สตง.แฉ 2 พันหลักสูตรมหาวิทยาลัยรัฐด้อยคุณภาพ!
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สตง.แฉ 2 พันหลักสูตรมหาวิทยาลัยรัฐด้อยคุณภาพ!ทีมล่าความจริง
ปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาไทย โดยเฉพาะหลักสูตรการเรียนการสอนไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับการรับรอง จนส่งผลต่อคุณภาพบัณฑิตที่จบออกมา ถือเป็นวาระแห่งชาติวาระหนึ่งที่รัฐบาล คสช.ให้ความสำคัญ และได้ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 39/2559 ออกมาจัดระเบียบและแก้ไขปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ดูจะไม่ค่อยรวดเร็วทันใจทั้งๆ ที่ใช้อำนาจพิเศษแล้วก็ตาม
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ กกอ. ก็เปิดข้อมูลว่ามีมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีปัญหาถูกร้องเรียนเรื่องหลักสูตรไม่เป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. จำนวน 10 แห่ง
แต่ปัญหา “หลักสูตรด้อยคุณภาพ” ไม่ได้มีเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนเท่านั้น เพราะล่าสุดมหาวิทยาลัยของรัฐในสังกัดของ สกอ.เองก็ถูกตรวจสอบและพบว่ามีปัญหาเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานเช่นกัน โดยข้อมูลนี้ถูกเปิดเผยโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ที่ทำหนังสือแจ้งไปยังเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อให้ทราบถึงผลการตรวจสอบหลักสูตรและการเปิดรับนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาในสังกัด สกอ. และพบปัญหาหลักๆ 2 ประการ คือ หลักสูตรไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน และการรับนักศึกษาไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด
แน่นอนว่าทั้ง 2 ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาและคุณภาพของบัณฑิตที่จบการศึกษาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะหลักสูตรในกลุ่มศึกษาศาสตร์และครุศาสตร์
ปัญหาการรับนักศึกษาไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด / สตง.ระบุว่าได้เปรียบเทียบแผนและผลการรับนักศึกษาหลักสูตรศึกษาศาสตร์ และหลักสูตรครุศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 60 แห่ง จากทั้งหมด 84 แห่ง พบว่ามีสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 31 แห่ง 63 หลักสูตรที่รับนักศึกษามากกว่าแผนที่กำหนด บางหลักสูตรรับนักศึกษามากกว่าแผนกว่าร้อยละ 100 คือมากกว่า 100% โดยเฉพาะหลักสูตรระดับปริญญาโท สาขาการบริหารการศึกษา
นอกจากนี้ ยังมีสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งไม่รายงานแผนและผลการรับนักศึกษา หรือรายงานไม่ครบถ้วนทุกหลักสูตร ทำให้สถาบันอุดมศึกษามีผลการดำเนินงานหลักสูตรไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ส่งผลต่อนักศึกษาไม่ได้รับการอนุมัติใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
ปัญหานี้มีปรากฏเป็นรูปธรรรมแล้ว ดังที่ทีมล่าความจริงได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักศึกษาหลักสูตรศึกษาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี ที่เรียนจบหลักสูตร 5 ปี แต่กลับไม่ได้รับใบประกอบวิชาชีพครู จนเป็นข่าวเกรียวกราวเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยเลขาธิการครุสภาชี้แจงว่า เป็นเพราะหลักสูตรไม่ได้รับการรับรองจาก สกอ. และครุสภาตั้งแต่ต้น
ส่วนปัญหาหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานนั้น สตง.พบว่า ผลการดำเนินงานหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาที่ส่งรายงานเมื่อเดือนตุลาคม 2559 จำนวน 150 แห่ง จากทั้งหมด 154 แห่ง มีการรายงานผลการดำเนินงานหลักสูตรจำนวนทั้งสิ้น 8,949 หลักสูตร มีหลักสูตรไม่เป็นไปตามมาตรฐานจำนวน 2,030 หลักสูตร และมีสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งรายงานผลการดำเนินงานไม่ครบถ้วนทุกหลักสูตร จึงมีผลกระทบต่อการรับรองคุณวุฒิเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบวิชาชีพเช่นกัน
จากตัวอย่างหลักสูตรตกมาตรฐานที่มีนักศึกษาออกมาร้องเรียนนายกรัฐมนตรี ซึ่งการอนุมัติหลักสูตรเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ทำให้ สตง.เสนอให้กำหนดมาตรการลงโทษสภาของสถาบันอุดมศึกษา ทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัย หากมีการอนุมัติหลักสูตรไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน และรับนักศึกษามากกว่าแผนที่กำหนด
ข้อเสนอให้ดำเนินการทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัย กับสภามหาวิทยาลัย ถือเป็นมาตรการใหม่ที่น่าจับตา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ รัฐกรณ์ คิดการ ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย บอกว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของ สตง. แต่ที่น่าแปลกใจคือ ทำไมต้องให้ สตง.เป็นผู้เสนอ ทั้งที่ กกอ.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจหน้าที่ที่ต้องดำเนินการอยู่แล้วตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 39/2559 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนในข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 7 ให้อำนาจทั้งการยับยั้งการรับนิสิต นักศึกษา ปิดหลักสูตร และยุติการจัดการศึกษา รวมถึงให้สถาบันอุดมศึกษาดำเนินการทางอาญา ทางละเมิด และทางวินัย กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดหลักสูตรด้อยคุณภาพด้วย
ดังนั้น คณะกรรมการการอุดมศึกษาจึงไม่ควรทำแค่เปิดเผยรายชื่อมหาวิทยาลัยที่เข้าข่ายความผิดในการเปิดหลักสูตรไม่ได้มาตรฐานเท่านั้น แต่ต้องสั่งให้หยุดรับนักศึกษา ปิดหลักสูตร ยุติการจัดการศึกษา และต้องดำเนินการเอาผิดทางอาญา ทางละเมิด เพื่อชดใช้ให้กับนักศึกษาด้วย เพราะเรื่องนี้กระทบทั้งกับตัวนักศึกษา สังคม และประเทศชาติ หากไม่ดำเนินการอาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ท่าทีของ สกอ.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องนี้ ถือว่าเป็นมาตรวัดความจริงใจในการแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในรั้วอุดมศึกษาไทย...ว่าต้องปฏิรูปให้ประสบผลสำเร็จ...หรือแค่ซุกขยะไว้ใต้พรม
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: now26.tv วันที่ 21 เมษายน 2560