"ศิริราช"ใช้มีดนาโนรักษามะเร็งตับ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
"ศิริราช"ใช้มีดนาโนรักษามะเร็งตับ“ศิริราช” แห่งเดียวใช้ "มีดนาโน” รักษามะเร็งตับ-มะเร็งตับอ่อน ชี้แม่นยำสูง ผลข้างเคียงน้อย ไม่ทำลายเนื้อเยื่อและโครงสร้างร่างกายข้างเคียง อนาคตจะใช้ขยายผลเพื่อรักษาในอวัยวะอื่นๆ
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหดิล พร้อมด้วย รศ.นพ.พิพัฒน์ เชี่ยววิทย์ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา, ผศ.นพ.ตรงธรรม ทองดี หัวหน้าสาขารังสีวินิจฉัย และ นพ.สมราช ธรรมธรวัฒน์ อาจารย์แพทย์สาขารังสีวินิจฉัย ร่วมกันแถลงข่าว “แห่งเดียวในไทย ศิริราชรักษามะเร็งตับและมะเร็งตับอ่อนด้วยมีดนาโน” โดย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า รพ.ศิริราชมีการนำนวัตกรรมมีดนาโนมาใช้รักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะมะเร็งตับและตับอ่อน ถือเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในระยะ 3 ปี ได้ทำการรักษาผู้ป่วยมาแล้ว 20 ราย พบว่าได้ผลดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม มีดนาโนเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงอีก ทั้งยังไม่ครอบคลุมสิทธิ์การรักษาของภาครัฐ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าต้องรับการรักษาด้วยวิธีการนี้ แล้วไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายเอง ก็จะมีการใช้เงินช่วยเหลือจากโครงการรักษาผู้ป่วยด้อยโอกาส เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งนี้ ประชาชนที่มีความประสงค์จะร่วมช่วยเหลือผู้ป่วยให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลมากขึ้น โดยสามารถติดต่อบริจาคได้ที่ศิริราชมูลนิธิ โทร.0-2419-7658-60
ผศ.นพ.ตรงธรรมกล่าวว่า มะเร็งตับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในชายไทย และเป็นอันดับ 5 ในเพศหญิง การรักษาขึ้นกับระยะของโรค ซึ่งแนวทางการรักษามะเร็งตับที่ดีที่สุดคือการผ่าตัด แต่ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้จะได้รับการรักษาด้วยวิธีการทางรังสีร่วมรักษา (interventional radiology) ได้แก่ การจี้ก้อนเนื้องอกเฉพาะจุด (tumor ablation) การให้ยาเคมีบำบัดผ่านทางสายสวนหลอดเลือด (transarterial chemoembolization; TACE) เป็นต้น สำหรับการรักษาด้วยการจี้ก้อนเนื้องอกด้วยเข็มที่ให้ความร้อน ปัจจุบันเทคโนโลยีที่นิยมใช้คือ การให้ความร้อนจากคลื่นวิทยุ (radiofrequency ablation; RFA) และการให้ความร้อนจากคลื่นไมโครเวฟ (microwave ablation) วิธีนี้เหมาะกับก้อนเนื้องอกที่มีขนาดไม่เกิน 5 ซม. ซึ่งได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง อย่างไรก็ตาม การจี้ก้อนเนื้องอกโดยการใช้เข็มให้ความร้อนยังมีข้อจำกัดคือ ไม่สามารถรักษาเนื้องอกได้ในทุกตำแหน่ง จึงเกิดนวัตกรรมใหม่ขึ้น เรียกว่า การจี้ก้อนเนื้องอกด้วยมีดนาโน (Nanoknife)
นพ.สมราชกล่าวว่า การจี้ก้อนเนื้องอกด้วยมีดนาโน หรือไฟฟ้าความต่างศักย์สูง (irreversible electroporation; IRE) ใช้รักษาในผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กกว่า 5 มม. และอยู่ชิดหลอดเลือดหรือท่อน้ำดีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ และเป็นมะเร็งในระยะไม่ลุกลาม โดยการจี้ก้อนเนื้องอกใช้เข็มขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 มม. อย่างน้อย 2 เล่ม สูงสุดไม่เกิน 6 เล่ม ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าความต่างศักย์สูงถึง 3,000 โวลต์ ไหลผ่านเซลล์เนื้องอก ส่งผลให้เกิดรูขนาดเล็กจำนวนมากที่เยื่อหุ้มเซลล์แบบถาวร ซึ่งจะทำให้เซลล์ตายโดยธรรมชาติ มีความแม่นยำสูง มีอาการแทรกซ้อนเพียงเล็กน้อยโดยผู้ป่วย จะมีแผลขนาดเล็ก พักฟื้นที่โรงพยาบาล 1 คืนก็สามารถกลับบ้านได้เลย
“การใช้มีดนาโนจะไม่ทำลายเนื้อเยื่อและโครงสร้างร่างกายข้างเคียง ขณะที่การรักษาด้วยการจี้ความร้อนแบบเดิมมีข้อจำกัดในก้อนเนื้องอกที่อยู่ชิดกับหลอดเลือดและท่อน้ำดี อาจเกิดผลการรักษาที่ไม่ดีขึ้นได้ เพราะความร้อนที่ใช้สามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บแก่หลอดเลือดหรือท่อน้ำดีได้ ทั้งนี้ มีข้อจำกัดในการรักษาด้วยมีดนาโนจะไม่พิจารณาให้การรักษาในผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ก้อนเนื้องอกที่อยู่ใกล้หัวใจ เนื่องจากกระแสไฟฟ้าที่เข้าไปจะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ รวมถึงก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่เกิน 5 มม. มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงเฉลี่ย 1.5-2 แสนบาท ทั้งนี้ จากการศึกษาสามารถใช้รักษาเนื้องอกในอวัยวะอื่นได้ ซึ่งในอนาคต รพ.ศิริราชอาจจะมีการขยายผลขอบเขตการรักษาต่อไป” นพ.สมราชกล่าว.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 21 มิถุนายน 2560