ร่างพ.ร.บ.การศึกษาชาติฉบับใหม่
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ร่างพ.ร.บ.การศึกษาชาติฉบับใหม่คกก.อิสระฯ เตรียมยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ใช้ร่าง พ.ร.บ.ฯ ปี 45 ที่ "มีชัย" เป็นประธานร่างมาเป็นฐาน พร้อมเห็นชอบบุคคลภายนอกเป็นกรรมการในคณะอนุฯ เพิ่มเติม และนำการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยเด็กพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงกลุ่มวิชาได้อย่างเข้มข้น
นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ว่าที่ประชุมได้หารือว่าจะมีการพิจารณายกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ใหม่ โดยจะยกเลิก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2545 รวมถึงแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 พ.ศ.2553 ด้วย เนื่องจากในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้กำหนดเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในหลายเรื่อง ดังนั้น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ในฐานะกฎหมายลูกก็จะต้องดำเนินการในสอดคล้อง โดยจะยึดร่างเดิมที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะอนุกรรมการปรับปรุง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เคยมีการดำเนินการไว้ส่วนหนึ่งแล้วเป็นฐานข้อมูล สำหรับเรื่องที่จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติใหม่ คือเรื่องการดูแลเด็กก่อนวัยเรียนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งจะต้องมีการจัดการดูแลเด็กตั้งแต่เกิด ก่อนเข้าเรียนจนถึงเข้าโรงเรียน ดังนั้นจึงต้องมีการร่วมมือกันในหลายฝ่าย ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เท่านั้น
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการเชิญบุคคลภายนอกเข้ามาเพิ่มเติมในคณะอนุกรรมการปฏิรูปการศึกษา 6 ชุด แล้ว ทั้งนี้ เมื่อได้องค์ประกอบครบแล้วก็จะแบ่งหน้าที่การทำงาน โดยโครงสร้างคณะกรรมการอิสระฯ จะมีความคล่องตัวสามารถยืดหยุ่น ดังนั้นเมื่อมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ รวมถึงการออกกฎหมายใด ก็สามารถทยอยนำเสนอรัฐบาลได้ทันที และเรื่องที่เป็นไปในเชิงที่สามารถปฏิบัติได้ทันทีก็จะส่งไปยัง ศธ.โดยตรง
ประธานคณะกรรมการอิสระฯ กล่าวอีกว่า ในที่ประชุม นางนราพร จันทร์โอชา รองประธานมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ได้เข้ามาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเห็นว่าระบบการศึกษาทางไกลสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ เพราะขณะนี้เรามีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กต่ำกว่า 120 คน ประมาณ 15,000 โรง และยังมีครูผู้สอนไม่ครบชั้น ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมจะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาและสร้างความเท่าเทียมได้อย่างแน่นอน และการเรียนแบบครูตู้ก็ไม่ใช่การเรียนแบบไม่มีชีวิตชีวา แต่ช่วยให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงวิชาในกลุ่มสาระต่างๆ อย่างเข้มข้น และจากที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เคยมีการนำร่องใช้ในโรงเรียนบางแห่งแล้วทำให้การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต สูงขึ้น ซึ่งที่ประชุมยังมอบให้คณะอนุกรรมการปฏิรูปการศึกษาด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนำเรื่องนี้เข้ามาสู่การปฏิรูปการศึกษา เช่น การดูแลเด็กเล็ก การพัฒนาครู เป็นต้น แม้ระบบการศึกษาทางไกลอาจยังไม่ใช่คำตอบที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาทั้งหมด แต่เชื่อว่าจะเติมเต็มระบบการศึกษา สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาได้อย่างแน่นอน.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 12 ก.ค. 2560