ครูดี-เก่งต่องเรียนกี่ปี
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ครูดี-เก่งต่องเรียนกี่ปีเกิดข้อถกเถียง “หลักสูตรการผลิตครู 5 ปี หรือ 4 ปี ดีกว่ากัน” มีทั้งฝ่ายเห็นด้วย และคัดค้าน?สุดท้ายก็ยังไม่สามารถสรุปได้ต้องไปทำมาตรฐานวิชาชีพมาพิสูจน์
วงการวิชาชีพครูระอุ..หลังคุรุสภายอมรับข้อเสนอของที่ประชุมสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (สคศท.)ขอให้กลับไปผลิตครูหลักสูตร 4 ปีตามเดิมที่เปลี่ยนจากหลักสูตร 4 ปี มา 5 ปี...เกิดข้อถกเถียง “หลักสูตรการผลิตครู 5 ปี หรือ 4 ปี ดีกว่ากัน” มีทั้งฝ่ายเห็นด้วย และคัดค้าน?อย่างหลากหลาย แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถสรุปได้ต้องไปทำมาตรฐานวิชาชีพมาพิสูจน์จากนั้นค่อยเลือกแนวทางที่เหมาะสม ติดตามได้กับ 0ชุลีพร อร่ามเนตร 0 qualitylife4444@gmail.com
ก่อนหน้านี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ. กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งเมื่อเร็วนี้ๆ พร้อมบอกถึงเป้าหมายว่า ระบบการผลิตครูใหม่ จะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2561 เพราะหากตกลงไม่ได้และต้องมี 2 ระบบ ก็จะต้องไม่ทำให้ผู้เรียนหลักสูตร 5 ปี และ 4 ปีได้รับผลกระทบ
"หากดูจากกรณีศึกษาในต่างประเทศจะพบว่าหากระบบไม่ลงตัว ก็สามารถมีหลายระบบได้ เพราะสุดท้ายแล้วก็ต้องมาวัดกันที่ผลผลิต โดยที่ประชุมได้มีการนำเสนอผลการวิจัยของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอารฺไอ) เกี่ยวกับการผลิตครูหลักสูตร 5 ปี ซึ่งพบว่า มีจุดอ่อนที่เน้นเนื้อหา ไม่ใช่สมรรถนะ เด็กต้องเสียเวลาเรียนเพิ่มขึ้น 1 ปี โดยมีผลวิจัยมาเทียบเคียงว่าเด็กที่จบหลักสูตร 5 ปี กับ 4 ปี มีคุณลักษณะไม่แตกต่างกัน และจากข้อมูลการผลิตครูพบว่า ในแต่ละปีมีการผลิตครูถึง 5 หมื่นคน โดยมีค่าใช้จ่าย 1 แสนบาทต่อคนต่อปี ฉะนั้นหากเด็กต้องเรียนเพิ่มขึ้น 1 ปีในหลักสูตร 5 ปี ทั้งเด็กและรัฐจะต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มกว่า 8 พันล้านบาท มีผู้แสดงความคิดเห็นว่าการผลิตครูขึ้นอยู่กันประบวนการ โดยยกตัวอย่างการผลิตครูตามโครงการคุรุทายาท ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตครูที่เข้มข้นโดยใช้ระยะเวลาเพียง 4 ปี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าคิดในการนำมาพิจารณาถึงกระบวนการผลิตครูที่ชัดเจนต่อไป ”
ขณะที่ รศ.ดร.ฤๅเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) ระบุว่าเสียงส่วนใหญ่ของ ทปอ.มรภ. ไม่เห็นด้วยที่สคศท.เร่งรัดดำเนินการเรื่องดังกล่าว อธิการบดีส่วนใหญ่ยังมองว่าที่ผ่านมาหลักสูตรครู 5 ปีไม่ได้มีปัญหาใดๆ ดำเนินไปด้วยความราบรื่น
“ที่ประชุมได้ให้ความเห็นและให้ข้อคิดกับสภาคณบดีฯว่า ควรจะเอาข้อมูลและงานวิจัยที่มีอยู่มาประมวลและสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะการผลิตครูเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องใช้ความรอบคอบ ที่ประชุมไม่มีการประกาศเจตนารมณ์หรือแสดงจุดยืนในเรื่องนี้ เพราะเหตุผลก็คือยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ ไม่กล้าที่จะชี้นำสังคม ซึ่งในทำนองเดียวกัน การประกาศจุดยืนของสภาคณบดีฯ จนถึงขั้นไปนำเสนอต่อสภาวิชาชีพนั้น ก็ควรที่จะต้องมีพื้นฐานจากงานวิชาการด้วย ”รศ.ดร.ฤๅเดช กล่าว
