คุรุสภารับลูกเร่งทำมาตรฐานวิชาครูใน 2 เดือน
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
คุรุสภารับลูกเร่งทำมาตรฐานวิชาครูใน 2 เดือนคุรุสภารับลูกเร่งทำมาตรฐานวิชาครูใน2เดือน/ให้สกอ.ส่งต่อมหาวิทยาลัยผลิตตามต้นแบบ
นายกฯ แนะ ศธ.นำโมเดลผลิตครูของสิงคโปร์มาเป็นแบบอย่าง ด้านคุรุสภารับลูก เร่งทำมาตรฐานครูเสร็จภายใน 2 เดือน จากนั้นให้ สกอ.ส่งไม้ต่อให้มหาวิทยาลัยที่ผลิตครูไปจัดการเรียนการสอนตามมาตรฐานที่คุรุสภากำหนด หาทางแก้เด็กไม่นิยมเรียนสายอาชีพ โดยให้ สพฐ.จัดกระบวนการให้เด็กรู้เส้นทางอนาคต 4 แนวทาง อาจให้เด็ก ม.3 ฝึกงาน 2 สัปดาห์ เริ่มเทอม 2 ปีนี้
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.นั้น นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงเรื่องการพัฒนาครู เนื่องจากนายกฯ ได้เดินทางไปราชการที่ประเทศสิงคโปร์ และได้รับรายงานว่าประเทศสิงคโปร์มีสถาบันผลิตครูแห่งเดียว และมีมาตรฐานการผลิตครูแห่งเดียว รวมถึงการอบรมพัฒนาครูจะเหมือนกันทั้งประเทศ ดังนั้น ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกฯ จึงเสนออยากให้ประเทศไทยทำมาตรฐานเดียวแบบสิงคโปร์มาใช้ได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้ รมว.ศธ.ได้มอบให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภารับไปดำเนินการแล้ว โดยที่ผ่านมาคุรุสภาได้เตรียมจัดทำมาตรฐานการผลิตครูของประเทศไทยไว้แล้ว ดังนั้นคุรุสภาจะเร่งดำเนินการจัดทำมาตรฐานดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน และเมื่อจัดทำมาตรฐานครูเสร็จสิ้น คุรุสภาจะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปดำเนินการ เพื่อให้มหาวิทยาลัยที่ผลิตครูต้องจัดการเรียนการสอนตามมาตรฐานที่คุรุสภากำหนด เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านมาอยู่ในรูปแบบต่างคนต่างทำกันเอง
นายกมลกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ นายกฯ ยังพบว่าในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศสิงคโปร์นั้น เด็กจะรู้จักเส้นทางการเรียนตั้งแต่เด็ก คือเด็กจะรู้ว่าในอนาคตตัวเองจะเลือกตามความถนัดในระดับอุดมศึกษาหรือสายอาชีพ เนื่องจากประเทศสิงคโปร์มีระบบบังคับการเลือกเรียนให้กับเด็ก คือจะมีการสอบวัดผล หากเด็กคนใดสอบผ่านก็จะสามารถเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้ แต่ถ้าไม่ผ่านต้องเรียนในสายอาชีพ แต่สำหรับประเทศไทยคงไม่สามารถใช้ระบบการบังคับแบบนั้นได้ ที่ประชุมจึงมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คิดกระบวนการให้เด็กรู้เรื่องเส้นทางอนาคตของตัวเองตั้งแต่เด็ก โดยมีแนวทาง 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.การจัดระบบแนะแนว 2.จัดทำหลักสูตรเสริมให้เด็กที่เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ออกไปฝึกประสบการณ์อย่างน้อย 2 สัปดาห์ในสถานประกอบการ เช่น โรงพยาบาล โรงงาน สถานีตำรวจ ตามที่เด็กสนใจ เป็นต้น เพื่อให้เด็กรู้ความต้องการของตัวเองว่ามีความถนัดแบบไหน ชอบหรือไม่ชอบ และหลักสูตรนี้ต้องเป็นหลักสูตรบังคับด้วย 3.มีระบบเสริมอาชีพในโรงเรียน เช่น การทำโรงเรียนกีฬา โรงเรียนดนตรี และ 4.ขอให้โรงเรียนขยายโอกาสปรับการสอนอาชีพให้มากขึ้น สำหรับหลักสูตรบังคับฝึกประสบการณ์วิชาชีพของเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 3 นั้น จะเริ่มดำเนินการทันทีในภาคเรียนที่ 2/2560
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
อ้างอิงแหล่งที่มาจาก :: สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