LASTEST NEWS

29 ก.ค. 2567ชี้ครู 80% เริ่มเข้าใจการเรียนการสอนแบบ Active Learning 29 ก.ค. 2567โรงเรียนอนุบาลนางรอง(สังขกฤษณ์อนุสรณ์) รับสมัครครูอัตราจ้าง เงินเดือน 9,140 บาท ตั้งแต่บัดนี้ - 1 ส.ค.2567 29 ก.ค. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู รอบที่ 2 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ (ต่อ) 29 ก.ค. 2567(( รวมลิงก์ )) ประกาศผลการย้ายครู รอบที่ 2 ประจำปี พ.ศ.2567 ทุกจังหวัด ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ 28 ก.ค. 2567รัฐบาล เชิญชวนส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ประชาชน สวมใส่เสื้อเหลืองตราสัญลักษณ์ฯ ทุกวันจันทร์โดยพร้อมเพรียง 28 ก.ค. 2567กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดสอบบรรจุเข้ารับราชการ 12 อัตรา วุฒิปวส. เงินเดือน 12,650-13,920 บาท สมัครตั้งแต่บัดนี้ - 14 สิงหาคม 2567 28 ก.ค. 2567มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เปิดสอบบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย 73 อัตรา สมัครทางอินเทอร์เน็ตตั้งแต่บัดนี้ - 8 สิงหาคม 2567 28 ก.ค. 2567สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ รับสมัครสอบบรรจุเข้ารับราชการ ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ 20 อัตรา ตั้งแต่วันที่ 1-7 สิงหาคม 2567 28 ก.ค. 2567สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ รับสมัครสอบบรรจุเข้ารับราชการ ตำแหน่งเภสัชกรปฏิบัติการ ตั้งแต่วันที่ 1-7 สิงหาคม 2567 28 ก.ค. 2567โรงเรียนอนุบาลนานาชาติตากสินระยอง รับสมัครครูอัตราจ้าง และลูกจ้างชั่วคราว 11 อัตรา ตั้งแต่บัดนี้ - 31 ก.ค.2567

7 ข้อคิดสำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ต้องเตรียมตัว-เตรียมใจตกงาน

  • 04 ม.ค. 2560 เวลา 00:58 น.
  • 29,544
7 ข้อคิดสำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ต้องเตรียมตัว-เตรียมใจตกงาน

นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ LINE it! - +

7 ข้อคิดสำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ต้องเตรียมตัว-เตรียมใจตกงาน
 
อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
       สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
       สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
       คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ผมได้ศึกษาและสังเกตสถานการณ์อุดมศึกษาไทยมาสักระยะหนึ่งและได้เขียน
บทความสังคมผู้สูงอายุกับอุดมศึกษาไทย จะไปรอดหรือไม่? 
บทความ มหาวิทยาลัยไทยจะอยู่รอดได้หรือไม่? 
และ • บทความ อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัว พัฒนาตัวเอง และเตรียมตัวตกงาน

หลังจากที่ได้เขียนบทความล่าสุดออกไป เพื่อนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่งที่มีฝีมือความรู้ความสามารถในวิชาชีพยอดเยี่ยมทั้งในทางวิชาการ ในทางปฏิบัติ และในทางธุรกิจ และได้ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยไปเป็นผู้บริหารใหญ่ในบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศ เพื่อนของผมบอกว่าวันที่ตัดสินใจลาออกตั้งใจจะเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงน้องๆ อาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยให้เตรียมตัว เราได้คุยกันและมีความเห็นตรงกันค่อนข้างมาก 

แต่เพื่อนผมได้กล่าวว่า การลาออกจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยทำให้ขาดอิสระในการแสดงความคิดเห็น เพราะหากพูดถึงเรื่องใดที่อ่อนไหวแล้วจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่ตนเองเป็นผู้บริหารอยู่ การลาออกจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจึงมีต้นทุนเช่นกัน เมื่อได้คุยกันแล้วผมมีความเห็นว่าบทความที่เพื่อนผมเขียนนั้นน่าจะเป็นประโยชน์กับอาจารย์มหาวิทยาลัยทุกคน ในสถานการณ์เช่นนี้ ผมจึงขอเพื่อนนำบทความดังกล่าวมาเผยแพร่ดังนี้ 
 

