"หมอธี"รื้อเกณฑ์วิทยฐานะใหม่สอนมากได้ดี
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
"หมอธี"รื้อเกณฑ์วิทยฐานะใหม่สอนมากได้ดีรมว.ศึกษาธิการ กำชับ ผอ.เขตพื้นที่ฯสร้างเด็กเกลียดการโกง เผยเล็งปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานใหม่ สอนมากได้ดี ไม่เน้นกรรมการประเมิน สั่งเฟ้นหาสถานศึกษาเข้าโครงการโรงเรียนไอซียู
วันนี้ (26 ธ.ค.) ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ว่า นโยบายของ ศธ.ในยุคนี้จะสืบสานพระราชปณิธานและพระราชดำริ ด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 รวมทั้งทำงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ซึ่งมี 6 ยุทธศาสตร์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเคยมีพระราชหัตถเลขาด้านการศึกษาเรื่องครู ว่าปัญหาหนึ่งคือการขาดครู เพราะจำนวนไม่พอและครูย้ายบ่อย ดังนั้นควรเป็นครูท้องที่เพื่อจะได้มีความผูกพันและคิดที่จะพัฒนาท้องถิ่นที่เกิดของตนไม่คิดย้ายไปย้ายมา ซึ่ง ศธ.จะมาคิดระบบว่าทำอย่างไรครูถึงไม่ย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมามีงานวิจัยว่าสิ่งที่ทำลายเด็กมากที่สุดอันดับแรก คือ การย้ายของครูและเด็ก อันดับที่ 2 ในอดีตคือการปล่อยให้ดูโทรทัศน์ แต่ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องของการใช้โซเชียลมีเดีย
“ต่อไปนี้การคิดโครงการต่างๆ ขอให้ สพท.เอายุทธศาสตร์ชาติเป็นตัวตั้ง เรามีนโยบายสร้างเด็กให้มีวินัย จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอุปนิสัย ซึ่ง สพท.จะต้องไปคิดว่าทำอย่างไร จะปลูกฝังให้เด็กเกลียดการโกง ตั้งแต่เล็กๆ ไม่ใช่แค่โตไปไม่โกง ส่วนเรื่องความก้าวหน้าของครูนั้น จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่ เช่น ลดขั้นตอนการประเมิน ซึ่งปัจจุบันจะเสียเงินจ้างผู้ประเมินจำนวนมากพอๆกับค่าวิทยฐานะ ก็จะเปลี่ยนมาใช้สิ่งที่มีอยู่แล้ว อาทิ กำหนดจำนวนชั่วโมงขั้นพื้นฐานที่ครูสอน ครูคนไหนขยันสอนเกินชั่วโมงขั้นต่ำ ก็ควรได้รับรางวัล นับเป็นผลงาน ครูที่ไปช่วยครูคนอื่นสอนก็สามารถนำมานับรวมเป็นผลงานได้ ส่วนเรื่องคุณภาพ นอกจากจะดูที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กแล้ว จะดูเรื่องอื่นๆด้วย เช่น ครูไปอบรมพัฒนาหรือไม่ เป็นต้น สำหรับการประเมินคงสภาพวิทยฐานะ ตามมาตรา 55 ของพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 จะทำให้สอดคล้องกับการประเมินวิทยฐานะใหม่”นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ในปี 2560 ศธ.จะดำเนินโครงการโรงเรียนไอซียู หรือ โรงเรียนที่ประสบปัญหาวิกฤตทางการศึกษา เพื่อยกระดับโรงเรียนเหล่านี้ให้มีคุณภาพ และดูแลตัวเองได้ โดยเริ่ม 3,000 โรงเรียนก่อน ดังนั้น จึงขอให้ สพท.ไปคัดเลือกโรงเรียนไอซียูที่อยู่ในพื้นที่ โดยวินิจฉัยว่าโรงเรียนดังกล่าวมีปัญหาอะไรบ้าง จากนั้นนำมาวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกับสถานศึกษาและชุมชน ส่งเข้ามาให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พิจารณา หากได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนไอซียู จะมีการจัดงบฯและอุปกรณ์ต่างๆ เข้าไปสนับสนุน และให้พื้นที่ระดมสรรกำลังแก้ไขปัญหาภายใน 1 ภาคเรียน หากแก้ไขได้ผู้อำนวยการสถานศึกษานั้นก็จะมีผลงานและได้รับการผลักดันให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น และโรงเรียนนั้นจะหลุดออกจากการเป็นโรงเรียนไอซียู
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม 2559 เวลา 14.15 น.