LASTEST NEWS

11 ม.ค. 2568​​​​​​​สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดสอบพนักงานราชการ วุฒิปริญญาตรี เงินเดือน 18,000.- บาท สมัครได้ตั้งแต่ 16-22 มกราคม 2568 10 ม.ค. 2568(( รวมลิงก์ )) ประกาศตำแหน่งว่างรับย้ายครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านระบบ TRS ประจำปี พ.ศ. 2568 ครั้งที่ 1 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 10 ม.ค. 2568(( รวมลิงก์ )) ประกาศตำแหน่งว่างรับย้ายครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านระบบ TRS ประจำปี พ.ศ. 2568 ครั้งที่ 1 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ (ต่อ) 10 ม.ค. 2568“วันครู” ปีนี้ “ศธ.จัดเต็ม”รับของขวัญจาก 11 หน่วยงาน ทั้ง ลดภาระ ส่งเสริม พัฒนา ฟรีเรียนออนไลน์ 10 ม.ค. 2568ดาวน์โหลด แบบบันทึกข้อความ ชี้แจงกรณียื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตล่าช้าหลังจากวันที่ใบอนุญาตหมดอายุแล้ว 10 ม.ค. 2568ครูอุ้ม เชิญชวนศิษย์ทั่วไทย ร่วมระลึก “พระคุณครู” 16 มกราคมนี้ เชื่อเมื่อครูเปลี่ยนทันโลก ช่วยสร้างศิษย์ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ ได้แน่นอน  10 ม.ค. 2568ครูอุ้มใจดี มอบโล่รางวัลแก่เด็กดีเด่น-เด็กที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศ กว่า 1,292 คน เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ 2568 10 ม.ค. 2568อว.เตรียมผลิตครูพัฒนาท้องถิ่น เฟส 2 หลังเฟสแรกได้ครูรุ่นใหม่ ไฟแรง มีจิตวิญญาณ เก่ง ฉลาด แต่กว่าครึ่งมีจุดอ่อนด้านภาษา  09 ม.ค. 2568โรงเรียนเพชรพิทยาคม รับสมัครลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งพนักงานบริการ สมัครได้ที่  กลุ่มบริหารงานบุคคล โรงเรียนเพชรพิทยาคม ตั้งแต่วันที่  14 – 18 มกราคม พ.ศ. 2568  (ไม่เว้นวันหยุดราชการ 08 ม.ค. 2568สำนักงาน ก.พ. รับสมัครแข่งขันเพื่อเป็นบัญชีร่วม สำหรับให้ส่วนราชการใช้บรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ ประจำปี 2568 จำนวน 299 อัตรา ตั้งแต่บัดนี้ - 23 มกราคม 2568

ไล่บี้หัก “เงินเดือน” ใช้หนี้ กยศ.แก้ปัญหาชักดาบได้แค่ไหน

  • 20 มิ.ย. 2560 เวลา 21:09 น.
  • 14,938
ไล่บี้หัก “เงินเดือน” ใช้หนี้ กยศ.แก้ปัญหาชักดาบได้แค่ไหน

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

ไล่บี้หัก “เงินเดือน” ใช้หนี้ กยศ.แก้ปัญหาชักดาบได้แค่ไหน

    ปัญหารุ่นพี่ที่กู้เงิน กยศ. หรือกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาที่มีฐานะยากจนให้ศึกษาต่อจนจบปริญญาตรี แต่กลับชักดาบไม่ยอมใช้คืน เป็นปัญหาคาราคาซังมานาน โดยข้อมูลล่าสุด มีลูกหนี้ กยศ. ที่ไม่ยอมใช้หนี้ประมาณ 1.9 ล้านราย จากจำนวนผู้กู้เงินกองทุน กยศ. รวม 4.8 ล้านคน
       
       เรียกได้ว่า “คนเบี้ยวหนี้” ถือว่ามีเป็นจำนวนมาก และหากไม่ส่งเงินคืน ก็จะไม่มีเงินที่จะกลับไปหมุนเวียนสร้างโอกาสให้กับ “รุ่นน้อง” ที่จำเป็นต้องกู้ยืมเพื่อการศึกษาเช่นกัน