ขออำลาจากมหาวิทยาลัยในฐานะอาจารย์


เรียนพี่ๆ น้องๆ คณาจารย์ ทุกท่าน นับแต่ วันที่ผมกลับจากอเมริกา เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2551 และได้รับความเมตตาจากศาสตราจารย์ ดร. _______ ให้เข้ามาช่วยงาน และผลักดันให้ผมเข้ามาเป็นอาจารย์คณะของเรานั้น ผมถือเป็นโอกาสที่ดีที่สุดอันหนึ่งในชีวิตที่ได้ กลับมาสู่คณะ ที่เหมือนเป็นบ้าน และได้มีโอกาสทำงานหลายๆ อย่างที่น่าสนใจ และแน่นอนว่าโอกาสที่ได้เป็นอาจารย์ นี้เปิดประตูไปสู่โอกาสอื่นๆ อีกมากมาย

โอกาสหนึ่งในนั้นคือโอกาสที่ได้ ทำงานด้านที่ปรึกษากับบริษัทเอกชนต่างๆ และองค์กรของรัฐ ซึ่งผมก็มีโอกาสที่ได้ ทำงาน Practice เอง จัดตั้งองค์กรตัวเอง และทำงานผ่านมหาวิทยาลัยในนามศูนย์บริการวิชาการ ซึ่งทำให้เราได้เปิดโลกทัศน์ และฝึกฝนฝีมือด้านการทำงาน ด้านการบริหาร และด้านต่างๆ มาเป็นลำดับ ในขณะเดียวกันก็รักและมีความสนุกในการสอนหนังสือตามสมควร

แต่เมื่อเวลาผ่านไปสองด้านก็มีภาระมากขึ้น ผมก็เริ่มมีจุดที่จะ balance ไม่ไหว และทำให้งานที่ออกมาเริ่มไม่ดี เหมือนคนที่ต้องถ่างออกไปเรื่อย จนผมก็ต้องค่อยๆ ถามตัวเองว่า เราถนัดด้านไหน เราจะเอาดีทางไหน และเราต้องการอะไรในชีวิตนี้ ที่เป็นสิ่งที่ทำแล้วเรามี Passion มีความสนุก มีแรงใจที่จะทุ่มเทให้กับมันจริงๆ ตื่นขึ้นมาแล้วอยากทำมันจริงๆ

แล้วในที่สุด คำตอบที่ได้มา ก็ชัดเจน คือ ผมมองว่าตัวผมเอง นั้นคือ นักธุรกิจ 

ผมตระหนักว่า ตัวผมมีจิตใจที่ ทะเยอทะยาน ต้องการพัฒนาธุรกิจ สร้างองค์กร ขยายขุมกำลังคน ซึ่งผมเองก็ได้มีโอกาสพิสูจน์ความสามารถตรงนี้ในการ สร้างบริษัทเล็กๆ ของผม ขึ้นมา และประสบความสำเร็จตามสมควร ในรอบ 4 ปี ที่ผ่านมา

บัดนี้ ผมได้มีโอกาสที่ ได้รับการหยิบยื่นจากผู้ใหญ่ที่นับถือ ให้ไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทลูกของ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง ที่มีแผนปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ และขยายกิจการ อันเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากสำหรับผม

ผมจึงได้ตอบตกลง

บริษัทของผมที่สร้างมากับมือ ก็จะดำเนินไปตามปกติโดยทีมงานที่มีคุณภาพ ลูกค้าคงไม่ต้องห่วงอะไร ส่วนที่ทำงานใหม่ที่จะไปดำรงตำแหน่ง เราก็ต้องเข้าไปรับผิดชอบ แต่แน่นอนว่า สิ่งที่ต้องยุติ และอำลาตรงนี้ คือ การดำรงตำแหน่ง อาจารย์มหาวิทยาลัย

ผมได้ยื่นหนังสือ ลาออกจากการเป็นอาจารย์แล้ว โดยท่านหัวหน้าภาควิชา และท่านคณบดีได้อนุมัติแล้ว ให้มีผลในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 

บุญคุณที่ได้จากมหาวิทยาลัย ทั้งในระดับคณะ ในระดับมหาวิทยาลัย และในระดับของจิตวิญญาณ ที่พี่ๆ น้องๆ อาจารย์ เจ้าหน้าที่ รวมทั้งลูกศิษย์ ที่สนับสนุนผมมาคงไม่อาจทดแทนได้หมดสิ้นในชาตินี้

