ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 317/2560 ผลประชุมองค์กรหลัก 20 มิถุนายน 2560
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 317/2560
ผลประชุมองค์กรหลัก 20 มิถุนายน 2560
ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษาในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้รับทราบประเด็นข้อสั่งการจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งประเด็นที่ได้หารือในที่ประชุม ดังนี้
● การปรับเปลี่ยนให้กระทรวงศึกษาธิการดูแล สมศ. ส่วน ITD โยกให้กระทรวงพาณิชย์ดูแล
จากการที่นายกรัฐมนตรีได้มีดำริให้ทบทวนและพิจารณาความจำเป็นของหน่วยงานในกำกับของกระทรวงต่าง ๆ ที่มีอยู่ถึง 38 หน่วยงาน ซึ่งพบว่ามีหน่วยงานที่ต้องคงไว้ 32 แห่ง โดยไม่มีการเพิ่มบุคลากร และคณะรัฐมนตรีมีมติที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ เห็นชอบการปรับเปลี่ยนให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. มาอยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ และปรับเปลี่ยนให้สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD ไปอยู่ในกำกับของกระทรวงพาณิชย์
ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สมศ. ต่อไป
นายกรัฐมนตรีตระหนักว่ากระทรวงศึกษาธิการมีภารกิจที่ต้องเร่งดำเนินการมากมายในการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปการศึกษา จึงควรที่จะกำหนดตัวชี้วัดการทำงานของทุกหน่วยงานให้ชัดเจน โดยเฉพาะศึกษาธิการภาค และศึกษาธิการจังหวัด ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งใหม่ พร้อมทั้งขอให้ช่วยกันลดความขัดแย้ง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการตามแผนที่กำหนด และมุ่งทำงานที่ถึงตัวเด็กจริง ๆ เช่น การประสานเชื่อมโยงกับสถานประกอบการในพื้นที่ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนชั้น ม.3 ได้ฝึกงานฝึกประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง, การดูแลเด็กพิการให้ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงในทุกระดับทุกสังกัด เป็นต้น
นายกรัฐมนตรีได้รับมอบเอกสาร “การขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาสู่การปฏิรูปประเทศ” จากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งได้วิเคราะห์ศาสตร์พระราชาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่รัฐบาลและคนไทยควรถือเป็นกรอบทิศทางในการพัฒนาองค์ความรู้ของประเทศนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มีเนื้อหาประกอบด้วยหลักการ 4 เรื่อง ได้แก่ แนวคิด “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”, แนวคิดภูมิสังคม, หลักการทรงงาน 23 ข้อ, การสร้างคนด้วยการศึกษาและการเรียนรู้ พร้อมทั้งค้นพบว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะกลายเป็นปรัชญาหลักของโลกในอนาคต
ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศประสานกับทุกหน่วยงานในพื้นที่ทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ นำศาสตร์พระราชาเข้าสู่ระบบการศึกษาและเรียนรู้ เพื่อเป็นการให้ความรู้ที่จะติดตัวเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ไปจนเติบโต และเพื่อให้ศาสตร์พระราชาเป็นแกนในการขับเคลื่อนประเทศได้อย่างยั่งยืน
ที่ประชุมได้รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 ซึ่งมีมติแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งสำคัญ ดังนี้
รองประธานคณะกรรมการ ได้แก่ นางดารณี อุทัยรัตนกิจ และนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร
คณะอนุกรรมการ 6 ด้าน ได้แก่
- คณะอนุกรรมการเด็กเล็ก: นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ เป็นประธาน
- คณะอนุกรรมการกองทุน: นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน
- คณะอนุกรรมการครู มีนายวิวัฒน์ เป็นประธาน
- คณะอนุกรรมการการจัดการเรียนการสอน: นางยุวดี นาคะผดุงรัตน์ เป็นประธาน
- คณะอนุกรรมการโครงสร้าง: นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธาน
- คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสังคม: นายตวง อันทะไชย เป็นประธาน
โฆษกคณะกรรมการ ได้แก่ ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ และนางภัทรียา สุมะโน
ทั้งนี้ ได้มีการเปิดเฟซบุ๊คและไลน์ ใช้ชื่อว่า "ร่วมปฏิรูปการศึกษาไทย” เพื่อเป็นช่องทางในการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอต่อการปฏิรูปการศึกษาจากภาคส่วนต่าง ๆ
รมว.ศึกษาธิการ มอบหมายให้ รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ รับผิดชอบดูแลการปรับปรุงระบบฐานข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศของกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง เช่น สป. สพฐ. สอศ. สกอ. เพื่อให้มีฐานข้อมูลกลางด้านการศึกษาที่อยู่ในระบบเดียวกัน เชื่อมโยงถึงกัน มีความทันสมัย และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการทำงาน ขับเคลื่อนนโยบาย ตลอดจนจัดสรรงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการจัดการศึกษา โดยฐานข้อมูลต้องประกอบด้วยข้อมูล 4 ด้าน คือ ข้อมูลผู้เรียน, ข้อมูลครู, ข้อมูลสถานศึกษาทุกระดับ, ข้อมูลบุคลากร
ในเรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการมีความพยายามที่จะดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ไม่สำเร็จ เพราะฐานข้อมูลของแต่ละหน่วยงานอยู่คนละระบบกัน จึงเชื่อมโยงกันได้ยาก ครั้งนี้ถือเป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่ที่หวังผลให้นำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และหากมีความจำเป็นจริงอาจจะต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาช่วยวางระบบ โดยในส่วนของค่าใช้จ่ายจะรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อโรงเรียนและเด็ก
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบว่า ได้เตรียมจัดพิธีลงนามความร่วมมือการจัดการศึกษาทวิภาคีร่วมกับบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด ในวันที่ 23 มิถุนายน 2560 เวลา 13.39 น. เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาของ สอศ. กว่า 6 แสนคน ได้รับประสบการณ์การทำงานจริงในทุกสายงานในร้านไฮเปอร์มาร์ทขนาดใหญ่ (BigC) กว่า 800 สาขาทั่วประเทศ
จึงถือเป็นความร่วมมือในระบบทวิภาคีครั้งสำคัญ และตอบสนองแนวคิดของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ผู้เรียนอาชีวศึกษาได้รับประสบการณ์การทำงาน (Work Experience) จากสถานประกอบการจริง
ดร.กมล รอดคล้าย กล่าวด้วยว่า รมว.ศึกษาธิการได้ขอให้ดำเนินการเรื่องนี้ไปตามระเบียบและขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม และเมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงแล้ว หากพบประเด็นใดก็ต้องตั้งกรรมการสอบสวนต่อไปตามลำดับ ในส่วนของผู้ถูกกล่าวหา หากไม่ได้กระทำความผิดจริง ก็ขอให้ต่อสู้และพยายามพิสูจน์ตัวเองให้ได้ แต่หากพบว่าเรียกรับเงินจริง ก็ถือว่ามีความผิด ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีและกำกับดูแลควบคุมระบบการรับนักเรียน จะไม่ปกป้องใครทั้งนั้น
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
21/6/2560
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: เว็บไซต์กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 21 มิถุนายน 2560