ล่าสุดวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา“สคศท.” ได้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับการผลิตครูหลักสูตร 5 ปี และ 4 ปี รวมถึงการสอบขอรับใบอนุญาติประกอบวิชาชีพ เพื่อให้ได้แนวทางในการดำเนินการปฏิบัติในปีการศึกษา 2561 ในวันที่ 13 ก.ค.2560 โดยมีรศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร (มศว) ในฐานะประธาน แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้แต่อย่างใด
รศ.ดร.สมบัติ นพรัก คณบดีวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา เปิดเผยหลังประชุมว่าที่ประชุมสคศท. มีมติว่าจะเสนอให้คุรุสภายืดระยะเวลาสอบสำหรับนิสิตนักศึกษาครูที่จบรหัสไปปี2557 สามารถไปสอบรหัสปี 2558 เนื่องจากขณะนี้มีการประกาศและนิสิตนักศึกษารหัสปี 2557 ทั้งผู้ที่จบปริญญาโท และป.บัณฑิต ไม่ได้สอบ
ดังนั้น ขอให้คุรุสภาให้ใบอนุญาติแก่นักเรียนนิสิตครู รหัส2557-2561 ได้รับใบประกอบวิชาชีพโดยอนุมัติแต่ต้องผ่านการสอบ ซึ่งการสอบดังกล่าวเพื่อเป็นการประเมินตัวเด็กและสถานศึกษา และได้ให้ สถาบันการผลิตครูได้นำผลการสอบมาประเมินครู นอกจากนั้น ให้นิสิตนักศึกษาที่จบครูปี 2562 ได้มาสอบในปี 2561 เพื่อนำผลการสอบเก็บไว้และมาขอใบ อนุญาตประกอบวิชาชีพ
“การผลิตครูหลักสูตร 5 ปี หรือ 4 ปี นั้น ที่ประชุมมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกัน ฝ่ายหนึ่งเห็นด้วยให้ใช้การผลิตครูหลักสูตร 5 ปีต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคณบดีคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎที่ยึดตามมติอธิการบดีมรภ. ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งนั้น เห็นควรว่าต้องปรับปรุงระบบการผลิตครู เป็นนวัตกรรมหลักสูตร 4 ปี เช่นเดียวกับนานาชาติ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าไม่มีประเทศไทยผลิตครูหลักสูตร 5ปี โดยกลุ่มที่ต้องการให้มีการผลิตครูหลักสูตร 4 ปี มีความเห็นเห็นสอดคล้องกับ นพ.ธีระเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ เห็นว่าสามารถมีระบบการผลิตครู 2 ระบบที่แตกต่างกันได้” รศ.ดร.สมบัติ กล่าว
ทั้งนี้ การผลิตครู 2 ระบบ เป็นเรื่องที่หลายประเทศดำเนินการอยู่ เพื่อเป็นโอกาสในการพัฒนาหลักสูตรให้มีความเข้มข้น และผู้เรียนได้มีทางเลือกมากขึ้นเช่น หลักสูตร 5 ปี จบออกมาได้เงินเดือนมากกว่า ส่วนหลักสูตร 4 ปี ได้ทำงานเร็วกว่า หากมีการผลิตครู 2 ระบบ ทั้งหลักสูตร 5 ปี และหลักสูตร 4 ปี จริง ก็จะต้องมีการดำเนินการเกี่ยวกับหลักสูตร 4 ปี ให้ชัดเจน โดยคุรุสภาต้องเป็นผู้กำหนดมาตรฐานวิชาชีพ และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ต้องกำหนดมาตรฐานกรอบคุณวุฒิให้สอดคล้องกับหลักสูตร 4 ปี
ทั้งนี้ ที่ประชุม สคศท. จะนำผลการประชุมดังกล่าวนำเสนอคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบมาตรฐานวิชาชีพครู ของคุรุสภา ซึ่งมีศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาก่อนนำเสนอรมว.ศึกษาธิการ
ดูท่าจะคงต้องรอให้ รมว.ศึกษาธิการ เป็นผู้ตัดสินว่าจะให้ใช้ 2 ระบบ ได้หรือไม่ และถ้าได้ หลังจากนี้ โฉมการผลิตครู คงหลากหลาย แล้วจะเกิดผลดี หรือผลเสีย อีกหรือไม่... คงต้องติดตามกันต่อไป
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 14 กรกฎาคม 2560