เล็งออก"ข้อสอบกลาง"ภาคก.คัดครู
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
เล็งออก"ข้อสอบกลาง"ภาคก.คัดครูก.ค.ศ.เตรียมหาหน่วยงานกลาง อาจเป็น สทศ. หรือมหาวิทยาลัย ออกข้อสอบภาค ก. สอบครูผู้ช่วย เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เหมือนของ ก.พ. "พินิจศักดิ์" ลั่นต้องเสร็จภายในปี 60 เพื่อใช้สอบคัดเลือกครูผู้ช่วยปี 61
นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาฯ ก.ค.ศ.) กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการปรับหลักเกณฑ์การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ตามที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ต้องการให้มีหน่วยงานกลางมาออกข้อสอบในส่วนของภาค ก. ความรอบรู้ ความสามารถทั่วไป ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรมและอุดมการณ์ของความเป็นครู เพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เหมือนกับการสอบข้าราชการพลเรือนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นั้น และ ก.ค.ศ.ก็สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 16/2560 เรื่องการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้อ 8 ระบุว่า ให้ ก.ค.ศ.เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบแข่งขันครูผู้ช่วย
นายพินิจศักดิ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ก.ค.ศ.กำลังดำเนินการและรวบรวมข้อมูล หาหน่วยงานกลางที่ได้มาตรฐาน ซึ่งอาจไม่ใช่สำนักงาน ก.ค.ศ.ก็ได้ มาเป็นผู้ดำเนินการออกข้อสอบและจัดสอบในภาค ก. แต่หน่วยงานนั้นจะต้องมีความเชี่ยวชาญและได้มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษาและมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) มหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้น เพราะการมีหน่วยงานกลางมาทำหน้าที่ออกข้อสอบ จะทำให้ข้อสอบและการสอบมีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ โดยคาดว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุม ก.ค.ศ. วันที่ 16 มิถุนายนนี้ เพื่อให้การกำหนดหลักเกณฑ์การสอบครูผู้ช่วยรูปแบบใหม่ดังกล่าวพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 เพื่อเริ่มใช้ในการคัดเลือกครูผู้ช่วยปี 2561
"ในหลักการเบื้องต้นผู้ที่สอบผ่านภาค ก. จะถือผลสอบไปสมัครตามหน่วยงานที่ ก.ค.ศ.มอบหมายให้เป็นผู้จัดสอบ เช่น คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และผลสอบภาค ก. มีแค่ผ่านกับไม่ผ่านเท่านั้น ส่วนจะตัดสินว่าผู้สอบได้คะแนนอันดับที่เท่าไหร่ อยู่ที่การสอบภาค ข. ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง และภาค ค. สอบสัมภาษณ์ ความเหมาะสมกับตำแหน่งและวิชาชีพ ทั้งนี้ หากในอนาคตมีการพัฒนาไปจนถึงให้สถานศึกษาเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกครูเอง โดยให้ผู้ที่สอบผ่านภาค ก. ที่ส่วนกลางได้จัดสอบนำผลการสอบผ่านภาค ก. ไปแสดง เพื่อเป็นคุณสมบัติที่สามารถเข้าสอบคัดเลือกกับทางโรงเรียนที่จัดสอบได้ จะทำให้สถานศึกษาที่เป็นหน่วยงานใช้ครูได้ครูที่ตรงกับความต้องการ รวมถึงลดเรื่องการครูขอย้าย เพราะผู้สอบสามารถเลือกได้เองว่าอยากจะไปเป็นครูที่ไหน” เลขาฯ ก.ค.ศ.กล่าว.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 29 พฤษภาคม 2560