ศธ.ยกเลิกขอวิทยฐานะด้วยงานวิชาการ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ศธ.ยกเลิกขอวิทยฐานะด้วยงานวิชาการใช้นับชม.สอน-ให้ครูอบรมแทน/ชงตั้งสถาบันคุรุพัฒนาเข้าบอร์ดคุรุสภา
"หมอธี" ลั่น 5 ก.ค.นี้ ยกเลิกระบบขอวิทยฐานะด้วยผลงานวิชาการแบบกระดาษ ปรับรูปแบบใหม่ นับ ชม.สอน-ให้ครูอบรมแทน เสนอตั้งสถาบันคุรุพัฒนาทำหลักสูตรอบรมเป็นรูปธรรมเชื่อมกับการขอเลื่อนขั้น ชงเข้าบอร์ดคุรุสภา 15 มีนา.นี้
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ตนได้มีการหารือถึงเรื่องการจัดตั้งสถาบันคุรุพัฒนา ซึ่งจะเป็นสำนักภายในของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เพื่อทำหน้าที่ในการพัฒนาและจัดอบรมครูในสังกัด สพฐ. โดยจะมีการจัดทำหลักสูตรการอบรมครูในรูปแบบใหม่ นอกจากนี้ หากหน่วยงานอื่นต้องการจัดหลักสูตรเพื่ออบรมก็สามารถนำมาให้สถาบันคุรุพัฒนาให้การรับรองหลักสูตรได้อีก นอกจากนี้ ครูสามารถเลือกหลักสูตรอบรมได้ตามที่ต้องการ สถาบันคุรุพัฒนาจะช่วยให้คำแนะนำครูว่าจะพัฒนาเรื่องไหนถึงจะเชื่อมโยงกับการขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะแนวใหม่ ขณะนี้ สพฐ.มีงบพัฒนาครูอยู่แล้วประมาณ 10,000 บาทต่อคนต่อปี ที่ผ่านมาให้แบบกระจัดกระจาย แต่หลังจากนี้จะจัดเป็นคูปองให้กับครูเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาตนเอง โดยคูปองดังกล่าวจะมีอายุ 1 ปี ทั้งนี้ เหตุผลที่ต้องมีการจัดตั้งสถาบันคุรุพัฒนาเพื่อให้มีผู้รับผิดชอบพัฒนาและอบรมครูอย่างเป็นรูปธรรม ตนจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภาในวันที่ 15 มีนาคมนี้
นพ.ธีระเกียรติกล่าวต่อว่า เมื่อสถาบันคุรุพัฒนาจัดทำหลักสูตรอบรมครูขึ้นมา ครูจะเลือกเองว่าจะอบรมเรื่องไหน โดยครูจะต้องมีพอร์ตฟอริโอและล็อกบุ๊กเพื่อบันทึกชั่วโมงการสอน รวมทั้งการอบรม หรือเป็นการรวมกลุ่มเพื่อจัดการความรู้และแชร์ประสบการณ์ในระบบ PLC หรือกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบแอคทีฟเลิร์นนิง ซึ่งสามารถนำไปเป็นหลักฐานในการขอวิทยฐานะได้ ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำลังไปคิดการนับชั่วโมงการอบรมพัฒนา ว่าอบรมอะไร กี่ชั่วโมงถึงจะได้วิทยฐานะชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เป็นต้น ทั้งนี้ หลังจากจัดทำหลักสูตรอบรมเสร็จจะเริ่มการอบรมและให้เริ่มขอวิทยฐานะรูปแบบใหม่ได้ หลังจากที่ชะลอมานาน ส่วนผู้ที่ค้างท่ออยู่จะให้ดำเนินการต่อไป โดยนำรูปแบบเก่าและใหม่ผสมผสานกัน แต่จะยกเลิกการพิจารณาผลงานทางวิชาการ
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชหัตถเลขาเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 ว่า ปัญหาปัจจุบันของครูคือ มุ่งเขียนงานวิทยานิพนธ์เพื่อให้มีเงินเดือนสูงขึ้น ส่วนครูที่มุ่งการสอนหนังสือกลับไม่ได้อะไรตอบแทน ซึ่งในวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 นี้ ผมจะยกเลิกระบบการทำผลงานทางวิชาการที่เป็นกระดาษอย่างเป็นทางการ แต่จะให้นับชั่วโมงการสอน การอบรม การทำ PLC และแอคทีฟเลิร์นนิงมาใช้แทน" รมว.ศธ.กล่าว.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 14 มีนาคม 2560