ทิศทางการทำงานของ รมว.ศธ.
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ทิศทางการทำงานของ รมว.ศธ.ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 511/2559
ศธ.ร่วมกับ C.P.Group จัดอบรม MOE One Team
กลุ่มผู้อำนวยการโรงเรียน
กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P.Group) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการกลุ่มผู้อำนวยการโรงเรียน ตามโครงการเสริมสร้างศักยภาพการทำงานเป็นทีม “รวมพลังสร้างสรรค์ทีม” (The Synergy Teamwork for education: Transformation Ministry of Education in collaboration with C.P. Group) ภายใต้คอนเซ็ปท์ "MOE One Team" เพื่อพัฒนาทักษะการสร้างทีมงานที่มีประสิทธิผล (Effective Team Building Skill) สร้างความตระหนักถึงบทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมส่วนบุคคลและผลกระทบต่อองค์กร ตลอดจนประสานการทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน และครูสังกัด สพฐ. ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมกว่า 60 คน และมีผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารศูนย์ฝึกอบรมของกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมสังเกตการณ์ในการอบรมครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม 2559 ที่ C.P.Leadership Institute (CPLI) อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
>> ศุกร์ 16 ธันวาคม 2559
ในช่วงเช้า ได้มีพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการตามโครงการเสริมสร้างศักยภาพการทำงานเป็นทีม “รวมพลังสร้างสรรค์ทีม” หรือ MOE One Team โดยมีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ คือ ม.ล.ปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงสุดของ C.P. Group คือ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และผู้บริหารระดับสูงสุดของกลุ่มทรู คือ นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมในพิธีเปิดการอบรมครั้งนี้ ซึ่งเป็นการอบรมต่อเนื่องจากครั้งแรก ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-20 พฤศจิกายน 2559 โดยในครั้งนั้นมีผู้บริหารระดับ Top Team กว่า 80 คนของทั้งสององค์กร ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันผ่านรูปแบบ Action Learning หรือการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอต้อนรับผู้เข้ารับการอบรมจากกระทรวงศึกษาธิการเป็นครั้งที่สอง ซึ่งเป็นการอบรมเพื่อถอดรหัสแนวทางการพัฒนาผู้นำเชิงปฏิบัติการในรูปแบบ Action Learning ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ C.P.Group ใช้ฝึกอบรมพัฒนาผู้นำในองค์กรอย่างแท้จริง โดยเริ่มจากการคัดเลือกผู้นำจากแต่ละฝ่ายมาร่วมทำโครงการเป็นทีม ให้แต่ละทีมได้ลงมือทำโครงการที่คิดขึ้นจริงเป็นเวลา 6 เดือน หรือ 9 เดือน และระหว่างทำโครงการจะมีการประเมินผลจากเจ้าของโครงการ (Project Owner: ผู้ให้ความรู้ความเข้าใจกับทีม) กับผู้สนับสนุนโครงการ (Project Sponsor: เปรียบเสมือนโค้ชบุกเบิกทางให้ทีม) รวมทั้งการประเมินจากสมาชิกภายในทีม
รูปแบบการประเมิน เน้น 2 แกนหลัก คือ แกนสมรรถนะและศักยภาพ ทั้งด้านความรู้ ความเข้าใจ และความทุ่มเท และแกนคุณค่า (Values) ซึ่งเป็นพฤติกรรมแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการเป็นผู้นำที่ดี นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี เช่น การรู้จักเป็นผู้นำในเรื่องที่เหมาะสม การเป็นผู้ตาม การทำงานร่วมกัน เป็นต้น ซึ่งสุดท้ายแล้วแต่ละทีมก็จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการเรียนรู้และองค์ความรู้ร่วมกัน อันจะนำไปสู่การสลาย "ไซโล" (Cross Functional) ที่เป็นกระบวนการที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงโดยใช้โครงการเป็นฐาน และเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาหรือเสาะหาผู้นำที่ดีให้แก่องค์กร
นอกจากนี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ได้กล่าวถึงเป้าหมายในการขับเคลื่อนผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลง จากการที่ C.P.Group ได้ร่วมดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ใน 4 เรื่องหลัก ๆ คือ
1) ความโปร่งใส เพื่อต้องการสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในระดับโรงเรียน โดยสร้างตัวชี้วัดที่ชัดเจนและดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และสาธารณชนเข้าถึงได้ ซึ่งต้องการทำให้เกิดการเปรียบเทียบผลลัพธ์ระหว่างโรงเรียนได้ นำไปสู่การแข่งขันด้านกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
