5 มหาวิทยาลัยดังภาคใต้ร้อง รบ.กำหนดเกณฑ์การสอบ “ขรก.ครู-ครูผู้ช่วย” ให้ชัดเจน
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
5 มหาวิทยาลัยดังภาคใต้ร้อง รบ.กำหนดเกณฑ์การสอบ “ขรก.ครู-ครูผู้ช่วย” ให้ชัดเจนศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - คณบดีด้านการผลิตครูจาก ม.อ. ม.หาดใหญ่ ม.ทักษิณ มรภ.ยะลา และ มรภ.สงขลา ไม่เห็นด้วยต่อวิธีการรับสมัครบุคคลเข้ามาเป็นข้าราชการครู และครูผู้ช่วยโดยไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ชี้นโยบายนี้ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมสำหรับบัณฑิตวิชาชีพครู 5 ปี และเรียกร้องให้คุรุสภา ดูแลบุคลากรครูของประเทศอย่างจริงจัง
วันนี้ (12 เม.ย.) คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดเสวนา หัวข้อ “เส้นทางวิชาชีพครูจะไปทางไหน” เพื่อทบทวนมติการแก้ไขหลักเกณฑ์ และวิธีการสอบแข่งขันครูผู้ช่วย ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 3/2560 เมื่อวันจันทร์ที่ 20 มีนาคม 2560 ได้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การบุคคลเพื่อบรรจุ และแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สำหรับผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตปฏิบัติการสอนที่คุรุสภาออกให้ สามารถสมัครสอบแข่งขันได้
โดยมีคณบดีคณะศึกษาศาสตร์จาก 5 สถาบันการศึกษาในภาคใต้ เข้าร่วมการเสวนาประกอบด้วย ผศ.ดร.เอกรินทร์ สังข์ทอง คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง คณบดีคณะศึกษาศาสตร์และศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ผศ.ดร.เรวดี กระโหมวงศ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ผศ.ดร.กฤษฎา กุณฑล คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และ ผศ.ดร.ฆนัท ธาตุทอง อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนากว่า 400 คน
การเสวนาได้กล่าวถึงกรณีการสอบครูผู้ช่วย ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีการปรับเปลี่ยนให้บุคคลที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี 4 ปี ซึ่งไม่มีใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพครู สามารถสอบแข่งขันได้เนื่องจากต้องการลดปัญหาการขาดแคลนครู และต้องการคนเก่งในสาขาวิชาโดยตรงนั้น ผศ.ดร.เอกรินทร์ สังข์ทอง คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า คณบดีคณะศึกษาศาสตร์และคณะครุศาสตร์ที่เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ ต่างผิดหวังต่อนโยบายดังกล่าว แม้คณบดีบางคนจะเห็นด้วยในเชิงนโยบาย แต่ทุกคนไม่เห็นด้วยในวิธีปฏิบัติในการรับสมัครบุคคลเข้ามาเป็นข้าราชการครู และครูผู้ช่วย โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตปฏิบัติการสอนรับรองจากครุสภา ก็สามารถสอบแข่งขันได้ เพราะนโยบายนี้ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมต่อบัณฑิตวิชาชีพครู 5 ปี
ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายถูกทาง แต่ไม่รอดูผลในระยะยาว ทุกคนต่างยืนยันว่าคนที่จะเป็นครูต้องผ่านกระบวนการมาตรฐานวิชาชีพครู เพราะคนที่มาประกอบวิชาชีพครู แต่ไม่ได้จบการศึกษาด้านวิชาชีพครู แม้จะเป็นคนเก่ง แต่ไม่มีจิตวิทยาในการสอนลูกศิษย์ และหลายสถาบันได้ใช้หลักสูตรการเรียนการสอนมาตรฐานเดียวกับต่างประเทศ สำหรับคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีโมเดลการผลิตครูแบบเดียวกับประเทศฟินแลนด์ บัณฑิตที่จบวิชาชีพครูต่างเรียนเนื้อหาเฉพาะทางกับอาจารย์สาขาวิชานั้นๆ โดยตรง