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเงินกู้ยืม กยศ.
        การทวงหนี้ที่ผ่านมา กยศ. ได้ใช้วิธีการฟ้องร้องคดี การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และยึดทรัพย์ผู้ที่หลีกเลี่ยง หรือไม่ติดต่อชำระหนี้ พร้อมปรับเกณฑ์ปล่อยเงินกู้ใหม่ โดยผู้กู้ต้องมีผลการเรียน 2.00 ตามนโยบายของ คสช. หวังคัดกรองผู้กู้ ทั้งยังเพิ่มความเข้มงวดสถานศึกษา - ผู้กู้ ทั้งของรัฐและเอกชน หากสถาบันการศึกษาใดมียอดค้างชำระหนี้มาก อาจถูกลดการจัดสรรงบเงินกู้ลง แม้ช่วงปี 2558 - 2559 แนวโน้มการชำระหนี้ กยศ. จะดีขึ้น แต่การเบี้ยวหนี้ก็ยังมีมากอยู่ดี
       
       มาตรการทวงหนี้ขั้นเด็ดขาดจึงบังเกิดขึ้น โดยมีการออก พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 ก.ค. 2560 ด้วยการกำหนดให้หน่วยราชการและบริษัทนิติบุคคล หักเงินเดือนข้าราชการ หรือพนักงานที่เบี้ยวไม่ยอมใช้หนี้กองทุน กยศ. เพื่อส่งคืนกระทรวงการคลัง
       
       โดยมาตรา 51 พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ระบุว่า ให้บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคลทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน มีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นพนักงาน หรือลูกจ้าง เพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ
       
       ถ้าผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามวรรคหนึ่งไม่ได้หักเงินได้พึงประเมินหัก และไม่ได้นำส่ง หรือนำส่งแต่ไม่ครบตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ หรือหัก และนำส่งเกินกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินรับผิดชดใช้เงินที่ต้องนำส่งในส่วนของผู้กู้ยืมเงินตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ และต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินยังไม่ได้นำส่ง หรือตามจำนวนที่ยังขาดไป แล้วแต่กรณี

ไล่บี้หัก “เงินเดือน” ใช้หนี้ กยศ.แก้ปัญหาชักดาบได้แค่ไหน
        นายปรเมศวร์ สังข์เอี่ยม ผู้อำนวยการฝ่ายคดีและบังคับคดี กยศ. ระบุว่า มาตรการดังกล่าวจะเริ่มจากลูกหนี้ กยศ. ที่เป็นข้าราชการก่อน ซึ่งมีประมาณ 100 - 200 หน่วยงาน รวมทั้งสิ้นประมาณ 2 แสนราย มูลหนี้ 80,000 ล้านบาท จากนั้นจะทยอยประสานบริษัทเอกชน เพื่อหักรายได้ของลูกจ้าง มั่นใจว่า จะช่วยลดยอดหนี้ค้างชำระได้ที่มีอยู่ร้อยละ 53 ของจำนวนลูกหนี้ค้างชำระทั้งหมด 1.9 ล้านคน มูลหนี้ 62,000 ล้านบาท
       
       การเป็นหนี้แล้วต้องใช้คืนเป็นเรื่องที่เหมาะสม แต่ นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ในฐานะที่ทำงานด้านสิทธิประโยชน์ของแรงงานลูกจ้างมานาน สะท้อนความเห็นว่า ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ห้ามมิให้นายจ้างหักเงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด แต่มีมาตรา 76 ที่ยกเว้น เช่น หักเพื่อชำระภาษีเงินได้ ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานฯ ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ เป็นเงินประกัน เงินสะสมตามข้อตกลง โดยที่ลูกจ้างให้การตกลงยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งการหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ กยศ. หากเข้าตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายคุ้มครองแรงงานก้คิดว่าสามารถทำได้ เพียงแต่ตนไม่เห็นด้วยที่มีการไล่บี้บังคับให้ต้องชำระหนี้ผ่านการหักเงินเดือน
       
       “ปัญหาคือนักศึกษาที่จบใหม่เข้ามาสู่ระบบการทำงาน ถามว่า เขามีงาน มีรายได้ที่มั่นคงแล้วหรือยัง หากหักจากเงินเดือนไปใช้หนี้จะกระทบกับการดำรงชีพหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายหากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันไม่พอ ก็อาจต้องไปกู้หนี้ยืมสินนอกระบบมาอีก ก็จะกลายเป็นปัญหาวนเวียนไม่รู้จบ แต่เห็นด้วยที่ว่าเมื่อกู้หนี้มาเรียนแล้วก็ต้องใช้คืน เพียงแต่ผู้จัดการกองทุนอาจลองหาวิธีอื่นดูหรือไม่” นายมนัส กล่าว
       
