หาสาเหตุอาจารย์หยุดทำวิจัย
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
หาสาเหตุอาจารย์หยุดทำวิจัยหลังได้ตำแหน่งทางวิชาการไปแล้ว"ก.พ.อ."มึนงง!มอบสกอ.ไปขุดคุ้ยต้นตอปัญหา
ก.พ.อ.มอบ สกอ.เร่งหาสาเหตุอาจารย์ส่วนใหญ่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะหยุดไม่ทำผลงานต่อหลังได้ตำแหน่งทางวิชาการไปแล้ว หวังจุดไฟสร้างผลงาน นำข้อเสนอแนะ กกอ.ปรับหลักเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการใหม่ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น คาดประกาศใช้ได้ ก.ย.นี้
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้พิจารณาถึงบทเรียนเรื่องการพัฒนาบุคลากรว่า จะมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้อาจารย์ที่ทำงานมานาน และได้ผลงานหรือตำแหน่งทางวิชาการแล้ว ยังคงทำผลงานวิจัยอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาสังเกตได้ว่าอาจารย์ส่วนใหญ่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะหยุดไม่ทำผลงานต่อ ซึ่งไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริง ดังนั้นที่ประชุมจึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปศึกษาเหตุผลว่าเกิดจากสาเหตุใด เช่น ค่าตอบแทนไม่ดี ไม่ให้ความสำคัญกับบุคคลเหล่านี้ หรือไปตอบแทนผู้ที่สอบมาก สอนเก่งเท่านั้น เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อหาทางสนับสนุนให้อาจารย์กลุ่มนี้มีไฟในการทำวิจัยและสร้างผลงานต่อไป พร้อมทั้งได้หารือเกี่ยวกับผลการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กับ ก.พ.อ.เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ใหม่ในการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมีข้อสังเกตมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ เช่น ระดับศาสตราจารย์ควรมีงานวิจัยร้อยละ 100 หรือไม่ เป็นต้น ซึ่งในเบื้องต้นหลักเกณฑ์ใหม่จะมีความยืดหยุ่นและหลากหลายมากขึ้น และจะมีการนำเสนอรายละเอียดเข้าที่ประชุม ก.พ.อ.พิจารณาอีกครั้งในเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ได้ภายในเดือนกันยายนนี้
นพ.ธีระเกียรติกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก ประจำปี 2017/18 (QS University Rankings 2017/18) โดยมีมหาวิทยาลัยไทยติดอับดับ 1 ใน 300 คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นๆ อยู่ในอันดับคงที่ สำหรับ 10 อันดับแรกของมหาวิทยาลัยระดับโลกยังคงเป็นมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษ เนื่องจากผลการประเมินครึ่งหนึ่งมาจากผลการสำรวจความเห็นเกี่ยวกับคุณภาพบัณฑิตในแต่ละประเทศของตนเองจากกลุ่มนักวิชาการที่ให้น้ำหนักร้อยละ 40 และนักธุรกิจที่ให้น้ำหนักร้อยละ 10 ซึ่งหากนำผลจากความเห็นมามากก็อาจไม่สอดคล้องกับข้อมูลจริง ขณะเดียวกันยังให้น้ำหนักการตีพิมพ์ผลงานวิจัยน้อยมากด้วย
“ผมไม่อยากให้คนตื่นเต้นกับเรื่องผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยมากนัก เพราะอาจเกิดการโจมตีว่ามหาวิทยาลัยไทยแย่ลงหรือห่วย ซึ่งจะเป็นปัญหาที่ต่อว่ากันไม่จบสิ้น ดังนั้นจึงอยากให้คิดถึงความเป็นจริงมากกว่า ไม่ดูแต่ผลการสำรวจเท่านั้น ซึ่ง ก.พ.อ.จะมีการศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดด้วย" รมว.ศธ.กล่าว.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 31 กรกฎาคม 2560