หนุน.คนไร้ตั๋วมีคุณภาพสอบครูได้
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
หนุน.คนไร้ตั๋วมีคุณภาพสอบครูได้ผอ.สสวท.เห็นด้วยเปิดทางคนไม่จบครูสอบครูผู้ช่วยได้ โดยเฉพาะสาขาขาดแคลนที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศยุค 4.0 ชี้สามารถคุมคุณภาพได้แม้ไม่จบครู
จากมติที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่ปรับปรุงแนวปฏิบัติในการรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปี 2560 เปิดสอบใน 61 สาขาวิชาที่เดิมกำหนดให้ผู้ที่จบปริญญาตรีสามารถสมัครสอบได้ทุกสาขา เป็นกำหนดให้ 36 สาขาวิชาผู้สมัครต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือ ผ่านหลักสูตรครู 5 ปี ส่วนอีก 25 สาขา เปิดให้ทั้งผู้ที่มีใบอนุญาตฯและไม่มีใบอนุญาตฯสมัครสอบแข่งขันได้
ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า เห็นด้วยที่เปิดโอกาสให้ผู้จบจากสาขาวิชาชีพอื่น มาสอบบรรจุครูผู้ช่วย เนื่องจากขณะนี้ต้องยอมรับว่ากำลังขาดแคลนครูในบางสาขาวิชาจริง เช่น ครูทางด้านฟิสิกส์ เคมี เป็นวิชาหลักที่ต้องขับเคลื่อนพัฒนาประเทศเป็น 4.0 และผลประเมินทั้งระดับชาติ นานาชาติ และการวิจัยนานาชาติ ก็สะท้อนให้เห็นว่าการใช้ครูไม่ตรงวุฒิส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้เด็กมีศักยภาพที่ต่ำ และไม่ชอบเรียนวิชานั้น ซึ่งหลายๆ โรงเรียนของไทย มีการใช้ครูพละไปสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เนื่องจากขาดแคลนครูวิทยาศาสตร์ ดังนั้น วิธีการแก้ดังกล่าว ถึงจะเป็นการแก้ปัญหาเร่งด่วน แต่ก็สามารถช่วยขจัดปัญหาที่เรื้อรังได้
“การให้ผู้จบสาขาวิชาอื่นมาสอบบรรจุครู ควรดำเนินการระยะสั้น ซึ่งการให้ผู้จบวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ หรือเทคโนโลยี มาสอนนั้น พวกเขามีองค์ความรู้ในสาขาวิชานั้นดีแต่กระทรวงศึกษาธิการ ต้องมีระบบการพัฒนาวิชาชีพครูเพื่อให้ครูเหล่านี้เป็นไปตามมาตรฐาน และหากไม่เป็นไปตามมาตรฐานก็ไม่ควรบรรจุเป็นข้าราชการครู”ดร.พรพรรณ กล่าว
ผอ.สสวท. กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวสามารถควบคุมคุณภาพได้ แม้ไม่ได้ผ่านหลักสูตรครู แต่พอเข้าระบบ จะต้องเริ่มตั้งแต่การวัดสมรรถนะครู เรื่องการรู้กฎหมาย เทคนิคการสอนต่างๆ ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ที่สอนแบบจดจำอย่างเดียวไม่ได้ เด็กต้องลงมือปฏิบัติ ฝึกทำโจทย์ สร้างกระบวนการคิดแก้ปัญหา ซึ่งครูต้องทำหน้าที่ลงลึกในเนื้อหาเพื่อให้เด็กสามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งแน่นอนว่ามหาวิทยาลัยสามารถปรับหลักสูตรได้ แต่ก็ต้องใช้เวลาในการผลิตครูตามหลักสูตรนั้นๆ ดังนั้น ในระยะสั้นจำเป็นต้องดึงคนในระบบและสนใจเป็นครูจริงๆ มาก่อน ซึ่งตนมองว่าคนที่ไม่ได้เรียนครูตั้งแต่เริ่มแต่สนใจจะมาเป็นครูถือเป็นเรื่องดี เพราะเขามีใจอยากจะเป็นครู อีกทั้งวิชาที่เขาเรียนก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีงานทำ และการที่ครูกลุ่มนี้ต้องผ่านระบบการประเมินภายใน 2 ปี ซึ่งในโรงเรียนก็จะมีทั้งครูพี่เลี้ยง ผู้อำนวยการที่ให้คำปรึกษา และการที่ได้สอนในแต่ละวันก็จะเป็นตัวชี้ชัดว่า เด็กเข้าใจหรือไม่ เด็กมีเสียงสะท้อนกลับมาอย่างไร ซึ่งกลุ่มครูเหล่านี้ต้องรับไปปรับปรุง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน แต่ไม่ใช่ระยะยาว เนื่องจากระบบที่มีไม่สามารถผลิตคนได้อย่างพอเพียง จึงต้องใช้วิธีนี้
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 28 มีนาคม 2560