2) การเชื่อมโยงกลไกตลาด ซึ่งหมายถึงการทำให้ผู้ปกครอง ชุมชน ภาคเอกชนในท้องถิ่น ตลอดจนภาคเอกชนระดับประเทศเชื่อให้ได้ว่า การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ และต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาร่วมกัน พร้อมทั้งจะต้องกระตุ้นให้เกิดกองทุนโรงเรียนและคณะกรรมการบริหารโรงเรียน โดยผู้อำนวยการโรงเรียนจะต้องมีบทบาทสำคัญในการประสานกับพ่อแม่ผู้ปกครองเข้ามาดูแลและพัฒนาศักยภาพบุตรหลานไปพร้อม ๆ กับโรงเรียน
3) บทบาทของผู้นำในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากผู้นำในทุกระดับ เป็นผู้สร้างปัจจัยพื้นฐานหลักของระบบสังคมและเศรษฐกิจ ได้แก่ ความรัก-ความเข้าใจ ความฝัน-ความต้องการ และความมั่นคง โดยเฉพาะในเรื่องของความมั่นคง ผู้นำจะต้องสร้างความมั่นคงผ่านการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ต้องสามารถปรับตัวได้ และสร้างวิวัฒนาการให้เกิดขึ้นกับองค์กร
4) การยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง โดยเริ่มต้นจากการสร้างการมีส่วนร่วมของเด็ก (Engagement) ด้วยการเปิดโอกาสให้เด็กแสดงความสนใจหรือตั้งคำถาม จากนั้นสร้างกระบวนการค้นหาคำตอบที่ถูกต้องร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์และศึกษาข้อมูล การเขียนเรียงความ การถกเถียงโต้แย้ง ที่จะนำไปสู่การรู้จักยอมรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน การสร้างการทำงานเป็นทีม พร้อม ๆ กับการสร้างกระบวนการวัดผล ก่อนที่จะตั้งคำถามใหม่ต่อไป ซึ่งกลไกนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งในงานด้านวิชาการและด้านคุณธรรม
อย่างไรก็ตาม หน้าที่หนึ่งที่สำคัญของผู้นำ คือ การคิดการณ์ไกล คิดในสิ่งที่อาจเป็นไปไม่ได้ในวันนี้ โดยไม่ปิดกั้นความเป็นไปได้ และเมื่อคิดแล้วต้องลงมือทำด้วย
ทั้งนี้ ขอฝากข้อคิดแก่ผู้เข้ารับการอบรมด้วยว่า สนามฟุตบอลในประเทศอังกฤษซึ่งสามารถจุคนได้ประมาณ 70,000 คน แต่จากสถิติพบว่า การเวฟ (Wave) ของผู้เข้าชมฟุตบอลจะเริ่มต้นจากคนเพียง 7 คนเท่านั้น เท่ากับสัดส่วน 1 ต่อ 10,000 ดังนั้น ทุกคน ณ ที่แห่งนี้สามารถที่จะเป็น 7 คนนั้นได้โดยการทำให้ผู้อื่นเห็น และในหนึ่งชีวิตเราจะพบเจอผู้คนถึง 80,000 คน หากเราสามารถสร้างผลกระทบ (Impact) จากการกระทำหรือการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนอีก 100 คนได้เห็น และทุก ๆ คนทำเช่นเดียวกัน ก็จะสร้างผลกระทบต่อกันเป็นทอดอย่างทวีคูณ แต่การเป็นตัวอย่างที่ดีมันใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการเป็นผู้นำที่ดี ที่มีหน้าที่สำคัญในการถ่ายทอดคุณค่าและองค์ความรู้ควบคู่ไปกับการสอน แต่ก็เชื่อว่าทุกคนพร้อมที่จะทำเพื่อเด็ก ๆ ที่เป็นอนาคตของเราได้อย่างแน่นอน
ม.ล.ปริยดา ดิศกุล กล่าวขอบคุณ C.P.Group ที่ได้จัดโครงการดี ๆ เพื่อช่วยในการพัฒนาผู้นำด้านการศึกษา ซึ่งถือเป็นโครงการที่สืบเนื่องมาจากโครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนอย่างแท้จริง โดยตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ C.P.Group และวิทยากรระดับโลกที่มาให้ความรู้ประสบการณ์และแนวทางการบริหารจัดการแก่ผู้เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ อาทิ Professor Noel Tichy, Mr Robert Knowling, Mr Patti Stacey, Mr Chris DeRose ได้มีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับการสร้างหลักสูตรและแนวทางการดำเนินงานของโครงการ เนื่องจากเล็งเห็นเช่นเดียวกับ C.P.Group ว่าผู้นำมีความสำคัญ และกระทรวงศึกษาธิการจะต้องเร่งสร้างผู้นำด้านการศึกษา 7 คนดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้จริง พร้อมเตรียมที่จะขยายผลการพัฒนาผู้นำด้านการศึกษาในรูปแบบ Action Learning ให้กับครูทั้งประเทศอย่างทั่วถึง และปรับเปลี่ยนสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา หรือ “สถาบันฯ วัดไร่ขิง” ให้เป็น “วัดเส้าหลิน” และทำให้ครูที่ผ่านการอบรมทุกคนออกมาเป็น “จอหงวน” ให้ได้
จึงขอให้ทุกคนตั้งใจและมุ่งมั่นในการเรียนรู้ เพราะทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะ C.P.Group ได้ทุ่มเทและสนับสนุนการพัฒนาผู้นำอย่างเต็มที่ พร้อมเชิญวิทยากรระดับโลกมาให้ความรู้และประสบการณ์ที่ดี ๆ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์และความรู้ให้ได้มากที่สุด
>> อาทิตย์ 18 ธันวาคม 2559
