รายงานพิเศษ | คูปองพัฒนาครูหัวละ 10,000 เพื่อใคร??
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
รายงานพิเศษ | คูปองพัฒนาครูหัวละ 10,000 เพื่อใคร??วารินทร์ พรหมคุณ
คูปองพัฒนาครูหัวละ 10,000 เพื่อใคร??
"....เกิดปรากฏการณ์
ครูแตกตื่นกับ
คูปองครูหัวละ 10,000..."
โครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร หรือการพัฒนาตนเองตามความต้องการหรือจะเรียกว่า "คูปองครู"หัวละ10,000บาท ตามนโยบายเร่งด่วน! ของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณเบื้องต้นไว้แล้ว 4,000 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายจำนวนครู เข้าอบรมพัฒนาตามหลักสูตรที่ตัวเองต้องการในสถาบันฝึกอบรมต่าง ๆ จำนวน 400,000 คน ขณะที่ครูทั้งประเทศมีจำนวนกว่า 500,000 คน
...และมีครูสมัครเข้าอบรมพัฒนาผ่านเว็บไซต์ www.training.obec.go.th ร่วม 300,000 คนแล้ว
ขณะเดียวกันมีครูอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าระบบเพื่อสมัครอบรมหลักสูตรที่ตัวเองต้องการได้
ทั้งนี้ สำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา(สพค.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการจะต้องส่งหลักสูตรของสถาบันฝึกอบรมต่าง ๆ ส่งไปให้สถาบันคุรุพัฒนา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เป็นผู้รับรองหลักสูตรก่อนที่จะนำมาให้ครูได้เลือกตามความต้องการ ซึ่งขณะนี้มีหลักสูตรที่ผ่านการรับรองจากสถาบันคุรุพัฒนา แล้วกว่า 1,400 หลักสูตร
...และเพราะเป็นนโยบายเร่งด่วน..เร่งรีบ..จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ ครูแตกตื่นกับคูปองครูหัวละ 10,000 ต่อปีที่ให้เลือกช้อปปิ้งหลักสูตรอบรม...
ครูประสิทธิ์ ศรเดช - ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์
-------------------
"...มีข่าวว่าได้คูปอง 10,000 บาท
ต้องไปอบรมก็แห่ตามเพื่อนไป..."
"ครูประสิทธิ์ ศรเดช" ครูชำนาญการพิเศษ หัวหน้างานวิชาการโรงเรียนอนุบาลระยอง พูดถึงปรากฎการณ์นี้ว่าโดยหลักการเป็นแนวคิดที่ดี ครูมีโอกาสเลือกในการเข้ารับการอบรมตามความต้องการของตัวเอง เพราะครูจะต้องมีการพัฒนา ยังมีเรื่องของนวัตกรรม และเทคนิคใหม่ ๆ เข้ามา ครูต้องขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม จะได้นำมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และหากนำมาใช้ได้ผลจริง ๆ ก็ให้มีการพัฒนาต่อยอด แต่ที่สำคัญครูจะต้องอบรมตรงกับสิ่งที่ตัวเองจะต้องนำไปใช้ และตรงกับความต้องการของโรงเรียนด้วย
"ขณะนี้ครูบางคนไปอบรม ก็ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่ต้องการคืออะไร มีข่าวว่าได้คูปอง 10,000บาท ต้องไปอบรมก็แห่ตามเพื่อนไป บางครั้งไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิชาที่ตัวเองต้องนำมาใช้ก็มี ซึ่งจริง ๆ แล้วจะต้องอบรมให้ตรงกับศาสตร์หรือสาขาวิชาที่ตัวเองสอน อบรมเสร็จก็ต้องมาใช้พัฒนางานได้จริง และผลที่เกิดขึ้นคือนักเรียน ต้องได้รับประโยชน์สูงสุด ดังนั้น เมื่อมีการอบรมแล้วจะต้องมีการติดตามประเมินผล ให้คุ้มค่ากับเงินที่รัฐจัดสรรให้มา"
ครูประสิทธิ์ ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า สำหรับเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดระยอง ขั้นตอนเบื้องต้น จะต้องส่งรายชื่อครูที่จะไปอบรม ให้ ผอ.โรงเรียน กลั่นกรองก่อน แล้วจึงเสนอชื่อไปยังเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดระยอง พิจารณาอีกครั้ง เพราะทางเขตพื้นที่ฯ จะดูว่าหลักสูตรที่ครูขอไปอบรมพัฒนาเป็นอย่างไร เป็นหลักสูตรที่โรงเรียนต้องการให้ครูพัฒนาหรือไม่ ถ้าไม่จำเป็นทางเขตพื้นที่ฯ ก็จะไม่อนุมัติ...เพราะบางหลักสูตรค่าใช้จ่ายไม่ถึง 10,000บาท และไม่จำเป็นต้องเดินทางไปอบรมไกล ดังนั้นในเขตพื้นที่ฯ ระยองจึงไม่ได้อนุมัติให้ครูไปอบรมตามที่ยื่นขอมาทั้งหมด
"...ปัญหาของคูปองครูหัวละ 10,000
คือความเร่งรีบในการดำเนินการ..."