สิ่งที่ทำได้คือ สัญญาว่าหากมีโอกาส จะใช้ความสามารถที่มี และเวลาที่มี ทำประโยชน์ ให้มากที่สุดให้กับประเทศชาติ และสังคมของวิชาการในส่วนรวม 

สิ่งใดๆ ที่ผมได้ล่วงเกิน หรือทำให้พี่ๆ น้องๆ เพื่อนร่วมงานในคณะท่านใดไม่สบายใจ ผมขอกราบขออภัย และขออโหสิกรรม มา ณ ที่นี้ สิ่งใดๆ ที่เป็นความทรงจำระหว่างเราที่ดีต่อกัน และบุญคุณที่ได้รับจากทุกท่าน ผมจะจดจำไว้ ไม่มีวันลืม

กราบขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย โปรดดลบันดาลให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และมีสุขภาพแข็งแรง คิดสิ่งใด สมความปราถนาทุกประการ 

ขออำลา

และต่อไปนี้จะเป็นคำพูดที่ขอบอกเป็นส่วนตัวในฐานะที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมา 8 ปี สิ่งที่จะฝากน้องๆ ที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่อายุ 40 ลงไป และจะต้องอยู่กับมหาวิทยาลัยไปอย่างน้อย 20+ ปี (คงจะไม่เตือนรุ่นพี่ หรือรุ่นอาจารย์ เพราะไม่บังอาจ หากใครเป็นอาจารย์ที่คิดว่า ชีวิตตัวเองดี ไม่มีปัญหา และมั่นคงแล้วกรุณาขอให้หยุดอ่านตรงนี้ได้เลยครับ) 

ในยุคที่ มหาวิทยาลัยทั้งประเทศ กำลังค่อยๆ ปิดตัวลง คนยุคใหม่ถามคำถามที่ ง่ายๆ แต่หนักหน่วงคือ “มหาวิทยาลัยมีไว้ทำไม?” หรือ “ต้องไปเรียนมหาวิทยาลัยมั้ย ถึงจะมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จ” แล้วสักวัน เมื่อคนคิดว่ามหาวิทยาลัยหรือปริญญาไม่ได้มีความจำเป็นอีกต่อไป เมื่อความรู้เป็นของฟรีที่อยู่ในโลก Online เมื่อทักษะเป็นสิ่งที่หาได้จากการลงมือทำ และเมื่อทัศนคติเกิดขึ้นจากประสบการณ์ แล้วบทบาทของมหาวิทยาลัยจะเป็นอย่างไร – แล้วบทบาทของ “อาจารย์มหาวิทยาลัย” จะเป็นอย่างไร คุณต้องระวังให้มาก เพราะการ Shift ครั้งนี้ จะเกิดในช่วงชีวิตของคุณ ในเวลาไม่นานนี้แน่นอน คุณลองดูมหาวิทยาลัยที่ไม่มีเด็กมาเรียน มหาวิทยาลัยที่ค่อยๆ ปิดตัวลง รอบๆ ตัว มันเกิดขึ้นแล้ว และในที่สุดมันก็จะวิ่งมาถึงมหาวิทยาลัยระดับสูงในที่สุด อยากขอแนะนำน้องๆ จริงๆ ให้พิจารณาปฏิบัติ ดังนี้ 

1.“ลดอัตตา” ลง ขอให้น้องๆ บอกตัวเองเสมอว่า เราไม่ได้เก่งกว่าคนอื่น ไม่ว่าน้องจะสอนสาขาไหนก็ตาม อย่าคิดว่าเราเก่งเรื่องนั้นที่สุดกว่าใคร ถ้าเราคิดแบบนั้น สมองเราจะปิด น้องอาจจะสอนวิชาหนึ่งทีน้องมีความรู้ดีมากๆ แต่การออกไปลงมือใช้ความรู้นั้นทำงานให้เกิดผลจริงเป็นรูปธรรม เราต้องไปบริหารเงิน บริหารความเสี่ยง บริหารคน บริหารสถานการณ์ต่างๆ อีกมาก มันต่างกับโลกของทฤษฎี เช่น พี่กล้าบอกว่าอาจารย์สถาปัตยกรรมศาสตร์ทำงานเต็มเวลาไม่มีทางออกแบบอาคารได้ เก่งกว่าบริษัทชั้นนำของประเทศในโลกเอกชนหรอก นั่นเขาทำงานจริงๆ ตลอดเวลา ทำทุกวัน ดังนั้นน้องต้องให้เกียรติทุกคนที่เขาอาจจะไม่ได้ จบ ดร. หรือ มีตำแหน่งวิชาการเหมือนน้อง แต่เขาอาจจะเก่งกว่าน้องมากๆ ในทางปฎิบัติ หากวัดกันที่การทำงานให้เห็นผล น้องสู้เขาไมได้หรอก ดังนั้น น้องควรหาคนที่เก่งระดับนี้ นอกมหาวิทยาลัยให้เจอ แล้วผูกมิตรกับเขา ยกย่องเขา เอาความรู้ของเขากลับมากลั่นกรองให้นิสิตให้มากที่สุด นั่นคือบทบาทของการเป็นอาจารย์ในยุคนี้

