สพฐ.สรุปมีโรงเรียนในสังกัดขอเข้าโครงการเป็นโรงเรียนไอซียู 4,500 โรง
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
สพฐ.สรุปมีรร.ขอเข้า"ไอซียู"4.5พันโรงสพฐ.สรุปมีโรงเรียนในสังกัดขอเข้าโครงการเป็นโรงเรียนไอซียู 4,500 โรง การุณเผยต้องเอามาคัดแยกอีกว่าวิกฤติจริงไม่ และสอดคล้องปัญหา 7ประการหรือไม่ เพราะมีงบพัฒนาแค่ 2-3 พันล้าน คาดเสนอชื่อให้ "ปลัด ศธ." พิจารณาภายในสัปดาห์นี้
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือพัฒนาเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วน หรือโรงเรียนไอซียู ว่าขณะนี้มีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอเข้าร่วมโครงการ จำนวน 4,518 โรง แบ่งเป็นสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 4,206 โรง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 312 โรง ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการจัดระบบข้อมูลและคัดกรองโรงเรียนประสบปัญหาวิกฤติ โดยมีคณะทำงานที่เรียกว่ากลุ่มคลัสเตอร์ จะทำหน้าที่เป็นผู้วิเคราะห์ข้อมูลโรงเรียนที่เสนอเข้าโครงการ รวมถึงโรงเรียนที่เห็นว่าจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วน แต่ไม่ได้เสนอขอเข้าร่วมโครงการด้วย สำหรับแนวทางการวิเคราะห์ ทางกลุ่มคลัสเตอร์จะจำแนกว่าโรงเรียนไหนมีปัญหาเข้าขั้นไอซียูจริงหรือไม่ และวิเคราะห์ตามความจำเป็นเร่งด่วนในการเข้าไปช่วยเหลือตามสภาพปัญหาวิกฤติทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ ด้านคุณภาพ ด้านกายภาพ ด้านบุคลากร ด้านการบริหารจัดการ ด้านโอกาสทางการศึกษา ด้านยาเสพติด มลพิษ และด้านอื่นๆ จากนั้นจะจัดลำดับเพื่อให้เห็นภาพว่าโรงเรียนไหนที่ต้องเข้าไปช่วยแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
"ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงจัดลำดับรายชื่อโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวแล้ว ก็จะเสนอให้นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) ในฐานะประธานคณะทำงานโครงการโรงเรียนไอซียู เพื่อพิจารณาภายในสัปดาห์นี้ และนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนที่จะประกาศให้เป็นโรงเรียนไอซียูต่อไป" เลขาฯ กพฐ.กล่าว
นายการุณกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณในการดำเนินโครงการโรงเรียนไอซียูนั้น ทาง สพฐ.ได้จัดสรรงบปี 2560 ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับสภาพปัญหาทั้ง 7 ด้านอยู่แล้ว และในบางด้านอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้งบ เช่น ด้านบุคลากร อาจจะใช้อำนาจทางการบริหาร การโยกย้าย หมุนเวียนบุคลากร เป็นต้น ซึ่ง สพฐ.ก็จะนำงบประมาณมาใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุดในการแก้ปัญหาโรงเรียนไอซียู รวมถึงโรงเรียนที่ประสบอุทกภัยทางภาคใต้ อย่างไรก็ตาม หากไม่เพียงพอก็อาจจะต้องเสนองบกลางต่อไป ก่อนหน้านี้ ศธ.เคยระบุว่ามีโรงเรียนไอซียูในประมาณ 6,000 โรง ซึ่งรวมทั้งโรงเรียนสังกัด สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) แต่โรงเรียนอาชีวะยังไม่นิ่ง เนื่องจากทาง สอศ.ส่งรายชื่อมาทุกโรงเรียน ซึ่งทาง ศธ.ให้ไปคัดกรองกลับมาใหม่.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 24 มกราคม 2560