ศธ.น้อมนำพระราชกระแสในหลวงร.9
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
ศธ.น้อมนำพระราชกระแสในหลวงร.9แก้ปัญหาครู"เลื่อนวิทยฐานะ-ความรู้ไม่ทันสมัย"/สอนนร.มีน้ำใจเด็กเก่งช่วยเพื่อนไม่เก่ง
ธีระเกียรติเผย ศธ.น้อมนำพระราชกระแสเรื่องการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่การปฏิบัติ แก้ปัญหาครูมุ่งทำผลงาน ขอเลื่อนวิทยฐานะ จับครูตรวจเลือดเพื่อปรับปรุงความรู้ให้ทันสมัย พร้อมร่วมมือกับมูลนิธิยุวสถิรคุณ สอนเด็กนักเรียนมีน้ำใจ เด็กเก่งต้องช่วยเพื่อนไม่เก่ง รู้จักทำงานเป็นหมู่คณะ
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวว่า จากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชกระแสเกี่ยวกับการศึกษาในช่วงปี 2555 จำนวน 8 พระราชกระแส โดยส่งมอบให้องคมนตรีมามอบให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยแบ่งเป็น 2 เรื่องหลักๆ ดังนี้
ส่วนที่ 1 ในเรื่องของนักเรียน 1.1. “ครูต้องสอนให้เด็กนักเรียนมีน้ำใจ เช่น คนเรียนเก่งช่วยติวเพื่อนที่เรียนล้าหลัง มิใช่สอนให้เด็กคิดแต่จะแข่งขัน (Compete) กับเพื่อน เพื่อให้คนเองได้ลำดับดีๆ เช่น สอบได้ที่หนึ่งของชั้น แต่ต้องให้เด็กแข่งขันกับตนเอง" (11 มิ.ย.55)
1.2 "ครูไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางเทคโนโลยีมาก แต่ต้องมุ่งปลูกฝังความดีให้นักเรียนชั้นต้น ต้องอบรมบ่มนิสัยให้เป็นพลเมืองดี เด็กโตก็ต้องทำเช่นกัน” (6 มิ.ย.55)
1.3 "เราต้องฝึกหัดให้นักเรียนรู้จักทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เป็นหมู่คณะมากขึ้น จะได้มีความสามัคคี รู้จักดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ความรู้และประสบการณ์แก่กัน” (5 ก.ค.55)
1.4 “ทำเป็นตัวอย่างให้นักเรียนเป็นคนดี นักเรียนรักครู ครูรักนักเรียน” (9 ก.ค.55)
ส่วนที่ 2 เรื่องของครู 2.1 “เรื่องครูมีความสำคัญไม่น้อยกว่านักเรียน ปัญหาหนึ่ง คือ การขาดครู เพราะจำนวนไม่พอและครูย้ายบ่อย ดังนั้นก่อนคัดเลือกเด็กที่จะพัฒนาต้องพัฒนาครูก่อน ให้พร้อมที่จะสอนเด็กให้ได้ผลตามที่ต้องการ จึงจะต้องคัดเลือกครูและพัฒนาครู ต้องตั้งฐานะในสังคมของครูให้เหมาะสม และปลูกจิตสำนึกโดยใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิธีการคือ การให้ทุนและอบรม กล่าวคือ ต้องมีความรู้ทางวิชาการในสาขาที่เหมาะสมที่จะสอน ต้องอบรมวิธีการสอนให้มีประสิทธิภาพ มีความเป็นครูที่แท้จริง คือ มีความรัก ความเมตตาต่อเด็ก ควรเป็นครูท้องที่เพื่อจะได้มีความผูกพัน และคิดที่จะพัฒนาท้องถิ่นที่เกิดของตน ไม่คิดย้ายไปย้ายมา” (11 มิ.ย.55)
2.2 “ต้องปรับปรุงครู...ครูจะอายุ 40-50 ปี ก็ต้องเรียนใหม่ ต้องปฏิวัติครูอย่างจริงจัง”(6 มิ.ย.55)
2.3 “ปัญหาปัจจุบันคือ ครูมุ่งเขียนงานวิทยานิพนธ์ เขียนตำราส่งผู้บริหารเพื่อให้ได้ตำแหน่งและเงินเดือนสูงขึ้น แล้วบางทีก็ย้ายไปที่ใหม่ ส่วนครูที่มุ่งการสอนหนังสือกลับไม่ได้อะไรตอบแทน ระบบไม่ยุติธรรม เราต้องเปลี่ยนระเบียบตรงจุดนี้ การสอนหนังสือต้องถือว่าเป็นความดีความชอบ หากคนใดสอนดี ซึ่งส่วนมากคือมีคุณภาพและปริมาณ ต้องมี reward” (4 ก.ค.55)
