เกณฑ์วิทยฐานะใหม่ให้ครูอยู่ใกล้ชิดเด็ก
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
เกณฑ์วิทยฐานะใหม่ให้ครูอยู่ใกล้ชิดเด็ก5 กรกฎาคม 2560 วันแรกที่ประกาศใช้ หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ
ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่ ศธ 0206.3/ว 21 และยังมีบทเฉพาะกาลที่ดูแลสิทธิของครูทุกกลุ่ม โดยเฉพาะที่ยังอยู่ระหว่างกระบวนการตามหลักเกณฑ์เดิมไม่ให้ได้รับผลกระทบช่วงเปลี่ยนผ่าน หลังประกาศใช้เกณฑ์ใหม่ด้วย
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงห่วงใยต่อคุณภาพการศึกษาของชาติ และทรงมีพระราชหัตถเลขา เมื่อวันที่5ก.ค.2555ถึงการเลื่อนวิทยฐานะ ว่า ครูมุ่งเขียนงานวิทยานิพนธ์ เขียนตำราส่งผู้บริหาร เพื่อให้ได้ตำแหน่งและเงินเดือนสูงขึ้น ในหลวงรัชกาลที่9ทรงมีพระราชดำรัส ว่า ระบบนี้ไม่ยุติธรรม ต้องเปลี่ยน พระองค์ทรงเน้นว่า ครูที่สอนดีทั้งปริมาณและคุณภาพ ควรจะได้รับการตอบแทน นับจากนั้น5ปีผ่านมากระทรวงศึกษาธิกา (ศธ.)หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำแนวทางที่ในหลวงรัชกาลที่9 ทรงพระราชทานผ่านพระราชหัตถเลขาได้อย่างประสบความสำเร็จ”
นพ.ธีระเกียติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงข่าวการปรับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะและการพัฒนาข้าราชการครูแนวใหม่ “จากพระราชกระแสฯ ... สู่การพัฒนาครูทั้งระบบ”
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวด้วยว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะใหม่คราวนี้เป็นการปฏิรูปการศึกษาส่วนของพัฒนาครูครั้งใหญ่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ดำเนินการจัดทำข้อเสนอในเรื่องของการปฏิรูปครู และมั่นใจว่าหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะใหม่จะสามารถทำให้ครูอยู่ในพื้นที่ ครูที่ตั้งใจสอน ครูที่อยู่ในห้องเรียนจะได้รับการตอบแทนที่มีความเหมาะสมเป็นธรรม อีกทั้งที่ผ่านมามีการพูดกันตลอดว่าการประเมินวิทยฐานะทำให้ครูทิ้งห้องเรียน มีการคัดลอกผลงาน จ้างทำ หรือครูบางคนก็จ้างนักเรียนทำผลงาน ปัญหาบุคลากรทำหน้าที่ประเมินไม่เพียงพอเพราะครูมีทั้งหมด 4 แสนคน กรรมการประเมินจึงต้องใช้วนไปมา ทำให้การประเมินไม่ยุติธรรม และใช้งบประมาณในการประเมินค่อนข้างสูงปีละหลายพันล้านบาท เพราะฉะนั้นหลักเกณฑ์วิทยฐานะใหม่ที่มีการประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.นี้จะแก้ปัญหาดังกล่าว ครูที่ตั้งใจสอนเด็กในห้องเรียนจะได้รับการประเมินที่เป็นธรรม
สอดคล้องกับฝ่ายบริหารระดับเขตพื้นที่การศึกษาที่มองว่า การแก้ไขหลักเกณฑ์วิทยฐานะใหม่นี้ ศธ.และสำนักงาน ก.ค.ศ.เดินมาถูกทาง "นายเสนอ แสนคำ" รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เขต 3 บอกว่า ในอดีตการทำผลงานเพื่อขอมีหรือขอเลื่อนวิทยฐานะ หากจัดทำผลงานทางวิชาการ มีเนื้อหาถูกต้องและกรรมการตรวจประเมินให้ผ่านก็ถือว่าครู ผู้บริหารคนนั้นก็ได้รับวิยฐานะนั้นๆไป เช่น วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ก็ได้รับเงิน 5,600 บาท แต่ปัญหาคือผลงานเหล่านั้นไม่สัมพันธ์กับตัวเด็ก ขาดการต่อยอดนำมาสู่กระบวนการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครูและนักเรียน ขณะที่ยังมีชื่อเสียในเรื่องของขบวนการจ้างทำผลงาน หรือคัดลอกผลงานอีก ดังนั้น การปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่ โดยนำแนวทางที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานที่เน้นให้ครูได้อยู่ใกล้ชิดกับเด็กมากขึ้น แต่ก็ได้รับการประเมินที่เป็นธรรม ความก้าวหน้าของครูมาจากผลงานที่เกิดประโยชน์ต่อตัวเด็ก เป็นที่ประจักษ์ชัดตรงนี้ ถือว่า ศธ.และสำนักงาน ก.ค.ศ.เดินมาถูกทางแล้ว
