สพฐ.ปรับโครงสร้างขับเคลื่อนปฏิรูป
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สพฐ.ปรับโครงสร้างขับเคลื่อนปฏิรูปหดเหลือ10สำนักจากเดิมมี12สำนัก/เปิดโอกาสจนท.โยกได้ตามความสมัครใจ
เตรียมยกเครื่องปรับโครงสร้างภายใน สพฐ. หดเหลือ 10 สำนัก เพิ่มความคล่องตัวเพื่อขับเคลื่อนงานการปฏิรูป เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่พิจารณาโยกตัวเองเข้าสังกัดหน่วยงานใหม่ได้ตามความสมัครใจ
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้หารือร่วมกับ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่าจะวางกรอบแนวทางการปรับโครงสร้าง สพฐ. ลดหน่วยงานภายในเหลือ 10 สำนัก คือ แบ่งสำนักที่ดูแลงานด้านปฏิบัติการ 5 สำนัก และสำนักที่ดูแลงานด้านสนับสนุน 5 สำนัก ซึ่งในฝ่ายสนับสนุนจะมีสำนักที่ขึ้นตรงต่อเลขาฯ กพฐ.จำนวน 2 สำนัก ซึ่งจากนี้แต่ละสำนักภายในของ สพฐ.ที่มีอยู่เดิม จะต้องกลับไปหารือและสร้างความเข้าใจว่าภาระงานของตัวเองตรงกับสายงานด้านใด และจะต้องย้ายอยู่ในสำนักไหน อีกทั้งสำนักต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นใหม่ตามโครงสร้างดังกล่าวจะสามารถช่วยในการขับเคลื่อนงานปฏิรูปการศึกษา และสอดคล้องกับสภาพปัญหาในปัจจุบัน รวมถึงเป็นไปตามนโยบายยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ด้วย
"เนื่องจาก สพฐ.จำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อนในรูปแบบใหม่แล้ว แต่จากการหารือตอนนี้เป็นเพียงการแบ่งภาระงานกว้างๆ เท่านั้น ยังไม่ได้ลงรายละเอียดว่าจะมีสำนักอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีที่มีผู้กังวลว่าจะมีการยุบหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษานั้น ผมยืนยันว่าจะมีหน่วยงานที่มาขับเคลื่อนงานในเรื่องนี้อย่างชัดเจนแน่นอน ส่วนเรื่องการย้ายคนหรือการปรับคนเข้าสู่สำนักตามโครงสร้างใหม่นั้น จากการหารือ รมว.ศธ.ได้ให้นโยบายว่าจะต้องยึดหลักความสมัครใจเป็นอันดับแรก และตรวจสอบคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถเดิมให้ใกล้เคียงกับหน้าที่ใหม่ด้วย และที่สำคัญตำแหน่งจะต้องไม่ต่ำกว่าเดิม" เลขาฯ กพฐ.กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงสร้างปัจจุบันของ สพฐ.แบ่งการทำงานออกเป็น 12 สำนัก 22 หน่วยงานย่อย ประกอบด้วย 1.กลุ่มพัฒนาระบบบริหารราชการ 2.หน่วยงานตรวจสอบภายใน สพฐ. 3.สำนักอำนวยการ 4.สำนักคลังและสินทรัพย์ 5.สำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 6.สำนักทดสอบทางการศึกษา 7.สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน 8.สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน 9.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 10.สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา 11.สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติกร 12.สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา 13.สำนักงานพัฒนาการศึกษาเขตพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ 14.สำนักพัฒนากิจการนักเรียน 15.สถาบันภาษาอังกฤษ 16.สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย 17.ศูนย์บริหารโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย 18.สำนักงานบริหารงานการศึกษาภาคบังคับ 19.ศูนย์พัฒนาการนิเทศและเร่งรัดคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน 20.ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน 21.ศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล 22.สำนักงานกองทุนเพื่ออาหารกลางวัน 21.ศูนย์ขับเคลื่อนนโยบายความเหลื่อมล้ำเพื่อความเป็นธรรมในสังคม และ 22.ศูนย์ปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 20 มีนาคม 2560