2.“เปลี่ยนจากศูนย์กลางแห่งความรู้เป็นศูนย์กระจายความรู้” ถ้าน้องทำข้อแรกได้ น้องจะเริ่มเห็นความเทพของคนเก่งในวงการจริงๆ แล้วได้ตระหนักว่า “กูไมได้เก่ง” และเมื่อน้องไม่ได้เก่งอยู่เสมอ น้องก็จะเปิดใจอยู่เสมอนั่นเอง น้องก็ต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ จากที่ เราเคยเป็นคนที่เป็นศูนย์กลางของห้องเรียนในฐานะผู้ส่งความรู้ จะได้เปลี่ยนมาเป็น ศูนย์กลางอีกแบบ คือศูนย์กลางของเครือข่ายการส่งข้อมูลความรู้ จากที่เป็น Knowledge Guru ต้องเปลี่ยนเป็น Knowledge Facilitator หาของใหม่ๆ จากโลกภายนอก มาสอนนิสิต และเอาของที่ดีๆ ของนิสิตที่เขาคิด พาเขาไปนำเสนอให้องค์กรภายนอกเอาไปใช้ นิสิตก็จะได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ เปิดโลกทัศน์ของเขา เป็นการต่อสายให้เขาพัฒนาไปข้างหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ 

3.“อย่าขาดการติดต่อกับโลกภายนอกมหาวิทยาลัย” ความรู้ในโลกภายนอก โลกแห่งการประกอบวิชาชีพ หรือโลกแห่งการบริหารต่างๆ นั้นเป็น สิ่งที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก ในสมัยก่อนคุณอ่านหนังสือ หรือตำรา แล้วเอามาปรับ สอนนิสิต คุณทำได้ แต่ในปัจจุบัน นิสิตก็อ่านตำราได้ทันกับน้อง และก็ดู Youtube ได้เร็วพอๆ กับน้อง และในเรื่องบางเรื่องเขาอาจจะเก่งกว่าน้องก็ได้ น้องต้องหมั่นหาความจริงจากโลกที่ มันเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว สรุปเอง แล้วมาเขียน หรือสร้างองค์ความรู้ต่อเนื่อง ขอให้น้องเน้นความรู้ที่เป็น Primary เป็นหลัก เขียนขึ้นเองจากสิ่งที่ได้รับมา คนภายนอกที่เก่งเขาก็เก่งปฎิบัติ เขาอาจเขียนหนังสือไม่เป็น ดังนั้นน้องในฐานะคนเขียน (เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย) ต้องเป็นคนเขียนสรุปความรู้เขา น้องอย่าเน้น Secondary มากนัก เพราะเมื่อหนังสือออกมา โลกมันก็เปลี่ยนอีกแล้ว และเมื่อน้องไปติดต่อกับโลกภายนอกมากๆ จากข้อ 1-2 คนที่น้องติดต่อเขาย่อม appreciate น้องว่า น้องมาหาเขา ให้เกียรติเขา ต่อเนื่อง น้องเอาจริง ไม่ใช่มาแป๊บเดียวแล้วก็ไป เขาก็จะเอื้อเฟื้อน้องเต็มที่ น้องได้ความรู้จากเขา ตามเขาทัน เข้าใจเขา แล้วอีกหน่อย โอกาสที่น้องจะไปเป็นที่ปรึกษาของเขา ทำงานให้เขา แบบจริงๆ จังๆ มันจะไปไกลแค่ไหน อย่าลืมว่าน้องคือ คนที่ฉลาด น้องคือคนที่เรียนรู้เร็ว ประมวลผลเร็ว น้องรับของเขามามากๆ สักพักน้องก็ย่อมต้อง มีอะไรเสนอ แนะนำเขากลับไปบ้าง โดยอัตโนมัติ และถ้ามันเป็นข้อเสนอที่ดี เขาก็จะให้โอกาสน้องเข้ามาทำให้เขา ทดลองให้เห็นจริง เอาทฤษฎีมาปฎิบัติกับเขา แล้วน้องก็จะได้ทำสิ่งที่คิดไว้ มีคนออกทุนให้ แล้วยิ่งทำความรู้ก็ได้มากขึ้นไปอีก และแน่นอน รายได้น้องก็มากขึ้นไปด้วย 