“หลักเกณฑ์วิทยฐานะใหม่นี้จะทำให้ครูตื่นตัว และทุ่มเทกับการปฏิบัติการสอนมากขึ้น ใครไม่ทำงานคิดว่าจะทำแต่ผลงานวิชาการแบบในอดีตไม่ได้แล้ว ที่สำคัญในเกณฑ์ใหม่มีการกำหนดให้ครูที่จะขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ จะต้องทำบันทึกข้อตกลงกับผู้อำนวยการโรงเรียนด้วย เพราะจะเป็นผู้ประเมินครูในด้านการจัดการเรียนการสอนถ้าไม่ผ่านด้านนี้ ก็จะไปสู่ขั้นต่อไปไม่ได้ โดยเฉพาะครูที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจทุ่มเท เอาใจใส่เด็กอย่างแท้จริง เกณฑ์ใหม่นี้จะส่งผลโดยธรรมชาติ เพราะผู้บริหาร กรรมการสถานศึกษา ตลอดจนผู้ปกครอง ชุมชนจะมองเห็นว่าที่ผ่านมาครูทำอะไรบ้าง และเกิดผลต่อลูกหลานอย่างไร”นายเสนอ ระบุ
รองผอ.สพป.สุรินทร์ ยังบอกอีกว่า ปัจจุบัน สพป.สุรินทร์ มีโรงเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบ 234 แห่ง มีผู้บริหารและครูกว่า 3,000 คนซึ่งเกินครึ่งได้รับวิทยฐานะ ตนเองก็มีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ของผู้บริหารการศึกษา เช่นกัน ทั้งนี้ ขณะนี้หลักเกณฑ์วิทยฐานะใหม่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้วก็จะมีการซักซ้อมความเข้าใจแก่ผู้บริหารโรงเรียนและครู เนื่องจากในการประเมินไม่ใช่แค่การนับชั่วโมงปฏิบัติการสอน แต่ยังมีในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพอื่นๆด้วย
ส่วนของครูผู้สอน "นางพิทยา พีระวุฒิพันธุ์" วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านท่าตลาด อ.สามพราน จ.นครปฐม กล่าวว่า ส่วนตัวได้ศึกษาหลักเกณฑ์ใหม่อยู่บ้าง แต่จากที่พูดคุยกับครูคนอื่นๆ หลายคนจะรู้สึกกังวลใจ เช่น บางคนอยู่ระหว่างการยื่นขอประเมินตามหลักเกณณฑ์เดิม หรือคนที่กำลังเรียนปริญญาโท จะมายื่นขอวิทยฐานะเขาก็เกรงว่าจะกระทบสิทธิในเรื่องระยะเวลาหรือเปล่า ก็ได้ให้คำแนะนำว่าต้องมีการศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนก่อน
ทั้งนี้ ในกรอบการประเมินวิทยฐานะใหม่นั้น ให้มีการนับชั่วโมงการสอนอย่างระดับชำนาญการ/ชำนาญการพิเศษ ไม่น้อยกว่า 800 ชั่วโมง ูมองว่าถ้าเป็นครูที่สอนประถมศึกษาไม่ค่อยมีผลกระทบ เพราะส่วนใหญ่สอนทั้งวัน แต่กับครูมัธยมที่จะสอนเป็นรายวิชาหลัก การจะนับชั่วโมงอาจจะทำได้ยาก ตรงนี้ต้องดูในเงื่อนไขว่าสำนักงาน ก.ค.ศ.ระบุไว้อย่างไร แต่เท่าที่รู้จะกำหนดให้เหมาะสมกับบริบทของครูแต่ละสังกัด อย่างไรก็ตาม เวลานี้หลักเกณฑ์์ใหม่ประกาศใช้เป็นทางการแล้ว อยากขอให้สร้างความเข้าใจในเงื่อนไขต่างๆให้มากขึ้น เนื่องจากบางเรื่องต้องตีความ
สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะแบบใหม่นี้ ต้องมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง/วิทยฐานะ ในแต่ละระดับ คือ ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ ระดับละ5ปี มีจำนวนชั่วโมงการปฏิบัติงานและการปฏิบัติงานอื่น โดยชำนาญการ/ชำนาญการพิเศษ ไม่น้อยกว่า800ชั่วโมงต่อปี เชี่ยวชาญและเชี่ยวชาญพิเศษไม่น้อยกว่า900ชั่วโมงต่อปี,มีวินัย คุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ, ผ่านการพัฒนาตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด และ มีผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ การจัดการเรียนการสอน การบริหารจัดการชั้นเรียน และการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการประเมินเพราะผู้อำนวยการสถานศึกษา ทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินตามตัวชี้วัด ขณะเดียวกัน สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้จัดทำบทเฉพาะกาล กำหนดรายละเอียดการประเมินวิทยฐานะกรณีผู้ที่บรรจุก่อนวันที่ 5 ก.ค.2560 สามารถยื่นขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะตามแบบเดิมได้ 1 ครั้ง ภายใน 1 ปี ส่วนผู้ที่บรรจุหลัง วันที่ 5 ก.ค.2560 ให้ยื่นขอตามหลักเกณฑ์ใหม่เท่านั้น.
ทีมข่าวคุณภาพชีวิต qualitylife4444@gmail.com
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 6 กรกฎาคม 2560