คอลัมน์: เป็นเรื่องเป็นราว: ยกระดับอาชีพครู
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
คอลัมน์: เป็นเรื่องเป็นราว: ยกระดับอาชีพครูจิตติมา กุลประเสริฐรัตน์
(g.jittima02@gmail.com)
การปฏิรูปการศึกษาไทย เป็นสิ่งที่ทุกคนตั้งหน้าตั้งตารอและเป็นความหวังของทุกคนที่คิดว่าถ้ารัฐบาลที่มี ม.44 อยู่ในมือทำไม่ได้ก็คงต้องถอดใจรอกันต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่มาสร้างปรากฏการณ์ปาฏิหาริย์ หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามหาทางออก แต่ปัญหามากมายที่หมักหมมกันมานาน ไม่ว่าจะทำอะไร แก้ไขตรงไหนก็โดนคัดค้าน เพราะติดขัดไปหมดทั้งเรื่องของโครงสร้างและผลประโยชน์
ระบบการศึกษาที่ผ่านมาไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาหรือคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนเท่าที่ควร ทำให้คุณภาพของไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ปัญหาที่น่าหนักใจคือ คุณภาพของครู หลายโรงเรียนที่มีปัญหาครูไม่มีคุณภาพ ว่ามิได้เกิดจากระบบไม่ดี หากเกิดจากการที่ครูขาดแรงจูงใจ ไม่มีแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง อีกทั้งครูส่วนใหญ่มีหนี้สินมาก ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงและขาดกำลังใจในการทำงาน หลายโรงเรียนที่ครูต้องทำการสอนในวิชาที่ตนไม่ได้เรียนมาโดยตรง เช่น จบพละแต่ต้องรับผิดชอบในการสอนภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น เป้าหมายของการศึกษาไทยเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการจนบั่นทอนคุณภาพของผู้เรียน ด้วยการประเมินผลและตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาที่วัดผลจากคะแนนสอบเท่านั้น คัดแต่คนเรียนเก่ง จนอาจละเลยศักยภาพของผู้เรียนเป็นรายบุคคล และมีเด็กหลังห้องมากมายที่ถูกทอดทิ้ง
ข้อมูลจาก Thai Publica ระบุว่า "หากย้อนดูปัญหาการศึกษาจะพบว่า 1 ใน 5 ของเด็กก่อนวัยเรียนมีพัฒนาการที่ต่ำกว่าวัย เด็กชั้นประถมราว 140,000 คน อ่านหนังสือไม่ออก และราว 270,000 คนก็เขียนหนังสือไม่ได้ ส่วนเด็กมัธยมอีกกว่า 1 ใน 3 ก็ไม่สามารถอ่านจับใจความได้" ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายก็พยายามที่จะแก้ไขโดยเลียนแบบประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศฟินแลนด์ หรือสิงคโปร์ แต่ต้องไม่ลืมว่าคุณภาพของคน ระบบการบริหาร สภาพแวดล้อมและการดำเนินชีวิตนั้นต่างกันลิบลับ แค่ถามคนฟินแลนด์ว่าโรงเรียนที่ดีที่สุดคือโรงเรียนอะไร คำตอบที่ได้คือ "โรงเรียนใกล้บ้าน เพราะทุกโรงเรียนมีมาตรฐานเท่ากันหมด" แค่คำตอบนี้คำตอบเดียวก็เป็นโจทย์ที่ยากที่สุดแล้ว ของเราแค่กำจัดระบบแป๊ะเจี๊ยะ ระบบฝากเด็กยังทำกันไม่ได้เลย แล้วจะไปหวังอะไรกับมาตรฐานเท่าเทียมกัน
ศัพท์ทางวิชาการที่ดูดีแต่จับต้องได้ยากทั้งหลาย เช่น ครูต้องใช้ทักษะครูในศตวรรษที่ 21 ต้องสอนให้นักเรียนเป็น Active Learning ต้องเน้นการเรียนการสอนแบบ Project Based Learning และใช้ Log Book ในการวัดผล ท่านผู้บริหารจะทราบมั้ยคะว่าแต่ละเรื่องที่ท่านออกมา แม้ว่าจะมีการอบรม แต่ในทางปฏิบัติครูก็ต้องเสียเงินไปติวหรือเรียนการเขียนแผนต่างๆ ตามที่ท่านสั่งมา โดยเสียค่าเรียนลัดคอร์สละเป็นหมื่น แล้วจะเอาเวลาที่ไหนมาสอนเด็ก จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าเรียน โจทย์ที่ให้มาแต่ละโจทย์มันยากสำหรับครูทั่วไปที่มีงานล้นมือ จะมีครูสักกี่คนที่ไม่สนใจการเลื่อนขั้น จะมีครูสักกี่คนที่นั่งทำสื่อและแผนการสอนอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อให้เด็กเป็น Active Learning เอาง่ายๆ ครูเข้าใจกันมั้ยว่า Active Learning หมายถึงอะไร และต้องใช้สื่อการสอนแบบไหนถึงจะทำให้ผู้เรียนปฏิบัติ ลงมือทำผ่านกิจกรรมที่ให้นักเรียนมีส่วนร่วม คิดเป็น ทำเป็นและถอดบทเรียนได้
เอาแค่แก้ปัญหาเด็กไทยอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ หรืออ่านออกเขียนได้แต่จับใจความไม่เป็นก่อนดีกว่ามั้ยคะ ท่านค่อยไปบริหารจัดการการเรียนการสอนที่ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ทำอย่างไรให้ครูมีจิตวิญญาณของความเป็นครูเหมือนครูสมัยก่อน เอาแบบง่ายๆ จับต้องได้ คนทำไม่อึดอัด ไม่ต้องเลียนแบบต่างชาติมากนัก แต่ขอร้องว่าอย่าแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนตำแหน่งจาก "ผู้อำนวยการ" เป็น "ครูใหญ่" เลย เพราะมันจับต้องไม่ได้ว่าถ้าเป็นครูใหญ่แล้วจะเป็นครูที่ดีจริงหรือ อยากรู้จังว่าตรรกะคืออะไร ใครตอบได้ช่วยตอบที.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- จันทร์ที่ 10 เมษายน 2560 เวลา 00:00:47 น.