4.“หมั่นเช็ค Rating ของตัวเอง” เมื่อได้ทำข้อ 1-2-3 ถามตัวเองเสมอว่า วันนี้ ออกจากมหาวิทยาลัยไป ทำงานข้างนอกมีคนรับไปทำงานหรือไม่ หรือหางานทำเองเลี้ยงตัวเองได้หรือไม่ หรือถ้าเป็นบางสาขาที่ไม่ใช่แนววิชาชีพ มีมหาวิทยาลัยอื่น หรือสถาบันระดับสูงในศาสตร์นั้น มาต่อคิวขอรับตัวไปทำงานเลยหรือไม่ เพราะเขาทึ่งในวิธีคิด ทึ่งในความสามารถ หรือทึ่งในงานวิจัยของน้อง – ถ้ารู้ตัวว่าไม่มีคนจ้าง หรือหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ หรือไม่มีใครมารับไปทำงาน กรุณาแก้ไขโดยด่วน เพราะน้องไม่มีคุณค่าอันเป็นที่ต้องการ (No Market Value) และน้องอย่าหลอกตัวเองว่าน้องกำลังมุ่งไปที่การเป็นอาจารย์สอน คำถามง่ายๆ ตัวน้องเองยังออกไปจากมหาวิทยาลัยไม่ได้ ไม่มีที่ไป แล้วลูกศิษย์ของน้องจะไปรอดมั้ย? นี่ไม่ใช่การสร้างมหาวิทยาลัยหรือพัฒนาวงการการศึกษาแต่อย่างใดเลย หากแต่น้องกำลังเกาะมหาวิทยาลัยเป็นที่พึ่ง และดูดทรัพยากรเพื่อใช้เป็นที่ทำกิน แล้วประเทศชาติมันจะเหลืออะไร อย่าเอาป้ายมหาวิทยาลัยมาเป็นเกราะกำบังความกลวงของตัวเอง (จะบอกว่านิสิตมันก็รู้ ถ้าคุณกลวง มันแค่ไม่พูดเท่านั้นเอง) แต่ควรทำให้ตัวเองแข็งแกร่งเพียงพอเพื่อเป็นเกราะกำบังของมหาวิทยาลัยจะเหมาะสมกว่า

5.“อย่าเจ้ายศเจ้าอย่าง” บุคลากรที่น่าเห็นใจที่สุดในมหาวิทยาลัย คือเจ้าหน้าที่ อาจารย์หลายคนใช้เจ้าหน้าที่ทำงานแบบไม่มีเกรงใจ ใช้แบบไม่มีสาระ และไม่มีแผน ทำให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้เป็นเหยื่อ ไม่มีเส้นทางวิชาชีพ รายได้ก็น้อย หมดกำลังใจ ไร้อนาคต ขอให้อาจารย์น้องๆ คิดถึงใจเจ้าหน้าที่เหล่านี้บ้าง น้องคิดว่าน้องมีชีวิตที่ลำบาก แล้วชีวิตของเขาที่เป็นเบี้ยล่างของน้องเป็นอย่างไร? น้องอาจจะกำลังทำบาปอยู่อย่างไม่รู้ตัวในการทำให้คนเหล่านี้มีความทุกข์ เอาใจเขามาใส่ใจเราบ้าง ว่าถ้าเป็นเขา น้องจะรู้สึกอย่างไร เจ้าหน้าที่บางคนเขาทำงานมาตั้งแต่น้องเป็นนิสิต น้องเคยไหว้เขามา วันนี้น้องเป็นอาจารย์ก็ไม่ควรไปวางอำนาจเบ่งใส่เขา ใช่หรือไม่? สิ่งที่น้องควรจะทำคือ ทำข้อ 1-2-3-4 ให้มาก แล้วได้รายได้ที่ดีควรนำมาแบ่งให้เขา แจกงานให้เขา หารายได้เสริมให้เขา เมื่อน้องต้องการจะอยู่ในระบบ แล้วน้องไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบได้ ก็ต้องใช้ประโยชน์จากระบบ รอเวลาที่น้องจะได้อำนาจมาทำงาน เมื่อน้องได้ประโยชน์ และให้เจ้าหน้าที่ได้ประโยชน์ไปด้วยจากน้อง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันไป รวมทั้งเอื้อเฟื้ออาจารย์รุ่นน้องๆ ของคุณให้เขามาทำงาน ทำวิจัยกับน้องด้วย แบ่ง Credit กันไป หากสักวันน้องต้องการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัย คนเหล่านี้คือฐานเสียงที่จะสนับสนุนน้อง อย่างแน่นอน