       ด้านนายอรรคพล ซื่อตรงเกียรติ พนักงานบริษัทเอกชน หนึ่งในผู้ที่กู้เงิน กยศ. แต่ยังคงชำระหนี้เป็นประจำทุกปี เล่าว่า ผู้ที่กู้เงิน กยศ. จะมีเงื่อนไขว่าเมื่อเรียนจบแล้ว 2 ปี ต้องเริ่มผ่อนชำระหนี้คืนให้หมดภายใน 15 ปี โดยผู้กู้ยืมต้องติดต่อชำระเงินคืนตามกำหนดภายในวันที่ 5 ก.ค. ของทุกปี โดยผู้กู้แต่ละคนก็มีอัตราการชำระเงินคืนที่ต่างกันออกไป ซึ่งตนก็ดำเนินการชำระหนี้เป็นประจำทุกปี เพราะมองว่าเมื่อกู้เงินมาเรียนแล้ว เมื่อมีรายได้ก็ควรใช้คืน เป็นการสร้างโอกาสให้รุ่นน้องได้กู้เงินต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนของพนักงานบริษัทคิดว่า หากเก็บเงินแต่ละเดือนไว้ เช่น เดือนละ 1,000 บาท ก็น่าจะสามารถชำระหนี้ในแต่ละปีได้ ส่วนมาตรการหักเงินเดือนลูกจ้าง และพนักงานเพื่อชำระหนี้ กยศ. นั้น ถามว่า จะแก้ปัญหาเรื่องการเบี้ยวหนี้ได้มากน้อยแค่ไหน และถามว่าจะบังคับทุกคนที่กู้ กยศ. หรือไม่ หรือบังคับเพียงเฉพาะผู้ที่เบี้ยวหนี้ กยศ. เท่านั้น
       
       “จริงๆ แล้วคนกู้ กยศ. ไม่ได้อยู่ในงานราชการ หรือเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือมีนายจ้างที่รับรายได้เป็นประจำอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีในส่วนของคนที่เป็นฟรีแลนซ์ หรือกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่แน่นอน เช่น เป็นผู้ค้าขาย เป็นต้น ถามว่า สัดส่วนของผู้ที่เบี้ยวหนี้อยู่ในกลุ่มไหนมากกว่ากัน ซึ่งหากอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้กินเงินเดือนประจำ มาตรการทวงหนี้เช่นนี้อาจจะไม่ได้ผลนักในภาพรวม เพราะสุดท้ายคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบของการจ้างงานก็ยังเบี้ยวหนี้อยู่ดี” นายอรรคพล กล่าว

ไล่บี้หัก “เงินเดือน” ใช้หนี้ กยศ.แก้ปัญหาชักดาบได้แค่ไหน
        นายอรรคพล เสนออีกว่า การใช้หนี้ กยศ. เป็นเรื่องสมควรที่ต้องดำเนินการ เพียงแต่อยากให้กองทุนพิจารณาถึงเรื่องการชำระหนี้ในแต่ละปีผ่านการหักเงินเดือนด้วยว่า จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตหรือไม่ เพราะปัจจุบันรายได้ของมนุษย์เงินเดือนแทบจะถูกสตาฟฟ์ไว้ ซึ่งสวนทางกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนใช้จ่ายแทบไม่พอในชีวิตประจำวัน ซึ่งแน่นอนว่า การหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ กยศ. ก็ต้องเพิ่มขึ้นทุกปี ตรงนี้จะสมดุลกันหรือไม่ คนที่ชำระหนี้ผ่านระบบนี้จะอยู่ได้หรือไม่ จึงอยากให้คำนึงถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นตรงนี้ด้วย
       