ด้าน ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)นครราชสีมา สะท้อนถึงสิ่งที่เป็นปัญหาของ "คูปองครูหัวละ 10,000" คือความเร่งรีบในการดำเนินการของนโยบายมากเกินไป ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ตั้งแต่กระบวนการรับรองหลักสูตร ซึ่งสถาบันคุรุพัฒนา ฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ จนถึงขณะนี้ยังไม่รู้ว่ามีสถานะ-โครงสร้าง-องค์ประกอบ รวมทั้งมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติหลักสูตรเป็นอย่างไร บางหลักสูตรพบว่า มีชื่อบุคคลเพียงคนเดียวเป็นผู้รับผิดชอบ สะท้อนให้เห็นว่าการพิจารณาอนุมัติหลักสูตรดำเนินการอย่างเร่งรีบ ทำให้ไม่มีความมั่นใจคุณภาพของหลักสูตร
และปัญหาที่เกิดขึ้นมากที่สุด ขณะนี้คือปัญหาระบบการลงทะเบียนของครู พบว่าหลายหลักสูตรถูกล็อกระบบ ทำให้ครูไม่สามารถเลือกสมัครอบรมตามที่ต้องเองต้องการได้ ส่วนการนำระบบฝึกอบรมมาบูรณาการกับการเลื่อนวิทยฐานะของครู จะส่งผลต่อพัฒนาการเด็กหรือไม่ ก็ยังไม่แน่ใจ เพราะมีปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวข้องอีกหลายอย่าง แต่ก็นับเป็นเรื่องดี ที่มีการปรับเปลี่ยนเพราะระบบการประเมินวิทยฐานะแบบเดิมมีปัญหามาก
"เรื่องที่ผมอยากฝากไปยังกระทรวงศึกษาธิการ คือต้องการให้สอบถามความต้องการในการฝึกอบรมของครู และผู้บริหารสถานศึกษาในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำมากำหนดเป็นประเด็นให้หน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ นำไปพัฒนาหลักสูตร เพื่อเสนอต่อสถาบันคุรุพัฒนา ซึ่งจะได้หลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของครู หรือสถานศึกษาในแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง และหลักสูตรฝึกอบรมควรมีเงื่อนไข เป็นหลักสูตรแบบ on the job training หรืออบรมช่วงปิดภาคเรียน เพื่อให้กระทบเวลาสอน ครูต้องไม่ทิ้งเด็ก"ผศ.ดร.อดิศร กล่าวทิ้งท้าย
หมายเหตุ : "สยามรัฐ"ได้รับข้อมูลจากครูสะท้อนถึงปัญหาและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับระบบการลงทะเบียนคูปองครูหัวละ 10,000 เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้รับทราบ..ซึ่งประมวลได้ดังนี้
