"โรงเรียนไอซียู"กว่าหมื่นโรง
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
"โรงเรียนไอซียู"กว่าหมื่นโรง"ธีระเกียรติ"เผยผลสำรวจ"เบื้องต้น"เจอทั้งปัญหาขาดครู-เรียนแย่-ไม่มารร.-ติดยา
"รมว.ศธ." เผยผลสำรวจเบื้องต้นมีโรงเรียนมีปัญหาในชั้นไอซียูกว่าหมื่นโรง ทั้งขาดครู สัมฤทธิผลการเรียนต่ำ เด็กขาดเรียน บางแห่งติดยายกชั้นปี เปิดช่องให้โรงเรียนแต่ละแห่งตรวจสอบตัวเองว่ามีปัญหาหรือไม่ ชี้ ผอ.โรงเรียนต้องแก้ปัญหา ถ้าทำได้มีรางวัล
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวมอบนโยบายแก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศ ตอนหนึ่งว่า การขับเคลื่อนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต่อจากนี้จะต้องเป็นนโยบายที่เห็นภาพและจับต้องได้ รวมถึงต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ข้อ และเรื่องสำคัญที่ ศธ.พยายามที่จะให้เกิดขึ้นให้ได้คือ โครงการยกระดับโรงเรียนที่อยู่ในภาวะไอซียู หรือโรงเรียนที่ประสบปัญหาวิกฤติทางการศึกษา ซึ่งจะจากการสำรวจเบื้องต้นมีโรงเรียนที่มีภาวะไอซียูอยู่ประมาณ 10,000 โรง และสภาพปัญหาที่แตกแต่งกัน อย่างมีปัญหาขาดครู ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ โรงเรียนมีเด็กพิเศษจำนวนมาก มีปัญหาเด็กไม่มาเรียน เด็กติดยาเสพติด ซึ่ง ศธ.ต้องเข้าไปดูแลโรงเรียนเหล่านี้ โดยจะต้องมีการเกลี่ยงบประมาณ และให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทร่วมด้วย
"เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้ลงพื้นที่ตรวจตัวอย่างโรงเรียนไอซียูแห่งหนึ่ง พบว่าเป็นโรงเรียนที่อยู่ในชุมชนแออัด มีนักเรียนกว่า 900 คน และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ติดยาเสพติดทุกคน ซึ่งโครงการนี้จะทำให้การแก้ปัญหาเรื่องการศึกษาเป็นรูปธรรมจริงๆ โดยแต่ละโรงเรียนจะต้องเป็นผู้ที่สำรวจตัวเองก่อนว่ามีปัญหาหรือไม่ ขาดเหลืออะไรบ้าง และจากนั้น ศธ.ก็จะเข้าไปสนับสนุน ทั้งนี้ ผมคิดว่าหากผู้อำนวยการโรงเรียนใดสามารถพาตัวเองออกจากภาวะไอซียูได้ ก็ควรที่จะมีรางวัลตอบแทนให้ ซึ่งคงต้องมาหารือว่าจะในรูปแบบใด" รมว.ศธ.กล่าว และว่า และในเรื่องการคอร์รัปชัน ในยุคของตนจะพยายามลดระบบอุปถัมภ์ให้ได้มากที่สุด และอยากฝากทุกคนให้ช่วยกันสอนให้เด็กเล็กให้กลัวการโกง เด็กโตให้เกลียดการโกง โดยครูจะต้องเป็นตัวอย่างให้แก่พวกเขาด้วย
นพ.ธีระเกียรติกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตนยังได้น้อมนำพระราชดำริและพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 มาปฏิบัติด้วย เช่น เรื่องครูมุ่งเขียนงานวิทยานิพนธ์เพื่อให้ได้ตำแหน่งและเงินเดือนที่สูงขึ้นนั้น จะต้องมีการปรับแก้หลักเกณฑ์และวิธีการขอและเลื่อนวิทยฐานะใหม่ รวมถึงลดขั้นตอนการพิจารณาด้วย เพราะจะสามารถช่วยลดปัญหาครูไปจ้างเขียนผลงาน อีกทั้งต้องทำให้ครูที่สอนเด็กจริงได้รับรางวัลด้วย ส่วนหลักเกณฑ์การประเมินเพื่อคงวิทยฐานะครูก็ต้องสอดคล้องไปด้วยกัน
สำหรับโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ต่อจากนี้จะเน้นให้กิจกรรมต้องให้เด็กมีโอกาสลงมือปฏิบัติ ไม่มีการนั่งเรียนนั่งฟังในห้องเรียน เน้นกิจกรรมที่ทำงานเป็นกลุ่ม และจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เพื่อนช่วยเพื่อน โดยยังคงมีเมนูเช่นเดิมให้โรงเรียนสามารถเลิกทำได้ แต่การประเมินผลจะวัดว่ากิจกรรมที่เด็กทำเป็นไปตาม 3 หลักนี้หรือไม่ เพราะการศึกษาที่ดีควรต้องทำให้เด็กกระตือรือร้นกับการเรียน และครูกระตือรือร้นกับการสอน.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 27 ธ.ค. 2559