เปิดหลักเกณฑ์ ออมสิน-ธกส. ปล่อยกู้แก้หนี้นอกระบบ-ดอกเบี้ยถูก
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
เปิดหลักเกณฑ์ ออมสิน-ธกส. ปล่อยกู้แก้หนี้นอกระบบ-ดอกเบี้ยถูกธนาคารออมสิน-ธกส. ปล่อยกู้ 1 หมื่นล้านบาท ผู้มีรายได้น้อย เพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะเวลาการให้กู้ยืมไม่เกิน 5 ปี
หลังจากที่ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติโครงการสินเชื่อรายย่อยให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยหวังแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ วงเงินคนละ 5 หมื่นบาท ดอกเบี้ย 0.85 ต่อเดือน นั้น
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ผู้สื่อข่าวเวิร์คพอยท์ รายงานว่า นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ครม. มีมติเห็นชอบให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย และเกษตรกรรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์สินเชื่อของธนาคารได้ แต่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน เช่น ค่ารักษาพยาบาล และค่าเล่าเรียน เป็นต้น
ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อดังกล่าวจะช่วยให้กลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อย สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ในกรณีมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินเร่งด่วน โดยไม่ต้องไปใช้บริการสินเชื่อนอกระบบ ซึ่งสรุปหลักเกณฑ์ได้ ดังนี้
1. เพื่อให้สินเชื่อแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อยที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนภายในครอบครัว โดยต้องไม่เป็นการ Refinance หนี้ในระบบ
2. วงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 10,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นวงเงินสินเชื่อธนาคารออมสินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท
3. วงเงินให้สินเชื่อต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท
4. กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ประชาชนที่มีการประกอบอาชีพ และ/หรือเกษตรกรที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน
5. ระยะเวลาการยื่นขอสินเชื่อภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินโครงการ
6. ระยะเวลาการให้กู้ยืมไม่เกิน 5 ปี
7. อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ไม่เกินร้อยละ 0.85 ต่อเดือน
8. ต้องมีบุคคลค้ำประกันอย่างน้อย 1 คน และ/หรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
9. โดยหลักเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อ จะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้จากรายได้และค่าใช้จ่ายรวมของบุคคลในครอบครัวเป็นหลัก โดยสามารถตรวจสอบประวัติการชำระหนี้จากเครดิตบูโรได้ แต่จะไม่นำมาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาสินเชื่อ
10. วงเงินงบประมาณที่รัฐบาลชดเชยสูงสุดไม่เกิน 4,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นวงเงินชดเชยให้กับธนาคารออมสินไม่เกิน 2,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. ไม่เกิน 2,000 ล้านบาท
ขอบคุณเนื้อหาและที่มาของข่าวจาก :: เว็บไซต์กระปุกดอทคอม วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560