ยกครูเทียบชั้นแพทย์
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ยกครูเทียบชั้นแพทย์วงเสวนาฝากรัฐบาลให้ความสำคัญผลิตครูให้เหมือนกับการผลิตแพทย์ ชี้ครูในระบบที่เก่งมีมากแต่ไม่ได้รับการส่งเสริม แนะจับตาสอบครูผู้ช่วย ชี้อาจเป็นช่องทางสู่ระบบราชการ
หลังจากร่วมวงพูดคุยกันระหว่างผู้ผลิตครู และ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถึงมติคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่กัน 36 สาขาวิชาให้เฉพาะผู้ถือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือ “ตั๋วครู” ตัวจริงเท่านั้นที่มีสิทธิยื่นสมัครสอบครูผู้ช่วย สพฐ. ประจำปี 2560 ได้ ส่วนอีก 25 สาขาวิชา ก็เปิดให้กับผู้ที่มีและไม่มีใบอนุญาตฯ ภายใต้เงื่อนไขขึ้นบัญชีเพียง 1 ปีและต้องมีใบอนุญาตฯ ซึ่งเป็นทางออกที่ลงตัวกับทั้งทุกฝ่าย
แต่การเปิดช่องให้คนจบสาขาอื่นๆ มาเป็นครู โดยเฉพาะใน 25 สาขา ซึ่งแบ่งเป็น 17 สาขาที่ระบุว่ายังไม่มีผู้จบการศึกษาหลักสูตร 5 ปี และอีก 8 สาขาที่ขาดแคลนเรื้อรัง ยังเป็นประเด็นที่กลุ่มวิชาชีพครู ยังมีความคลางแคลงใจ ล่าสุด คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเวทีเสวนา เรื่อง รัฐเปิดช่องให้ผู้ที่ไม่ได้เรียนครูมาเป็นครูได้หรือเสีย?
นายไพบูลย์ เกตแก้ว อดีตผู้อำนวยโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จ.เพชรบุรี กล่าวว่า การให้คนที่จบหลักสูตร 4 ปีแล้วมาเป็นครูบางคนเก่งเนื้อหาจริง แต่ไม่มีเทคนิคและประสบการณ์ในการสอน ขณะที่ ครูที่จบหลักสูตร 5 ปีจะเรียนอย่างเข้มข้นวิชาการถึง 4 ปีฝึกสอนอีก 1 ปี ส่วนตัวให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพของครูมาก ยกตัวอย่างครั้งยังเป็นผอ.โรงเรียนเบศจมเทพอุทิศ จะกำหนดชัดเจนว่าในการประเมินครูฝึกสอน จะต้องมีตั้งแต่หัวหน้ากลุ่มสาระ ครูพี่เลี้ยง และฝ่ายวิชาการ ทำหน้าที่ในการกำกับติดตามและประเมิน หากประเมินไม่ผ่านก็คือให้ไม่ผ่าน ทั้งนี้ อยากฝากถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมืองว่า ไม่ว่าจะแก้ไขปัญหาการขาดครูอย่างไร ผู้ที่จะมาเป็นครูผู้สอนจำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูทุกคน
“ขอเสนอแนะว่าผู้มาสอบครู จะต้องมีใบประกอบวิชาชีพครูเท่านั้น การเรียนต้องมีกระบวนการฝึกสอน ที่สำคัญต้องมีจรรยาบรรณความเป็นครู โดยเฉพาะเรื่องชู้สาวต้องไม่มี อยากฝากถึงผู้ใหญ่ดูแลสวัสดิการครูให้ดีกว่านี้ ดีกว่าไปทำเรื่องที่เป็นอยู่”นายไพบูลย์ กล่าว
ด้าน นายวรพงษ์ แสงประเสริฐ อาจารย์โรงเรียนสาธิต มศว กล่าวว่า จากประสบการณ์พบว่า คนที่ไม่ได้เรียนวิชาชีพครูมามีปัญหามาก แม้จะเก่งเฉพาะทาง มีความรู้มาก แต่ไม่ได้เรื่องกระบวนการจัดการเรียนการสอน ตลอดจนเทคนิควิธีการรับมือกับเด็ก ทำให้เมื่อเข้าไปสอนจริงในชั้นเรียนเจอเด็กที่หลากหลาย มีความแตกต่างกันก็จะรับมือได้ยาก สุดท้ายก็ต้องลาออกไป นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งว่าเหตุใดคนเรียนครูจึงต้องเรียนจิตวิทยาด้วย อย่างไรก็ตาม การที่ ศธ.บอกว่าการเปิดกว้างเพราะบางสาขาขาดแคลนก็ยอมรับได้ แต่อยากให้ลองหันมามองดูครูในระบบที่มีอยู่ด้วย จะพบว่าความจริงแล้วโรงเรียนมีครูในระบบที่เก่งๆอยู่จำนวนมาก เพียงแต่ครูเหล่านี้ไม่ได้รับการพัฒนาและส่งเสริม ทั้งยังต้องแบกรับภาระงานอื่นๆ ยังไม่รวมถึงนโยบายที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ส่งผลให้ไม่สามารถจัดการเรียนสอนได้เต็มที่
นายวรพงษ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้มีคำ 3 คำที่อยากฝากคือ นิ่ง หมายถึง รัฐบาลและรมว.ศึกษาธิการ ต้องไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายบ่อยๆ ต้องกำหนดเป้าหมายทิศทางให้ชัดเจน ,ขยับ หมายถึง สถาบันผลิตครู องค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องขยับตัวผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพจริงๆ และสุดท้ายขอฝากถึงเด็กที่จะเป็นครู คือ ปรับตัวเอง หมายถึง คนจะเป็นครูต้องพัฒนาตนเองให้มีความพร้อมทุกด้าน ที่สำคัญอย่าบกพร่องเรื่องจิตวิทยาความเป็นครู และต้องมีจิตวิญญาณความเป็นครูอย่างแท้จริง
