โละระบบผลิต-พัฒนาครู...มิติใหม่“ส.ค.ศ.ท.”
นำเสนอข่าวโดย >> ทีมงานครูวันดีดอทคอม ส่งข่าวนี้ เข้าไลน์ ก- ก+
โละระบบผลิต-พัฒนาครู มิติใหม่ "ส.ค.ศ.ท."ชุลีพร อร่ามเนตร
"สิ่งที่ดิฉันอยากทำให้เกิดขึ้น คือ จะทำอย่างไรให้การปฏิรูปการผลิตและพัฒนาครูเข้มแข็งและยั่งยืน เพราะที่ผ่านมาปัญหาการศึกษา คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ หรือครู ตกเป็นจำเลยของสังคม ว่าผลิตครูไม่ดี ไม่มีคุณภาพ ไม่เข้มแข็ง ไม่อยากให้โทษเฉพาะคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ถ้าดูระบบการผลิตพัฒนาครูมีปัญหาตั้งแต่การรับเด็กเข้ามาเรียนผ่านแอดมิชชั่นส์ มีการสอบความถนัดทางวิชาชีพครู วัดความรู้ในระดับที่สูงขึ้น แต่ไม่ได้วัดแววความเป็นครู ไม่ได้วัดจิตวิญญาณความเป็นครู ขณะที่กระบวนการบ่มเพาะในมหาวิทยาลัยจากทั้งหมด 114 แห่ง บางแห่งไม่มีโรงเรียนสาธิต ไม่มีโรงเรียนฝึกสอนให้เด็กที่สามารถให้ครูเข้าไปช่วยดูแลได้ รวมถึงหลักสูตรการผลิตครู คุรุสภาเป็นคนออกแบบมาตรฐานตามวิชาชีพ สกอ.ก็ออกแบบมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ (มคอ.) มาให้เรา ก็กลายเป็นมหาวิทยาลัยสอนตามนโยบาย มหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนชื่อหลักสูตรไม่ได้ เพราะเด็กที่จบจะสอบใบประกอบวิชาชีพไม่ได้"
"รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ"คณบดีคณะ ศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร และในฐานะ ประธานสภาคณบดีคณะ ครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) คนใหม่สะท้อนถึงปัญหาการผลิตและพัฒนาครู
รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ เสนอว่า การปฏิรูประบบการผลิตครูจะต้องร่วมด้วยช่วยกันทุกฝ่าย อยากให้มีการปฏิรูป 4 ประเด็นหลัก ดังนี้ 1.ปฏิรูปกระบวนการผลิตครู ตั้งแต่การคัดเลือกนิสิต นักศึกษาครูเข้ามาศึกษาที่ต้องคำนึงถึงพื้นที่ภูมิหลังของเด็ก พื้นที่ขาดแคลนและมีความต้องการครูแต่ละแบบ คุณสมบัติของนักเรียนที่จะออกไปเป็นครู หลักสูตรการฝึกประสบการณ์วิชาชีพการบริหารจัดการศึกษาไปจนถึงสำเร็จการศึกษา กระบวนการขอใบประกอบวิชาชีพที่ต้องสะท้อนถึงคุณภาพ 2.ปฏิรูปหลักสูตรการผลิตครูรูปแบบใหม่ ควรเป็นหลักสูตรการผลิตครู 4 ปี ในวิชาเอกเดี่ยว และ 5 ปี ในวิชาเอกคู่ นอกจากจะออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติและมาตรฐานวิชาชีพครูของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ยังเป็นหลักสูตรที่มีแนวคิดเรื่องการเรียนรู้ทักษะในศตวรรษที่ 21 และไทยแลนด์ 4.0 การบูรณาการหลักสูตร เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อชีวิต คิดวิเคราะห์เป็น แก้ปัญหาได้
3.ปฏิรูประบบการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ต้องเป็นระบบที่มุ่งเน้นให้นิสิตนักศึกษาครูได้มีประสบการณ์การเรียนรู้ในบริบทของโรงเรียนทุกๆ ชั้นปี ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-4 อาจเป็นการสังเกตการสอน การควบคุมชั้นเรียน โดยต้องมีการนิเทศการสอน ดูแลอย่างใกล้ชิดจากอาจารย์นิเทศและครูพี่เลี้ยงที่เหมาะสม เพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์และเตรียมความพร้อมสำหรับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู และ 4 .ปฏิรูปการพัฒนาอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาที่รับผิดชอบในหลักสูตรผลิตครู