ในช่วงเช้า นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เดินทางถึง CPLI เพื่อร่วมการอบรมและเป็นประธานปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ โดยมี ม.ล.ปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) วิทยากร และผู้เข้ารับการอบรม ให้การต้อนรับ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวในพิธีปิดตอนหนึ่งว่า กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคลากรเช่นเดียวกับ C.P.Group เพราะถือว่าการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์เป็น 1 ใน 6 ยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาที่สำคัญ และจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการพยายามที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมจัดการศึกษา ซึ่งรวมถึง C.P.Group ในการดำเนินโครงการนี้เช่นกันด้วย ส่วนตัวจึงทุ่มเทเวลาเพื่อเข้าร่วมการอบรม MOE One Team เพื่อจะได้รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอโครงการ ที่จะช่วยพัฒนาโรงเรียนของเราให้เจริญก้าวหน้า และเพื่อนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณขับเคลื่อนงานให้ตรงกับความต้องการของโรงเรียนแต่ละแห่งอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันก็เชื่อว่าโครงการนี้จะสามารถสร้างผู้นำด้านการศึกษาที่มีวิสัยทัศน์ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และพร้อมที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การสลาย "ไซโล" อย่างเป็นระบบมากขึ้น และเพื่อให้โครงการนี้นำไปสู่การปฏิบัติจริง จะมอบให้ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะผู้มีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณดำเนินโครงการของโรงเรียนต่าง ๆ ได้มีโอกาสมาร่วมการอบรมในครั้งต่อไปด้วย
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงทิศทางการทำงานภายหลังเข้ารับตำแหน่งว่า ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการต้องดำเนินงานและโครงการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ โดยมียุทธศาสตร์ที่ต้องดำเนินการ 6 ด้าน คือ 1) ความมั่นคง 2) การสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3) การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ 4) การสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 5) การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 6) การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
ซึ่งในความเป็นจริง หลายเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ในแผนปฎิรูปการศึกษาในขณะนี้ ก็มีความสอดคล้องและก้าวหน้าไปมากแล้ว เช่น
- การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนบูรณาการการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (โดย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ) : ตามยุทธศาสตร์ความมั่นคง
- การยกระดับทักษะภาษาอังกฤษ Thailand 4.0 : ตามยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขัน
- การนำผลประเมินตามโครงการ PISA มาใช้พัฒนาปรับปรุงการบริหารจัดการศึกษา : ตามยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
- การดำเนินงานโรงเรียนคุณธรรม หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : ตามยุทธศาสตร์การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- การแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด เพื่อบริหารงานการศึกษาในส่วนภูมิภาค การปรับปรุงกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการครูและบุคลากรทางการศึกษา : ตามยุทธศาสตร์การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า เร็ว ๆ นี้ จะหาช่องทางเพื่อสื่อสารนโยบาย แนวทาง และข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้บุคลากรในสังกัดทุกคนได้รับรู้พร้อมกันอย่างทั่วถึง เช่น อีเมล์ เป็นต้น เพื่อช่วยผนึกกำลังขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน รวมทั้งจะแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาตามที่รัฐธรรมนูญฯ กำหนด โดยจะพิจารณาคัดเลือกคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน เพราะจะได้มีเวลาในการขับเคลื่อนงานที่ยาวนานขึ้น มีวิสัยทัศน์และมุมมองเท่าทันโลกยุคนี้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าทุกอย่างที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการ อาจจะยังไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพียงชั่วข้ามคืน แต่อย่างน้อย ๆ จะผลักดันงานตามยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน ให้เป็นมรรคเป็นผลในช่วงของ Roadmap การปฏิรูปประเทศของรัฐบาล ซึ่งมีระยะเวลาอีกกว่า 1 ปี ต่อจากนี้
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: เว็บไซต์ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 18 ธันวาคม 2559