2.4 “ครูบางส่วนเวลาสอนนักเรียนจะสอนไม่หมด แต่เก็บไว้บางส่วน หากนักเรียนต้องการรู้ทั้งหมดวิชาก็ต้องเสียเงินไปสมัครเรียนพิเศษกับครูท่านนั้น จะเป็นการสอนในโรงเรียนหรือส่วนตัวก็ตาม” (5 ก.ค.55)
รมช.ศธ.กล่าวว่า จากพระราชกระแสเกี่ยวกับการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ดำเนินการอยู่ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการปรับเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะ ที่จะไม่ให้ครูมุ่งแต่จะทำผลงานเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะ แต่จะเน้นไปที่ตัวเด็ก ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เรื่องการปฏิวัติครู ที่ ศธ.ได้มีกระบวนการให้จัดสอบเพื่อวัดความสามารถของครู และถือเป็นการตรวจเลือดและพัฒนาครูอย่างตรงจุด และสำหรับเรื่องที่ครูจะต้องสอนให้นักเรียนมีน้ำใจ ก็คือ รู้จักช่วยเหลือผู้อื่นนั้น ศธ.ได้ร่วมมือกับมูลนิธิยุวสถิรคุณ เพื่อที่จะร่วมคิดโครงการต่างๆ ที่จะมาช่วยในเรื่องนี้ เช่น การดึงครูจากสถาบันกวดวิชาหรือครูในโรงเรียนที่เก่งๆ ให้มาช่วยสอนเทคนิคการสอนแก่รุ่นพี่ เพื่อที่จะให้รุ่นพี่มาสอนรุ่นน้องในโรงเรียน เป็นต้น แต่ก็คงต้องมีการวางแนวทางร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อที่จะให้เรื่องนี้มีความชัดเจนและยั่งยืน
นอกจากนี้ ศธ.ยังรับพระราชดำริของพระองค์ท่านมาเป็นแนวปฏิบัติ อย่างเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ สพฐ.ได้มีการนำมาดำเนินการโครงการสถานศึกษาพอเพียงมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว เพื่อที่จะขับเคลื่อนและนำไปสู่การปฏิบัติทางด้านการศึกษา โดยมีขอบข่ายในการประเมินทั้งหมด 4 ด้าน คือ ด้านการบริหารจัดการ ด้านหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน ด้านการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และด้านพัฒนาบุคลากรของสถานศึกษา ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนที่ผ่านการประเมินแล้วกว่า 20,000 โรง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงปี 2555 ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชกระแสมาถึงกระทรวงศึกษาธิการ เป็นช่วงสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย และมีนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่นายสุชาติดำรงตำแหน่งได้แค่ประมาณ 10 เดือน คือระหว่างวันที่ 18 ม.ค.2555-27 ต.ค.2555 ก็มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีมาเป็นนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา แต่ดำรงตำแหน่งแค่ 27 ตุลาคม 2555-30 มิ.ย.2556 ต่อมา นายจาตุรนต์ ฉายแสง มารับช่วงแทนตั้งแต่ 30 มิ.ย.2556 จนเกิดรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 สิ้นสุดการบริหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์.
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 5 ธันวาคม 2559