ดร.ดิเรก พรสีมา คณบดีวิทยาลัยฝึกหัดครู มรภ พระนคร กล่าวว่า ถ้าไม่สามารถสร้างคนคุณภาพได้ประเทศก็ไม่สามารถเดินต่อไปได้อย่างมั่นคงได้ ดังนั้น ต้องเริ่มตั้งแต่กระบวนการพัฒนาครู โดยต้องใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมาเป็นเครื่องมือเพราะสามารถสร้างเงื่อนไขกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็นครูได้ ที่สำคัญวิชาชีพครูจะทำแบบที่เป็นอยู่ไม่ได้ ซึ่งประเทศที่เจริญแล้วให้ความสำคัญกับการผลิตครูเหมือนการผลิตแพทย์ โดยสถาบันผลิตครูต้องทบทวนการผลิตครูให้ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการทีโรงเรียนให้ผู้เรียนครูได้ฝึกสอน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ก็รับลูกแล้วว่าการผลิตครูต้องทำเหมือนผลิตแพทย์ อย่างไรก็ตามขณะนี้ตนรู้สึกผิดหวัง และเสียใจกับรัฐบาลมาก ซึ่งตนศรัทธานายกรัฐมนตรี ดังนั้นอยากให้หาคนมีความรู้การศึกษามาทำงานด้านการศึกษา
"ขอฝากให้รัฐบาลทำให้กระบวนการผลิตครูมีคุณภาพเหมือนการผลิตแพทย์ ซึ่งปัจจุบันงบประมาณผลิตแพทย์ 5แสนกว่าต่อคนต่อปี ขณะที่การผลิตครู ได้รับงบประมาณ 800 ต่อคนต่อปี แตกต่างกันมาก แล้วจะมาเรียกร้องคุณภาพอะไร ดังนั้นขอเพิ่มขึ้นไม่ต้องเท่าแพทย์แต่เป็น2-3แสนบาท ได้หรือไม่ ถ้ารัฐจริงใจอยากได้ประเทศไทย 4.0 ก็ต้องปรับงบประมาณในการพัฒนาการผลิตครูไม่เป็นเพียงคำพูดสวยหรู หลอกลวงที่เป็นไปไม่ได้ รวมถึงต้องให้เวลาครูอยู่ในห้องเรียนมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมางานวิจัยสพฐ.พบว่า ครูใช้เวลา 65%ต่อปี ทำอย่างอื่นมากกว่าการสอน แล้วจะหวังให้การศึกษาพื้นฐานเก่งได้อย่างไร เมื่อไม่ให้เวลาครูอยู่กับนักเรียน" ดร.ดิเรก กล่าว
ดร.องค์กร อมรสิรินันท์ อดีตเลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)ใช้ช่องทางผิดในการเปิดช่องให้ผู้ไม่เรียนครูมาสอบบรรจุเป็นครู จึงอยากให้ทุกคนในสังคมจับตาดูกระบวนการสอบบรรจุครูในครั้งนี้ว่า จะมีกระบวนการทุจริตหรือเป็นช่องทางที่เอื้อให้คนเข้าสู่ระบบราชการหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูถูกฟ้องร้องได้ และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธาน ก.ค.ศ. ก็จะตกเป็นจำเลย
ขณะที่ รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว กล่าวว่า ที่ประชุมสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย รู้สึกเป็นห่วงเรื่องการฟ้องร้อง โดยเฉพาะการฟ้องร้องกันเองของนิสิตนักศึกษาครูที่มีใบประกอบวิชาชีพกับผู้ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ในกรณีที่ผู้ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู แล้วสามารถสอบได้ อาจถูกนิสิตนักศึกษาที่มีใบประกอบวิชาชีพครูฟ้องร้องได้ ซึ่ง สคศท. กำลังศึกษาข้อกฎหมายรวมทั้งหลักเกณฑ์การรับสมัครครูของ ก.ค.ศ.และ หลักเกณฑ์ของคุรุสภา ว่าเปิดช่องให้มีการฟ้องร้องกันได้หรือไม่ และมีแนวทางจะป้องกันไม่ให้นิสิตนักศึกษาฟ้องร้องกันเองหรือไม่ สำหรับเรื่องการสอบบรรจุครูนั้น ปัจจุบันมีครูที่สอบขึ้นบัญชีใน 8 กลุ่มสาระจำนวนมาก ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังไม่ได้เรียกบรรจุ แสดงให้เห็นว่า เราไม่ได้ขาดแคลนคนมาเป็นครูใน 8 กลุ่มสาระ และนักศึกษาครูที่เรียนเอกวิทยาศาสตร์ ทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ก็พบว่า มีคะแนนสอบแอดมิชชั่นที่สูงกว่านักศึกษาเอกเดียวกันที่เรียนคณะวิทยาศาสตร์ ดังนั้น ก็ขอให้มั่นใจว่า นักศึกษาครูเก่งด้านเนื้อหา มีจิตวิญญาณครู เข้าใจจิตวิทยาเด็ก และถ่ายทอดความรู้เป็น
ภาพ : เว็บไซต์ http://satitprasarnmit.ac.th,http://cte.pnru.ac.th,www.moe.go.th
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 1 เมษายน 2560 เวลา 17.00 น.