รมว.ศึกษาฯ ลั่นปฏิรูปครูสำเร็จ
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
รมว.ศึกษาฯ ลั่นปฏิรูปครูสำเร็จรมว.ศธ.ประกาศปฏิรูปวงการครูให้สำเร็จในยุครัฐบาล คสช. ถ้าไม่ทำประตูปิดแน่ เปลี่ยนระบบจูงใจให้เงินเพิ่มครูในห้องเรียนสอนเด็กแบบไม่กั๊กไว้ติว แล้วลดบทบาทครูที่มุ่งอัพเกรดเพิ่มวุฒิเพิ่มเงินเดือน
วงการการศึกษาไทยในปัจจุบัน แม้ไม่ถึงขั้นวิกฤติ แต่ก็ไม่พัฒนามานานทั้งๆ ที่ทุกฝ่ายเห็นเป็นเรื่องสำคัญ โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้รับงบมากที่สุด อย่างล่าสุดปี 60 อยู่ที่ 519,292 ล้านบาท หรือ 20% ของงบรายจ่าย ปัญหาอยู่ที่ครูทิ้งห้องเรียนทิ้งนักเรียน มุ่งอัพเกรด เพิ่มเงินเดือนและตำแหน่ง
น.พ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ. กล่าวว่า เป็นความตั้งใจของตนเองในการเป็นรัฐมนตรีว่าการ เพื่อสนองพระราชกระแสรับสั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ดังนั้นภารกิจหลักก่อนพ้นเก้าอี้คือดูแลครู เป็นครูจริงๆ ที่สอนอยู่ในห้องเรียน ให้ได้ผลตอบ แทนเพิ่มขึ้น สวัสดิการมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องลดบทบาทและ ผลตอบแทนครูที่ย้ายโรงเรียน บ่อย มุ่งแต่ทำวิทยานิพนธ์
"เป็นอำนาจของรัฐมนตรี ว่าการที่ทำได้เลย ไม่ทำยุคนี้ไม่รู้จะทำยุคไหน ผมคุยกับปลัดกระทรวงเรียบร้อย มอบหมายเป็นนโยบายและใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากภายนอกเข้ามาร่วมทีมเพื่อวางมาตรฐานใหม่ กรณีที่ต่อไปมีรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วเปลี่ยนคงไปห้ามไม่ได้ แต่อย่างน้อยต้องใช้กฎหมายป้องกันให้มีการแก้ไขได้ยาก"
โดยที่ประชุมคณะกรรม การข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มีตนเป็นประธาน ได้รับทราบแล้วว่าต่อไปการวัดบุคลากรไม่ใช่แค่ความสามารถแต่ต้องดูศักยภาพเป็นหลัก ต้องให้น้ำหนัก ครูที่เน้นการสอนในห้องเรียน ไม่กดดันทางด้านเงินหรือความเป็นอยู่จนต้องไปหารายได้พิเศษ ด้วยการเปิดสอนติว หรืออัพปริญญา นอกจากนี้ต้องตัดเงินค่าวิทยฐานะลงมาด้วย
ยิ่งเห็นตัวเลขเงินเดือนในปัจุบันยิ่งเห็นความแตกต่าง เพราะข้อมูลล่าสุด ครูโรงเรียนรัฐบาล มีเงินเดือนเฉลี่ย 4.1 หมื่นบาท รองผู้อำนวยการ 7 หมื่นบาท ระดับผู้อำนวยการได้รับผลตอบแทนสูงถึง 1 แสนบาท
"จากนี้ไปหรือภายใน 5 ปี ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด งบประมาณที่หมดไปกับค่าวิทยฐานะสูงถึง 3.5 หมื่นล้านต้องไม่มีอีก ผมยังหวังอีกว่าการปรับรูปแบบใหม่ด้วยแรงจูงใจค่าตอบแทนที่สูงขึ้นให้กับความเป็นครู จะช่วยดึงคนเก่งเข้ามาช่วยยกระดับการศึกษาของไทย" รมว.ศธ.กล่าว
น. พ.ธีระเกียรติยอมรับด้วยว่ามีแนวคิดแยกกระทรวงอุดมศึกษาออกไป เนื่องจากไม่เกี่ยวกับนโยบายหลัก โดยตั้งเป้าร่าง พ.ร.บ.แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน เพิ่มล้มเลิกโครงสร้างการบริหารที่มีผู้บริหารระดับสูงในระดับ 11 เทียบเท่าปลัดกระทรวงถึง 5 คน ใน 5 องค์กรหลักที่มักถูกเรียกว่า 5 แท่ง ศธ.
ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาคณะกรรมการเตรียมความพร้อมจัดตั้งกระทรวงจากหลายส่วนทั้งอธิการบดีแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏ เทคโนโลยีราชมงคล คณะกรรมการการอุดมศึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก
"ต้องให้น้ำหนักครูที่เน้นสอนในห้องเรียนไม่กดดันทางด้านเงิน"
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 26 - 28 ม.ค. 2560