เช่น ครูที่จบวิชาเอกภาษาต้องเรียนเนื้อหาภาษากับอาจารย์สอนภาษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ครูที่จบด้านวิทยาศาสตร์ เรียนเนื้อหาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์กับอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ส่วนวิชาหลักสูตรการสอน จิตวิทยาความเป็นครู เรียนกับอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งดำเนินการสอนมากว่า 50 ปี บัณฑิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงมีความรู้ในสาขาวิชาเฉพาะทาง พร้อมกับมีความพร้อมในวิชาชีพครู
ทางด้าน ผศ.ดร.ฆนัท ธาตุทอง อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา กล่าวว่า สถาบันที่ผลิตครูต้องบูรณาการศักยภาพในการผลิตครู และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ควรพัฒนาศักยภาพครูในมหาวิทยาลัย โดยไม่ยึดติดกับใบปริญญาบัตร งานวิจัยและผลงาน และไม่เห็นด้วยต่อการอบรมผู้ที่ไม่ได้เรียนวิชาชีพครูมาอบรมเพียงระยะเวลา 1 ปี เพราะผู้ที่เรียนครู 5 ปี ถูกปลูกฝังการมีความรู้ 11 มาตรฐาน และต้องปฏิบัติการสอนเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งใช้เวลา 5 ปี ในการปลูกฝังความเป็นครู นี่คือข้อแตกต่าง แต่นโยบายนี้ผู้ที่เรียนจบวิชาเอก 4 ปี สามารถสอนได้ทันที จึงไม่เชื่อว่าผู้ที่เรียน 4 ปี จะเป็นครูที่ดี เมื่อเทียบกับผู้ที่จบครู 5 ปี วิธีการเหล่านี้รัฐบาลทำผิดพลาด คนเหล่านั้นควรเป็นติวเตอร์มากกว่าเป็นครู
ในขณะที่ ผศ.ดร.เรวดี กระโหมวงศ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า ผิดหวังต่อนโยบายของรัฐบาล ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาสะสมมานาน ครูไม่ตรงวุฒิบ้าง ครูไม่ตรงวิชาเอกบ้าง เรามีหน้าที่ผลิตครูดี ครูเก่ง สอนดี สอนเก่ง เราสร้างได้ สิ่งที่เกิดขึ้นผู้บริหารไม่มีมุมมอง และกระทรวงศึกษาธิการไม่มองให้รอบ ทั้งๆ ที่ทุกหย่อมหญ้ามีข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการอยู่ รู้สึกสงสารลูกศิษย์ แต่เป็นโอกาสที่จะแสดงให้สาธารณะเห็นว่า ผู้ที่เรียนครู 5 ปี มีความพร้อมของวิญญาณความเป็นครูที่ดีกว่าผู้ที่เรียน 4 ปีแน่นอน
ผศ.ดร.กฤษฎา กุณฑล คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า ผิดหวังต่อมติรัฐบาล แต่ขอให้เป็นมติที่ชัดเจน สงสารลูกศิษย์จะเป็นครู 5 ปี หรือ 4 ปี ขอมติ ครม.ที่ชัดเจน และไม่ว่าใครจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ควรเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์โดยขาดการวิเคราะห์ที่ชัดเจน
ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง คณบดีคณะศึกษาศาสตร์และศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ กล่าวในฐานะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเอกชนว่า หลักสูตรกว่าจะผ่านต้องใช้เวลาในการดำเนินการ แต่เมื่อมีปัญหาคุรุสภาไม่ได้เป็นปากเสียงแทนสถาบันการศึกษา และสงสารลูกศิษย์ รัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจนแน่นอน เป็นมาตรฐาน พร้อมทั้งกล่าวว่า ต้นแบบที่ดีในการผลิตครูคือ ครูเรียนวิชาเนื้อหาจากครูที่เชี่ยวชาญจากคณะสาขาวิชาเฉพาะทาง พร้อมทั้งเรียกร้องให้ยกฐานะวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง เพราะครูเป็นผู้ผลิตคนทุกสาขาอาชีพ
นอกจากนี้ คณบดีทั้ง 5 สถาบันต่างเรียกร้องให้คุรุสภา ดูแลบุคลากรครูของประเทศอย่างจริงจัง ต้องยกฐานะวิชาชีพครูให้เทียบเท่าวิชาชีพทางการแพทย์ ครุสภาต้องคงศักดิ์และสิทธิ์ของวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงตลอดไป เพราะจิตวิญญาณของความเป็นครูต้องใช้เวลาบ่มเพาะ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจ และเป็นครูที่สมบูรณ์แบบ ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องวิเคราะห์ข้อมูลอัตรากำลังข้าราชครู และครูผู้ช่วยให้ชัดเจน เพราะข้อมูลที่ไม่อยู่ไม่ตรงกับสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 12 เมษายน 2560 19:21 น. (แก้ไขล่าสุด 13 เมษายน 2560 10:00 น.)