       “ปัจจุบันบางตำแหน่งงานจบปริญญาตรี สตาร์ทที่ 15,000 บาท แต่ก็พบเห็นหลายที่ที่เงินเดือนสตาร์ทเพียง 10,000 บาท ก็ยังมี ซึ่งหากต้องหักเงินเดือนออกไปเพื่อชำระหนี้ เชื่อว่า หลายคนน่าจะกระทบแน่นอน ซึ่งกังวลว่าจะกลับไปเจอปัญหาแบบเดิมหรือไม่ เพราะปัจจุบันที่คนไม่ยอมใช้หนี้ ส่วนหนึ่งเพราะมีรายได้น้อย หาเงินมาจ่ายไม่ทัน บางคนก็ไม่ทราบว่าต้องชำระ แต่ก้มีบางส่วนที่ไม่คิดจ่ายหนี้จริงๆ หลายคนก็ยอมให้ถูกฟ้องแล้วไปผ่อนผันชำระเอา ซึ่งการผ่อนจ่ายหนี้ในแต่ละเดือนก็จะเป็นภาระที่น้อยกว่าการเก็บเงินเพื่อจ่ายเป็นรายปี” นายอรรคพล กล่าว
       
       ส่วนความพร้อมของนายจ้างนั้น ในส่วนของภาครัฐที่จะเริ่มนำร่องก่อนตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. เป็นต้นไป นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ในเชิงระบบ หาก กยศ. ขอความร่วมมือมาก้สามารถดำเนินการได้ ไม่น่ามีปัญหาอะไร เหมือนกับตอนนี้ที่เราก็ร่วมมือกับธนาคารหรือสหกรณ์ ในการที่บุคลากรไปเป็นหนี้ก็หักเงินเดือนเป็นปกติอยู่แล้ว เพียงแต่ก่อนไปกู้ก็จะมีการเซ็นยินยอมให้หักเงินเดือนก่อน เช่นเดียวกันทาง กยศ.ก็ต้องติดต่อมา แล้วบุคลากรก็ต้องยินยอมให้หักเงินเดือน เราก็สามารถดำเนินการหักเงินเดือนเพื่อส่งชำระหนี้ กยศ. ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับกระบวนการต่างๆ คงต้องขอไปดูในรายละเอียดก่อน
       
       ส่วนภาคเอกชนนั้น นายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากมีกฎหมายที่อนุญาตให้สามารถหักเงินเดือนพนักงานเพื่อชำระหนี้ กยศ. อย่างถูกกฎหมาย ทางกลุ่มนายจ้างก็สามารถดำเนินการได้ และคิดว่าคงไม่ยุ่งยากอะไรนัก เพราะที่ผ่านมาก็มีการหักเงินลูกจ้างเพื่อนำส่งประกันสังคมอยู่แล้ว นอกจากนี้ สถานประกอบการบางแห่งยังมีการสอบถามพนักงานและทำเรื่องหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ กยศ. ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว ทั้งนี้ ทางผู้ประกอบการและนายจ้างก็พร้อมดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ เพราะเรื่องการชำระหนี้ กยศ. ถือเป็นเรื่องของความรับผิดชอบ และเป็นเรื่องจริยธรรม เมื่อกู้มาแล้วก็ต้องใช้คืน เพื่อให้มีเงินไปให้คนรุ่นหลังได้กู้เงินเพื่อการศึกษาต่อไป
       
       คงต้องจับตาดูว่ามาตรการไล่บี้ทวงหนี้ผ่านการหักเงินเดือน จะสามารถช่วยเพิ่มอัตราการชดใช้หนี้ กยศ. ได้เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด แต่ทาง กยศ. มั่นใจว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยลดยอดหนี้ค้างชำระที่มีอยู่ร้อยละ 53 ของจำนวนลูกหนี้ค้างชำระทั้งหมด 1.9 ล้านราย มูลหนี้ 6.2 หมื่นล้านบาท แต่สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ การหักจากเงินเดือนจะส่งผลต่อการดำรงชีพของ “มนุษย์เงินเดือน” มากน้อยเพียงใด
       
       จริงอยู่ว่าเป็นหนี้ต้องใช้คืน แต่การใช้คืนก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของการอยู่ได้ ท่ามกลางค่าครองชีพที่แพงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน อาจเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่ กยศ. อาจต้องให้คำตอบหรือมีแนวทางเพื่อช่วยเหลือให้คนใช้หนี้มีทางรอดด้วย

ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 19 มิถุนายน 2560 19:19 น. (แก้ไขล่าสุด 19 มิถุนายน 2560 19:43 น.)
  • 20 มิ.ย. 2560 เวลา 21:09 น.
  • 14,938

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

^