6.“ทำกิจกรรมเพื่อสังคม” ถ้าคุณทำ 1-2-3-4-5 งานวิจัยน้องจะมหาศาล เครือข่ายของลูกศิษย์ อาจารย์รุ่นน้อง และองค์กรภายนอก ก็ทรงพลัง ความแข็งแกร่งจะบังเกิด น้องจะอยู่ในกระแส ความเร็วน้องจะไม่ตก น้องจะอยู่บนโลกแห่งความจริงเสมอ น้องควรอาสานั่งเป็นกรรมการใน สมาคมวิชาชีพ หรือ หน่วยงานต่างๆ เป็นที่ปรึกษา หาวิธีช่วยเขา การทีน้องเป็นคนที่มีความรู้ทางทฤษฎีอยู่ และรู้ในเชิงการปฎิบัติด้วย ทำมาแล้วกับมือ รู้หมดถึงใส้ใน มี status ของอาจารย์มหาวิทยาลัยอีกด้วยนั้น จะเป็นสิ่งที่คนต้องการคำแนะนำในการแก้ปัญหาต่างๆ อย่างมาก น้องจะได้เข้ามาเห็นสถานการณ์ของการแก้ปัญหาต่างๆ แบบ frontline และสามารถออกความเห็นให้เหมาะสม น้องจะมี influence ในการทำงานด้านต่างๆ และน้องจะเห็น หัวข้อวิจัยดีๆ ที่ไปทำงานต่อยอดได้อีกอย่างมาก หัวข้อที่มีประโยชน์ต่อสังคมจริงๆ ไม่ใช่สักว่าทำไว้ขอตำแหน่ง หรือไว้ขึ้นหิ้ง (ไม่ทำด้วยเงินตัวเองก็ไปเสนอองค์กรที่คุณรู้จักแล้วให้เขาจ่ายเงินทำก็ได้) แล้วคิดดูว่าหน่วยงานนั้นๆ หากได้งบวิจัย หรือพัฒนามา แล้วน้องก็นั่งเป็นที่ปรึกษาอยู่ตรงนั้น ทำงานให้เขามาอย่างดี เข้าใจวิถีทางของเขาเป็นอย่างดี และทำงานเสร็จได้จริง เห็นผลได้จริง มีบทพิสูจน์มาแล้ว น้องคิดว่า เขาจะให้ใครทำงานวิจัยนี้ ถ้าไม่ใช่น้อง? ขอให้น้องเชื่อว่า น้องจะมีงานวิจัยที่มีแต่คนมาประเคนให้ทำ จนรายได้น้องดี จนน้องต้องปฎิเสธงาน 

7.“ให้ทุนนิสิต” เมื่อทำ 1-2-3-4-5-6 ได้ก็ต้องเริ่มให้ทุนนิสิต ทั้งตรี และโท เพื่อสร้างเครือข่ายของน้อง กระจายความรู้และวิธีคิดแบบน้อง แล้วนิสิตเหล่านี้ก็คือคนที่ช่วยน้องทำงาน น้องก็ต้องตอบแทนเขาให้เหมาะสม ถ้าเขาอยากเป็นนักวิจัยก็ให้เขาเป็น ถ้าเขาอยากทำงานดีๆ ก็ให้เขาได้ทำ เขียนจดหมายส่งเขาให้เขาได้งานดีๆ ตามความจริง น้องควรส่งเสริมเขา ถ้าเขาอยากเป็นอาจารย์น้องก็ต้องสนับสนุน เขาคือฐานรากของวิชาการที่น้องสร้าง แล้วเขาจะต่อยอดวิชาการตรงนั้นออกไปเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ และเมื่อเขาได้รับการปฎิบัติมาดังนี้จากน้อง เขาก็จะต่อยอดทำเหมือนน้องต่อลูกศิษย์คนอื่นๆ ของคน ต่อไปอีกเช่นกัน ไม่มีที่สิ้นสุด ความก้าวหน้าก็จะบังเกิดอย่างยั่งยืน