เป็นการพัฒนาอาจารย์ หรือครูของครูให้มีความรู้ความสามารถในเนื้อหาทฤษฎีในสาขาวิชาชีพอย่างลึกซึ้ง ไม่เพียงแต่เฉพาะวิชาที่สอนเท่านั้น แต่ยังต้องมีความรู้ความเข้าใจในวิชาชีพครู พัฒนาให้มีคุณธรรมจริยธรรมวิชาชีพ มีคุณลักษณะความเป็นครู
"ที่ผ่านมาไม่มีนโยบายชัดเจนที่จะให้สถาบันผลิตครูอย่างครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ว่าจะดำเนินการปฏิรูปการผลิต พัฒนาครูเช่นใด ซึ่งในส่วนของ ส.ค.ศ.ท.มิติใหม่ ทุกแห่ง ไม่ว่าจะสถาบันผลิตครูมหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฎ ม.ราชมงคล และมหาวิทยาลัยเอกชน จะรวมกันเป็น หนึ่งเดียว เพื่อให้เห็นการขับเคลื่อนปฏิรูปการผลิต พัฒนาครู ทั้ง 4 ประเด็นเป็นรูปธรรม ชัดเจน โดยจะร่วมวางยุทธศาสตร์เดินหน้าการผลิตครูให้แก่ประเทศทั้งระยะสั้น 5 ปี และยุทธศาสตร์ระยะยาว 15 ปี เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวนอกจากต้องสอดคล้องกับนโยบายของศธ. รัฐบาลในการผลิตและพัฒนาครูแล้ว จะดำเนินการภายใต้งานวิจัยอนาคตครู อาจารย์ไทยต้องมีคุณภาพ ครู อาจารย์พี่เลี้ยงต้องมีคุณภาพ มหาวิทยาลัยต้องมีโรงเรียนลูกเลี้ยงของมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการปฏิรูปทั้งระบบให้ได้ผลลัพธ์นักเรียนคุณภาพ" รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ ให้คำมั่น
ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้สถาบันอุดมศึกษาเป็นเหมือนธุรกิจการค้า คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศวเผยแนวคิดว่า ส.ค.ศ.ท.จะขอความร่วมมือไปยังสถาบันการผลิตครูทุกแห่ง ขอให้เปิดการเรียนการสอนเฉพาะสาขาวิชาเอกที่ถนัด มีความเชี่ยวชาญ มีอาจารย์ผู้สอนตามเกณฑ์มาตรฐานและรับเด็กตามจำนวนที่กำหนด อย่ากวาดเปิดทุกวิชาเอกเพราะเราเก่งเรื่องไหนควรทำเรื่องนั้น ผลิตตามจำนวนอาจารย์ที่เรามีและตามศักยภาพของเรา
"ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัด ต้องตามไปดูมาตรฐานการผลิต เข้าไปตรวจขณะที่ผลิต ไม่ใช่มีเพียงมาตรฐานหลักสูตร สกอ.ต้อง เข้มงวดมากกว่านี้ การจะปฏิรูปการผลิตและพัฒนาครูให้เป็นระบบได้ ทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกัน และอย่า โยนว่าเป็นความผิดของใคร ซึ่งหลังจากนี้ ส.ค.ศ.ท.จะเข้ามามีบทบาทในการสร้างมาตรฐานคุณภาพระบบการผลิตครูให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างครูไปสอนเด็กคุณภาพ" รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ กล่าวปิดท้าย
"ส.ค.ศ.ท.จะขอความร่วมมือไปยังสถาบันการผลิตครูทุกแห่ง ขอให้เปิดการเรียนการสอนเฉพาะสาขาวิชาเอกที่ถนัด มีอาจารย์ผู้สอนตามเกณฑ์มาตรฐาน รับเด็กตามจำนวนที่กำหนด อย่ากวาดเปิดทุกวิชาเอก"
ขอบคุณเนื้อหาและข้อมูลข่าวจาก :: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559