหูว่า ”ใครก็ตามที่เป็นครูของเราเพียงวันเดียว เราจะต้องปฏิบัติต่อครูท่านนั้นเยี่ยงบิดาตลอดชั่วชีวิต”
การเชื่อฟังถือเป็นสิ่งสำคัญสิ่งแรกในชีวิตการเรียน เด็กจะได้รับการสอนให้เงียบในห้องเรียนและจะต้องทำตามสิ่งที่ครูสอนในห้องเท่านั้น คอยตอบคำถามของครูที่อาจจะทำให้เด็กดูน่าขบขันหรืออาจจะทำให้ครูอับอายก็ได้ ทำให้บรรดาครูจากประเทศตะวันตก พากันประหลาดใจในความเงียบของห้องเรียน ที่หาไม่ได้ในประเทศตะวันตก นั่นเป็นเพราะนักเรียนชาวจีน จะไม่ใช้การถกปัญหาหรือพูดคุยกันในระหว่างเรียน
การลงโทษก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไว้สั่งสอนและควบคุมพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งในสมัยก่อน การเรียนของชาวจีนนั้นคือการท่องจำหนังสือ ซื่อซูและหวู่จิง (ตำราทั้ง 4 และคัมภีร์ทั้ง 5) ซึ่งเป็นหนังสือของลัทธิขงจื๊อและใช้สำหรับการสอบเข้ารับราชการ การสอนที่สำคัญในสมัยนั้น คือการท่องจำและหากนักเรียนลืมหรือท่องไม่ได้ ครูก็จะลงโทษโดยการตีที่ฝ่ามือ การลงโทษเช่นนี้ ยังสามารถพบให้ได้ในปัจจุบัน ตามพื้นที่ที่ยังไม่พัฒนาของจีน
แต่การที่จะไปโทษการสอนแบบขงจื๊อนั้น เห็นจะไม่ยุติธรรมสักเท่าใดนัก เพราะขงจื๊อผู้ที่เป็นผู้ก่อตั้งลัทธิขงจื๊อและปราชญ์แห่งปรัชญาความเชื่อ อันเป็นรากฐานของประเทศจีนก็เป็นอาจารย์ที่สอนหนังสือแบบปรกติธรรมดาเหมือนครูทั่วๆไป ขงจื๊อนิยมใช้วิธีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับศิษย์ของตน อีกทั้งยังสังเกตพฤติกรรมของศิษย์แต่ละคนและจะใช้วิธีสอนศิษย์แต่ละคนแตกต่างกันไป ตามความประพฤติและภูมิหลัง
ประเพณีอย่างหนึ่งสำหรับศิษย์ของขงจื๊อ คือการมอบอาหารที่ดีที่สุดให้แก่อาจารย์ของตน ต่อมาจึงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ สำหรับการมอบเนื้อแห้งให้แก่อาจารย์ ปัจจุบัน การกระทำเช่นนี้ เรียกว่า ซู่ซิว แปลว่า เงินหรือค่าธรรมเนียมที่มอบให้แก่ครูอาจารย์สำหรับเป็นค่าสอนหนังสือ
อันที่จริงแล้ว หน้าที่ของครูคือการสอนให้เด็กสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปรกติสุขและเป็นคนดีของสังคม ครูต้องให้ความรู้ สอนให้เด็กรู้จักแก้ปัญหา ขจัดความสงสัยให้แก่เด็กและนี่จึงเป็นสาเหตุหลักที่ชาวจีนให้ความเคารพครูอาจารย์
แต่สิ่งหนึ่งที่ครูทุกคนทราบดี คือ รายได้ของครูจะไม่สูงนักเมื่อเทียบกับอาชีพสำคัญอื่นๆ แต่อาชีพครูก็ยังเป็นอาชีพที่น่าปรารถนาของคนส่วนใหญ่ เป็นอาชีพที่ต้องใช้ความอดทนสูง หลายคนกล่าวว่า ครูคือเทียนที่เผาตนเองเพื่อมอบแสงสว่างให้แก่คนอื่น
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้ วันที่ 14 สิงหาคม 2560