ยกเครื่องเกณฑ์ประเมินคุณภาพการศึกษาใหม่
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ยกเครื่องเกณฑ์ประเมินคุณภาพการศึกษาใหม่จากปัญหาการประเมินคุณภาพการศึกษาทั้งการประเมินคุณภาพภายใน โดยหน่วยงานต้นสังกัดและการประเมินคุณภาพภายนอก โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ที่มีเสียงสะท้อนปัญหาในการประเมิน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงร่วมกับ สมศ.ดำเนินการพิจารณารายละเอียดตัวชี้วัด และได้ข้อสรุปว่าต้องดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2553 ให้ทันสมัยสอดคล้องกับมาตรฐานสากล จึงดำเนินการยกร่างกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพ พ.ศ...ขึ้นใหม่ นั้น
ล่าสุดวันที่ 30 มี.ค.60 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษา (กกศ.)ได้ประชุมพิจารณาร่าง กฎกระทรวงฯ ดังกล่าว ที่เน้นการปรับลดการใช้เอกสาร กำหนดมาตรฐานการศึกษา วิธีการประเมินให้ชัดเจน ตลอดจนกำหนดผู้รับผิดชอบในการประกันคุณภาพ โดยที่ประชุมซึ่งมีผู้แทนจากหลายภาคส่วน เช่น ผู้แทนคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ให้ความเห็นในแง่มุมต่างๆ ซึ่ง ศธ.จะนำไปปรับปรุงเนื้อหารายละเอียด ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาและให้ความเห็นชอบ ส่งต่อไปยังคณะกรรมการกฤษฎี คาดว่าใช้เวลาประมาณ 2 เดือนกระบวนการต่างๆ จะเสร็จสิ้น และสามารถเข้าสู่การประเมินคุณภาพภายนอก รอบ4 โดย สมศ.ได้
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัด ศธ.กล่าวว่า สาระสำคัญในการปรับปรุงร่างกฎกระทรวงฯ คือ 1.การประเมินคุณภาพภายใน เดิมประเมินโดยสถานศึกษาและต้นสังกัด ปรับใหม่ให้สถานศึกษาเป็นผู้ทำหน้าที่ประเมิน ส่วนต้นสังกัดมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ ขณะที่การประเมินคุณภาพภายนอก ยังดำเนินการโดย สมศ.เช่นเดิม
2.ตัวมาตรฐาน จะปรับใหม่เป็นกรอบมาตรฐานที่กำหนดโดย ศธ.จากเดิมมาตรฐานของ สมศ.กำหนดเป็นระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ทั้งนี้ สมศ. จะทำหน้าที่ตรวจสอบว่าสถานศึกษาดำเนินการตามกรอบดังกล่าวหรือไม่
3.วิธีการประเมิน จะเน้นการประเมินเชิงคุณภาพ รายงานเป็นรูปแบบข้อมูล เพื่อบรรยายสภาพที่เกิดขึ้น และผู้ที่ทำหน้าที่ในการประเมินจะเป็นเหมือนโค้ช ที่แนะนำและให้คำปรึกษา ซึ่งจะเชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์ของการประเมินคือ ประเมินเพื่อพัฒนา
"ที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะในหลายประเด็น เช่น มาตรฐานการศึกษาต้องยึดตามแผนการศึกษาชาติเป็นหลัก และหลักเกณฑ์วิธีการทั้งหลายต้องไม่ซ้ำซ้อน ลดภาระให้สถานศึกษา ซึ่งหัวใจของการประกันคุณภาพการศึกษาครั้งนี้ คือ การประกันการจัดการศึกษาว่าจะทำให้นักเรียนมีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ และที่ประชุมยังได้อภิปรายเรื่องตัวมาตรฐานอย่างมากด้วย โดยย้ำว่าต้องมาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างผู้ปกครอง นักเรียน และแม้ว่าการประเมินจะดูเรื่องการวัดผลนักเรียนแต่ก็ต้องดูถึงชุมชนด้วย คำนึงถึงความเหลื่อมล้ำของแต่ละโรงเรียน อีกทั้งยังได้พูดถึงเรื่องการวัดคุณธรรม จริยธรรม การพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงมาตรฐานโรงเรียนนานาชาติด้วย"ปลัด ศธ. กล่าว
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม 2560