ถ้าน้องทำ 1-2-3-4-5-6-7 ได้ น้องจะสามารถมีชีวิตที่ดี มีรายได้ที่ดี มีการให้คุณค่าทางวิชาการที่อยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง มีคุณค่าต่อมหาวิทยาลัยและวงการศึกษา พร้อมกับมองเห็นภาพการพัฒนาไปข้างหน้า และน้องจะไม่มีทางหลุดไปจากวงโคจร ไม่ได้เป็นนักทฤษฎีที่วันๆ เอาแต่พูด แต่ทำจริงไม่เป็น แล้วน้องจะไม่ต้องมานั่งคุยกันเรื่องการเรียกร้องรายได้ สวัสดิการใดๆ เพราะสิ่งที่น้องหาได้ มันเพียงพอ ที่จะเผื่อแผ่คนอื่น รอบๆ ตัวด้วยซ้ำ และเมื่อน้องเป็นผู้สร้างรายได้ผลประโยชน์ให้กับองค์กร (มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะได้รับรายได้ไป 10-30% เป็นอย่างน้อยของมูลค่าการวิจัยและการบริการวิชาการที่น้องรับเข้ามาทำ) พร้อมกับคะแนนประเมินที่ดี มันก็ยากที่องค์กรจะเอาน้องออก แล้วถ้าเขาโง่ที่จะเอาน้องออก ก็มีมหาวิทยาลัยอีกมากที่พร้อมอ้าแขนรับอาจารย์ที่คุณภาพดี พร้อมสร้างรายได้เข้าองค์กรแบบน้อง ต่อคิวกันมาไม่หวาดไม่ไหว 

และนั่น…คือความมั่นคงที่แท้จริงในวิชาชีพของคุณ ไม่ใช่การที่คุณได้ ดร. ผศ. หรือ รศ. หรือ แม้แต่ ศ. 
ถ้าคุณมีป้าย แต่คนเขามองออกว่าคุณไม่ใช่ของจริง หรือ มองออกว่าคุณไม่ Update คนเขาก็ไม่เชิญคุณไปทำอะไรหรอก

สุดท้าย ขอบอกน้องๆ อาจารย์มหาวิทยาลัยไว้เพียงเท่านี้ ขอให้ทุกคนโชคดีและประสบความสำเร็จในด้านวิชาการ วิชาชีพ สมความตั้งใจที่มีทุกประการ


ผมคิดว่าเป็น Epilogue หรือส่งท้ายเพื่ออำลาตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยที่น่ารับฟังยิ่ง อย่างที่เคยกล่าวไปแล้ว ไม่น่าห่วงอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ปรับตัวพัฒนาตัวเองได้ดี พวกนี้มีเอกชนหรือภาคส่วนอื่นๆ พร้อมจะเชิญไปร่วมงานสร้างชาติ 

อนึ่งมนุษย์เราก็มีความชอบและความถนัดแตกต่างกัน แต่จะอยู่ที่ใดก็ควรได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักและมีคุณค่าต่อหน่วยงานและสังคมนั้นๆ หากไม่มีคุณค่าเพียงพอแล้วก็อาจจะต้องพัฒนาตัวเองหรือออกไปไม่ให้เป็นภาระแก่สังคม ทั้งหมดนี้สถานการณ์จะเป็นนายของทุกคน แต่หากว่าเราพร้อม มีความรู้ ความสามารถเราก็อาจจะสู้ได้อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี ในทุกที่และทุกสถานการณ์

สวัสดีปีใหม่ครับผม

ขอบคุณข้อมูลจาก :: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่: 2 ม.ค. 2560 11:18:00  โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
  • 04 ม.ค. 2560 เวลา 00:58 น.
  • 29,544

TAGS ที่เกี่ยวข้อง >>

^