งบปี 61 ศึกษาฯแชมป์ 5 แสนล้าน-มท.3.5 แสนล้าน
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
งบปี 61 ศึกษาฯแชมป์ 5 แสนล้าน-มท.3.5 แสนล้านผู้จัดการรายวัน360 - สนช.เตรียมถกงบปี 61 วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท วันที่ 8 มิ.ย.นี้ รัฐบาลมั่นใจ ศก.ไทยสดใสโต 4.3% ศธ.ครองแชมป์รับงบเยอะสุด 5 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นมหาดไทย 3.5 แสนล้าน
วันที่ 8 มิ.ย.นี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท เพื่อลงมติรับหลักการใน วาระที่ 1 ตามที่ ครม.เสนอ โดยมีสาระสำคัญ คือ ภาพรวมแนวโน้ม ศก.ไทยในปี 60 มีแนวโน้มขยายตัว 3.3-3.8% ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัว 3.2% ในปี 59 ส่วนในปี 61 คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 3.3-4.3% การส่งออกสินค้าและบริการ ตามภาวะเศรษฐกิจ และ ปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
ในจำนวนงบรายจ่าย 2.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 18% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 2.1 ล้านล้านบาท รายจ่ายลงทุนจำนวน 6.5 แสนล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 8.6 หมื่นล้านบาท โดยลดลงจากปี 60 จำนวน 23,000 ล้านบาท หรือลดลง 0.8%
ทั้งนี้ มีการประมาณการรายได้สุทธิ 2.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 15.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และกำหนดวงเงินกู้ เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมฯ ซึ่งการขาดดุลงบประมาณดังกล่าว ยังอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยและฐานะการคลังของประเทศ
ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์ ซึ่งมีด้วยกัน 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1. ด้านความมั่นคง 273,954 ล้านบาท 2. ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 476,596 ล้านบาท 3. ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 575,709 ล้านบาท 4. ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างการเติบโตจากภายใน 332,584 ล้านบาท 5. ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 125,459 ล้านบาทและ 6. ด้านการปรับสมดุล และพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 784,210 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดสรรงบประมาณไว้ในรายการค่าดำเนินการภาครัฐ 331,485 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่า ใช้จ่ายในการรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมาย สำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ แบ่งเป็นแผนงานบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉิน 70,666 ล้านบาท และแผนงาน บริหารจัดการหนี้ภาครัฐ 260,819 ล้านบาท
สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.กระทรวงศึกษาธิการ 510,961 ล้านบาท 2. มหาดไทย 355,995 ล้านบาท 3. คลัง 238,356 ล้านบาท 4. กลาโหม 222,436 ล้านบาท และ 5. คมนาคม 172,876 ล้านบาท.
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา