"หมอธี" จ่ายยา...โรงเรียน ICU
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
"หมอธี" จ่ายยา...โรงเรียน ICUวารินทร์ พรหมคุณ
"หมอธี" จ่ายยา...โรงเรียน ICU อาจไม่หายขาด..แต่พัฒนาการดีขึ้น
ตอนนี้ใคร ๆ ก็พูดถึง "โรงเรียนไอซียู" ที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ประกาศเป็นอันดับแรกที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษา ..ไอซียู ตามภาษาของหมอนี่ถือว่าเข้าขั้นวิกฤติ โรงเรียนที่เข้าข่ายไอซียู ถือว่าจำเป็นต้องเร่งให้ความช่วยเหลือและพัฒนาเป็นพิเศษอย่างเร่ง โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก
...อีกทั้ง ยังเป็นการดำเนินการตามพระราชปณิธาน ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชดำรัสให้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กด้วย
ในเบื้องต้นนี้ โรงเรียนไอซียู ส่วนใหญ่จะอยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) แต่ก็ไม่ได้ละเลยสถานศึกษาอื่นอย่างเช่น สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) แต่ละแห่งจะเข้าขั้นไอซียูหรือไม่นั้น ผู้บริหารโรงเรียน ต้องประเมินสถานการณ์ของ ตนเองว่าอยู่ในขั้นวิกฤติระดับใด แล้วส่งรายชื่อให้เขตพื้นที่การศึกษา ลงไปสำรวจว่าวิกฤติจริงหรือไม่ ก่อนที่จะส่งรายชื่อมายังส่วนกลาง
โดยในปี 2560 นี้ ศธ.ตั้งงบประมาณสำหรับแก้ปัญหาโรงเรียนไอซียู ประมาณ 4,000 กว่าล้านบาท ดังนั้น สถานศึกษาที่จะเข้าขั้นไอซียูจะต้องประสบปัญหาวิกฤติทางการศึกษาจริง ๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ นพ.ธีระเกียรติ ได้ลงพื้นที่สแกนปัญหาของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ที่ จ.สกลนคร อย่างกรณีของ โรงเรียนเต่างอยพัฒนศึกษา ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมและรับฟังถึงสภาพปัญหาของโรงเรียน เห็นว่ายังไม่ถึงขั้นต้องเข้าเป็นโรงเรียนไอซียู แม้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียน จะต่ำกว่ามาตรฐาน...แต่ก็ไม่มาก สามารถพัฒนาตามระบบด้วยตนเองได้
จากนั้นไม่นานนัก ได้ลงพื้นที่โรงเรียนภูขัดรวมไทยพัฒนา จ.พิษณุโลก เปิดสอนชั้นอนุบาล 1 ถึง ม.3 มีนักเรียน 191 คน ครู 11 คน ครูอัตราจ้าง 1 คน โรงเรียนเสนอชื่อเข้าไอซียูด้วย หวังจะพัฒนาคุณภาพของเด็ก ๆ ในท้องถิ่นห่างไกลให้ดีขึ้น
"โรงเรียนภูขัดรวมไทยพัฒนา ถือเป็นตัวอย่างของโรงเรียนไอซียู ขาดทั้งสภาพพื้นฐาน ด้านกายภาพ ซึ่งตนได้พูดเสมอว่า ก่อนที่จะให้คนไปสอนหนังสือให้ได้ดี เราต้องมั่นใจว่าเขาจะมีอยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี การปฏิรูปการศึกษาจะให้ได้ผล ฝ่ายนโยบายต้องลงพื้นที่มาดูสภาพความเป็นจริงด้วย จะได้แก้ไขปัญหาถูกจุด ครูจะได้มีกำลังใจสอนเด็กให้ได้ดี อย่างที่นี่ เดือดร้อนเรื่องไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไปไม่ถึง ตอนนี้ใช้พลังงานทดแทน คือติดตั้งแผงโซล่าเซลล์มาใช้ ซึ่งก็ไม่เพียงพอกับการใช้อินเตอร์เน็ต ครูผลัดกันชาร์ตโทรศัพท์ ชั่วโมงการเรียนทางไกล DLTV ไม่ครบจำนวนตามคาบวิชา อาคารอยู่ในสภาพทรุดโทรม รวมถึงความปลอดภัยของครูด้วย"
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อไปว่า สิ่งแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9ทรงริเริ่มไว้ คือพระราชทานกองทุน และให้ดูความเป็นอยู่ของครู ซึ่งเราต้องเดินตามรอยพระปณิธาน โรงเรียนไอซียู เป็นเพียงเครื่องมืออันหนึ่งที่เราเข้าถึง แม้อาการขั้นไอซียู จะไม่ได้รักษาให้หายขาด แต่ก็ทำให้โรงเรียนบริหารจัดการดีขึ้น ดังนั้น กลยุทธของการจัดการศึกษา คือให้เดินไปตามธรรมชาติของการศึกษา แต่เน้นครูกับห้องเรียน ทำอย่างไรครูจะมีความสุขในการสอน นักเรียนมีความสุขอยากจะเรียนรู้...ไม่จำเป็นต้องหรูหรา แต่ให้เป็นไปตามธรรมชาติของพวกเขา
ด้าน ผอ.สมพร จันดาหาร โรงเรียนภูขัดรวมไทยพัฒนา กล่าวว่า สิ่งที่โรงเรียนต้องการอย่างมาก คือ "ไฟฟ้า" เพราะที่มีใช้อยู่ไม่เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอน ในการเรียนทางไกล DLTV ถ้าใช้ทั้งวันก็จะไม่เพียงพอให้ครูดำรงชีวิตอย่างเพียงพอ เช่น หุงข้าว รีดผ้า เข้าอินเตอร์เน็ตสืบค้นหรือติดต่อราชการลำบาก...การไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างให้กับครูที่อยู่ข้างบนอันตรายไม่มีความปลอดภัย ...ปัญหารองลงมา คือ อาคารเรียน อาคารประกอบการเรียนไม่พอ ในการจัดการเรียนการสอนในการทำเป็นห้องปฏิบัติการต่าง ๆ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องสุขาภิบาล ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคอย่างหนัก เพราะปะปาหมู่บ้าน จะเปิดบริการน้ำให้โรงเรียนใช้ ในช่วงเวลา 04.00-05.00 น. ก่อนรุ่งเช้าเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น จากนั้นน้ำก็จะหมด ซึ่งโรงเรียนต้องแก้ไข โดยหาที่เก็บน้ำไว้ใช้เวลาขาดแคลน เราก็หวังว่าถ้า ศธ.จัดสิ่งเหล่านี้ให้ได้ ครูก็ไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้ จะได้มุ่งมั่นในการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนให้มีคุณภาพ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามที่ ศธ.กำหนดได้
"ผมว่าโครงการนี้เป็นนโยบายที่ดีมาก เพราะสิ่งที่เราต้องการเห็นผลทันตา สิ่งที่เราขาดได้มาเสริมอย่างทันควัน"ผอ.สมพร กล่าว
ด้าน น.ส.กรรณิการ์ กิ่งเนตร ครูสอนชั้นอนุบาล1 บอกว่าโรงเรียนนี้เคยเป็นพื้นที่สีแดงมาก่อน ซึ่งการเดินทางของครู ก็ยังอันตรายอยู่ ถ้าลงไปพื้นที่ข้างล่าง ก็ต้องไปกันเป็นคณะและขึ้นมาพร้อม ๆ กัน เพื่อความปลอดภัย ใจจริงอย่างให้มีการติดกล้องวงจรปิด CCTVทางเข้า-ออกโรงเรียนด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้น
...ปัจจัยความสำเร็จการแก้ปัญหาโรงเรียนไอซียู...ต้องใช้การบูรณาการจากสถานศึกษา ชุมชนท้องถิ่น การให้ความสนใจและลงพื้นที่สำรวจอย่างจริงจัง สอบถาม พูดคุย เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาตรงจุด...แล้วผลลัพธ์ที่จะเกิดคือ ลูกหลานไทยได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ
ที่มาของเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 10 เมษายน 2560