คาดแห่สมัครสอบครูผู้ช่วย1.5แสน หลังศธ.ทลายกำแพงไม่ต้องมี"ตั๋วครู"เป็นใบเบิกทาง
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
คาดแห่สมัครสอบครูผู้ช่วย1.5แสน หลังศธ.ทลายกำแพงไม่ต้องมี"ตั๋วครู"เป็นใบเบิกทางสพฐ.ประชุมวิดีโอทางไกล ผอ.เขตฯ ทั่วประเทศ สร้างความเข้าใจหลักเกณฑ์สมัครใหม่ "การุณ" คาดคนแห่สมัครกว่า 1.5 แสนคน เผยมีการแยกกลุ่มผู้สมัคร แบ่งเป็นมี-ไม่มีตั๋วครู หวังใช้เป็นข้อมูลสังเคราะห์อัตราส่วนในการสอบ และปรับปรุงการสอบบรรจุในครั้งต่อไป เชื่อคนจบครูมีภาษีมากกว่าอยู่แล้ว
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดประชุมวิดีโอทางไกลร่วมกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในการรับสมัครสอบสอบเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีทั่วไป สังกัด สพฐ. เนื่องจากคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับสมัคร โดยเปิดให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูตามที่คุรุสภาออกให้ เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอนก่อน สามารถสมัครสอบครูผู้ช่วยได้ ซึ่งจะมีการรับสมัครระหว่างวันที่ 29 มีนาคม-4 เมษายน 2560 โดยมีอัตราว่างประมาณ 12,000 อัตรา ดังนั้นทุกเขตพื้นที่ฯ ที่เปิดสอบจะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้ซักซ้อมความเข้าใจด้วยว่า ในกรณีที่มีผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูสอบได้ ทางคณะกรรมกาศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จะต้องจัดส่งบัญชีรายชื่อมายัง สพฐ. เพื่อดำเนินการประสานไปยังคุรุสภาในการออกหนังสืออนุญาตปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูให้ ซึ่งจะถือว่าเป็นผู้ที่มีสิทธิ์สมบูรณ์ที่จะได้รับการบรรจุเป็นครูผู้ช่วย อย่างไรก็ตาม ภายในระยะเวลา 2 ปี คนกลุ่มนี้จะต้องพัฒนาตัวเองโดยศึกษาเพิ่มเติมในหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) เพื่อให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามเงื่อนไขของคุรุสภา
"เมื่อมีการเปิดกว้างให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมาสมัครสอบได้ เชื่อว่าปีนี้จะมีผู้ให้ความสนใจมาสมัครสอบครูผู้ช่วยมากถึงประมาณ 150,000 คน จากปีที่ผ่านมาที่มีผู้สมัครกว่า 130,000 คน ซึ่งในการสมัครจะต้องมีการแยกกลุ่มผู้สมัครที่มีใบอนุญาตฯ กับไม่มีใบอนุญาตฯ เพื่อนำมาใช้ในการสังเคราะห์ข้อมูลว่ากลุ่มใดมีอัตราส่วนในการสอบได้มากกว่ากัน และจะนำเป็นข้อมูลในการปรับปรุงการสอบบรรจุในครั้งต่อไป" เลขาฯ กพฐ.กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีนักศึกษาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ หลักสูตร 5 ปี ออกมาโวยว่าการปรับเกณฑ์ดังกล่าวทำให้ผู้ที่เรียนหลักสูตรครู 5 ปีเสียเปรียบนั้น นายการุณกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ที่ต้องการเปิดทางให้ได้คนดี คนเก่งมาเป็นครู ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประเทศ ทั้งนี้ ตนมองว่าการสอบภาค ข. ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง และภาค ค. ความรู้ความเหมาะสมกับตำแหน่ง ผู้ที่เรียนจบวิชาชีพครูจะมีภาษีมากกว่าอยู่แล้ว.
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 22 มีนาคม 2560