ระบบค้นหาหลักสูตรอบรม ไม่มีการแยกหมวดหมู่ พอเห็นคอร์สน่าสนใจ เลือกคลิกเปิดเข้าไปอ่านรายละเอียด พอคลิกกลับก็เด้งไปเริ่มหน้าแรกใหม่ อุตส่าห์ไล่หามาตั้งไกลต้องกลับไปเริ่มชีวิตใหม่ แล้วคอร์สที่เลือกเมื่อสักครู่อยู่หน้าไหนก็ไม่รู้ เมื่อคลิกเลือกไปก็ขึ้นมาหมดทุกหลักสูตร ที่สำคัญ ควรมีตัวเลือกจังหวัด ให้ครูเลือกด้วย เพราะครูส่วนใหญ่ อยากอบรมจังหวัดใกล้ๆ ทั้งนั้น ไม่มีใครอยากเดินทางไกล
เมนูหน้าแรก/หน้าสุดท้าย กดคลิกก็ไม่ขยับเลื่อน ต้องคลิกไปทีละหน้าอยู่ดี เวลาคลิกขวาที่ชื่อหลักสูตร ควรให้มีเมนู New Tap เพื่อเปิดดูรายละเอียด โดยยังอยู่ในหน้าเว็บไซต์เดิมเพื่อจะได้เปรียบเทียบได้
ขณะที่บางหลักสูตรราคาดูโอเว่อร์เกินไป เช่น เรียนออนไลน์ตัวต่อตัว รับ 400,000 ที่นั่ง ที่นั่งละ 10,000 บาทนับนิ้วดูงบฯ 4 พันล้าน, อบรมผู้กำกับลูกเสือขั้นเบื้องต้น ถ้าผู้เข้าอบรมไม่ครบจะเปิดอบรมหรือไม่ หากมีผู้สมัคร10คนจะเปิดกองได้ไหม แล้วถ้าไม่เปิดอบรม ผู้ลงคอร์สจะเสียประโยชน์เสียหายเท่าไร, หลักสูตรสอนโปรแกรม word 2013 ค่าคอร์ส 10,000 บาท เห็นแล้วอึ้ง!ครูต้องใช้โปรแกรมขั้นเทพหรืออย่างไร โปรแกรม Word ถือเป็นพื้นฐานสำหรับวิชาชีพครู ซึ่งมีช่องทางที่เข้าถึงและเรียนรู้ได้ง่าย อีกทั้งโปรแกรมนี้พัฒนาไปไกลกว่าเวอร์ชั่น.2013 แล้วอย่างนี้ เป็นต้น
งานระดับชาติขนาดนี้ แต่ยามครูมีปัญหาสงสัยให้สอบถามทาง e-mail และ Line แต่ถามอะไรไปก็ไม่มีใครตอบ ระบบใหญ่ๆ ควรเปิด Call center เป็นศูนย์รับเรื่องจะดีกว่า ศธ.ตั้งเป้าให้ครู 4 แสนเข้าอบรม แต่ไม่มีอะไรรองรับ..บอกว่าเป็นของใหม่สำหรับท่าน มันก็เป็นของใหม่สำหรับครูเช่นกันตอนนี้ครูป่วนกันทั้งประเทศ
ถ้าระบบยังไม่เสถียร ยังไม่พร้อม ก็ควรปิดปรับปรุง แล้วค่อยเปิดใหม่แบบมีประสิทธิภาพ ใช้งานได้ดีจริง ก็อย่างที่ท่านกล่าวกันบ่อยๆ ว่าจะไม่เพิ่มภาระครู ไม่ทิ้งเด็ก ไม่ทิ้งห้องเรียน...อย่าทำเหมือนเล่นขายของเฮียนน้อย!!
เห็นปัญหาจากครู...
ก็อดสงสัยไม่ได้ที่กล่าวอ้างว่า
มีครูแห่ช้อปปิ้งหลักสูตรมากถึง 3 แสนคนแล้ว
เป็นตัวเลขจริงหรือไม่...
--------------
(ขอบคุณภาพประกอบจาก สพม.เขต 38 (สุโขทัย-ตาก) จัดเวิร์กช้อปการลงทะเบียนโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร คูปองครู 10,000 บาท แก่ข้าราชการครูในสังกัด / และภาพอินโฟกราฟิกจาก สพค.)
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 23 กรกฎาคม 2560