ผลการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 1/2560
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 167/2560
ผล
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม 2560 ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ว่าที่ประชุมได้พิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วย ระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา ฉบับเดิมซึ่งประกาศใช้เมื่อปี 2553
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า จากเสียงสะท้อนของครูและสถานศึกษาเกี่ยวกับภาระการจัดทำเอกสาร
โดยที่ประชุมสภาการศึกษา ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนายนาวิน วิยาภรณ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ได้พิจารณาและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุง (ร่าง) กฎกระทรวงดังกล่าวอย่างกว้างขวาง และมีมติให้ให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการและคณะทำงาน รวบรวมข้อเสนอในประเด็นต่าง ๆ ไปปรับแก้ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อไป โดยคาดว่าประกาศใช้หลักเกณฑ์ใหม่ในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ได้ก่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2560
สาระสำคัญของ (ร่าง) กฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. .... เพื่อต้องการปรับกลไกวิธีการประเมินให้มีความกระชับ ชัดเจน และไม่เป็นภาระต่อครูและโรงเรียนในด้านเอกสาร พร้อมจะจัดทำมาตรฐานการศึกษาใหม่ โดยรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ผู้ปกครอง ภาคเอกชน องค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และมีการอ้างอิงมาตรฐานสากล สิ่งสำคัญคือกฎกระทรวงจะระบุอย่างชัดเจนว่า ใครมีหน้าที่ทำอะไร ซึ่งเดิมการประกันคุณภาพภายในนั้น กระทรวงศึกษาธิการจะทำร่วมกับสถานศึกษา แต่ขณะนี้ได้ปรับให้สถานศึกษาต้องเป็นผู้รับผิดชอบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาเอง โดยกระทรวงศึกษาธิการเพียงแต่จะทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้สถานศึกษาประเมินตนเองได้ และสามารถประกันคุณภาพภายในได้สำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าวว่า จะทำให้ระบบการประเมินคุณภาพภายในและการประเมินคุณภาพภายนอก มีความกระชับและชัดเจนมากขึ้นในหลายประการ เช่น
-
การประกันคุณภาพการศึกษา หมายถึง “การประเมินผลการติดตาม ตรวจสอบกระบวนการที่สถานศึกษาจัดให้มีระบบการบริหารคุณภาพการศึกษา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนว่า การจัดการศึกษาของสถานศึกษา จะบรรลุคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา และเป้าประสงค์ของหน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลสถานศึกษา” ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ขอให้ยึดเป้าหมายการพัฒนาผู้เรียนตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 เป็นหลัก ด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการที่ไม่ซับซ้อน ช่วยลดภาระของสถานศึกษา ตลอดจนมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อมุ่งสู่หัวใจสำคัญของการประกันคุณภาพ คือ การประกันการจัดการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
-
การประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน หมายถึง “การประเมินการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาโดยสถานศึกษานั้นเอง” ซึ่งจะทำให้ไม่มีบอร์ดประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาอีกต่อไป โดยมีต้นสังกัดคือกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่ช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา แนะนำ และส่งเสริมการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในให้สำเร็จตามเป้าหมายของสถานศึกษา
-
การประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอก หมายถึง “การประเมินการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา โดยหน่วยงานภายนอกที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย” นั่นก็คือสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาฯ (สมศ.) ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ในการประเมินผล และติดตาม ตรวจสอบ คุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาจากภายนอก ซึ่งจะทำให้ผู้ประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกได้ทำหน้าที่เป็น Coaching ช่วยเหลือดูแล แนะนำ และให้คำปรึกษา เพื่อให้การประเมินนำไปสู่การพัฒนา มากกว่าการประเมินเพื่อตัดสินว่าผ่านหรือไม่ผ่านเท่านั้น
-
มาตรฐานการศึกษา หมายถึง “ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพ ที่พึงประสงค์และมาตรฐานที่ต้องให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาทุกแห่ง และเพื่อใช้เป็นหลักในการเทียบเคียงสำหรับการส่งเสริม การกำกับดูแล การตรวจสอบ การประเมินผล และการประกันคุณภาพการศึกษา” ซึ่งแต่เดิมจะใช้มาตรฐานของ สมศ. ในการประเมิน ทั้งมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน มาตรฐานอาชีวศึกษา และมาตรฐานอุดมศึกษา แต่กฎกระทรวงฉบับนี้จะปรับให้มี “กรอบมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ” เป็นกรอบมาตรฐานที่ให้สถานศึกษานำไปใช้เป็นแนวทาง ส่วน สมศ. ก็ทำหน้าที่ตรวจว่าสถานศึกษาได้ทำตามมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการหรือไม่อย่างไร มีส่วนใดต้องเพิ่มเติมหรือเร่งพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น
โดยที่ประชุมสภาการศึกษา ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรฐานการศึกษาอย่างหลากหลาย สิ่งสำคัญคือต้องการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะนักเรียนและผู้ปกครอง เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำมาตรฐาน ตั้งแต่การกำหนดมาตรฐาน การตรวจสอบ และการประเมินผล เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง, พร้อมขอให้มุ่งเน้นผลผลิตนักเรียน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทอดทิ้งโรงเรียน ครู การเรียนการสอน และชุมชน, ให้คำนึงถึงนโยบายการพัฒนาของประเทศ โดยเฉพาะ Thailand 4.0 การศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย มาตรฐานโรงเรียนนานาชาติ องค์กรวิชาชีพ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนคุณธรรมจริยธรรม และความเป็นชาติไทย รวมทั้งให้คำนึงถึงความเหลื่อมล้ำของโรงเรียนแต่ละประเภทแต่ละสังกัดด้วย -
วิธีการประเมิน เดิมประเมินโดยเช็ครายการตัวชี้วัดกว่า 200-300 ตัว พร้อมเอกสารประกอบรายตัวชี้วัด ซึ่งเป็นภาระด้านเอกสารและงานของครูเป็นอย่างมาก ดั้งนั้นในการประเมินตามกฎกระทรวงนี้ จึงปรับเป็นวิธีการประเมินเชิงคุณภาพ ที่เน้นการรายงานข้อมูลตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นให้หน่วยงานต้นสังกัดหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลทราบเป็นประจำทุกปี
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 31 มีนาคม 2560